ผักกาดหอม
โซเชียลร้อนฉ่า!
วานนี้ (๒๑ กรกฎาคม) พรรคการเมืองเคลื่อนไหว ชิงไหวชิงพริบกันวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียวครับ
ราวกับนัดแนะกันมาก่อน
แถลงการณ์ ๔ ข้อของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะข้อ ๒ อ่านแล้วจับใจความได้ว่า ไม่ต่างจากการไล่พรรคก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้าน
“พรรคเพื่อไทยเห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ ๘ พรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองทั้ง ๘ พรรคสามารถรวมเสียงได้ ๓๑๒ เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบเนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้”
มันคือการส่งสารให้รับทราบว่า พรรคก้าวไกล คือตัวปัญหา ส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
การแก้ ม.๑๑๒ คือ ประเด็นใหญ่สุด ที่ทำให้เสียงสนับสนุน ๘ พรรคไม่อาจทะลุ ๓๗๕ เสียงไปได้
นี่จึงเป็นการบอกพรรคก้าวไกลว่า ให้ลดเพดานแก้ ม.๑๑๒ ลง หรือเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อนก็ยิ่งดี
ถ้าทำไม่ได้ ก็เป็นเรื่องมารยาท ที่พรรคก้าวไกลต้องพิจารณาเอาเอง
ซึ่งคำตอบจากพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะเป็นอื่นไปได้ นอกจาก เดินหน้าแก้ ม.๑๑๒ ต่อไป
นำไปสู่แถลงการณ์ข้อที่ ๓ ของพรรคเพื่อไทย
“พรรคเพื่อไทยจึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า ๓๗๕ เสียง เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะขอเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภา และจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด”
การที่พรรคเพื่อไทยจะไปขอเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภา และจากพรรคการเมืองอื่นนั้น ทุกฝ่ายต่างรับทราบเงื่อนไขดีอยู่แล้ว
มันเลยคำว่า ไม่เอาพรรคที่แก้ ม.๑๑๒ ไปไกลแล้ว
แต่ทุบโต๊ะกันตรงๆ
ไม่เอาพรรคก้าวไกล!
หลังพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ มี ๔ พรรคการเมืองว่องไวปานกามนิตหนุ่ม ประกาศอย่างพร้อมเพรียงไปในทิศทางเดียวกัน “ไม่เอาก้าวไกล”
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
“…พูดให้ชัดเจน ก็คือ พรรคก้าวไกล พรรคเดียวที่มีนโยบายเรื่องนี้ และไม่มีท่าทีที่จะลดระดับ มีแต่จะเพิ่มความแข็งกร้าวขึ้น ทั้งแกนนำพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล มีการผลักดันที่จะให้แก้ไข มาตรา ๑๑๒ อย่างแข็งกร้าว ไม่รับฟังเสียงทักท้วง คำร้องขอของใครทั้งนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ประเด็นนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ ถ้าเราได้รับการติดต่อจากพรรคเพื่อไทย ให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถ้ายังมีพรรคก้าวไกลอยู่ เราเข้าร่วมไม่ได้…”
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
“…ในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไป หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาลด้วย เราก็จะไม่เห็นชอบกับบุคคลใดจากพรรคใดก็ตามที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะจากการดำเนินการทางการเมืองที่ผ่านมาของพรรคก้าวไกล ทำให้เราไม่เชื่อว่าพรรคดังกล่าวจะเปลี่ยนแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคได้
เราจะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดก็ตามที่นำพรรคก้าวไกลมาร่วมเป็นรัฐบาลด้วยอย่างเด็ดขาด เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ชัดเจนนะครับ…”
“วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)
“…พรรคชาติไทยพัฒนายินดีสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ รัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย มีเงื่อนไขว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เช่นพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาคือ ไม่แตะต้อง และไม่แก้ไข มาตรา ๑๑๒ …”
ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
“…ในนามของพรรคพลังประชารัฐ ขอแสดงจุดยืนต่อความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่มีกระแสข่าวระบุว่า อาจจะมีการทาบทามพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม ซึ่งพรรคพลังประชารัฐขอแสดงจุดยืนที่จะไม่เข้าร่วมสนับสนุนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ และร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย หากพรรคร่วมรัฐบาลยังมีพรรคที่ชื่อก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย…”
สรุปคือ ไม่มีใครเอาก้าวไกล
แต่ ๘ พรรคภายใต้การนำของเพื่อไทย ยังคงสงวนท่าที บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น มี ๓ แนวทางจัดตั้งรัฐบาล
แนวทางที่ ๓ น่าสนใจ “ชลน่าน ศรีแก้ว” แถลงว่า “ไม่ใช่ทางเลือกร่วมกันของ ๘ พรรคร่วม โดยอาจจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่ในสมการนี้ ซึ่งเราจะทำในแนวทางที่ ๑ และ ๒ ให้สำเร็จก่อน”
ก็คงจะชัดเจนครับ เพราะแนวทางที่ ๑ กับ ๒ นั้น ไม่มีอะไรใหม่ แค่ไปขอเสียงจาก ส.ว.เพิ่มเติม และให้สิทธิเพื่อไทยคุยกับพรรคการเมืองอื่น
พรรคที่จะไม่ได้อยู่ในรัฐบาลคงไม่ต้องเดาอะไรกันอีก คือก้าวไกลนั่นเอง
แต่…มันมีเรื่องที่ ก้าวไกลต้องกินน้ำใต้ศอก ข้อตกลงระหว่าง ๘ พรรค อีกประการคือ ประชุมรัฐสภา วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พรรคก้าวไกล จะเป็นผู้เสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย
แต่ยังไม่ระบุชื่อว่าเป็นใคร
ระหว่าง “แพทองธาร ชินวัตร” “เศรษฐา ทวีสิน” หรือ “ชัยเกษม นิติสิริ”
เมื่อออกมาเป็นเช่นนี้ มีแนวโน้มพรรคเพื่อไทยเล่นเกมยาว ๒๗ กรกฎาคมนี้ก็ยังไม่จบ
๓ สิงหาคมน่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
ช่วงนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” เงียบผิดปกติ ทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” ดูเงียบไปด้วย
การชู “เศรษฐา” ขึ้นมาในช่วงที่บรรยากาศการเมืองร้อนแรงจากการเริ่มต้นสลับขั้วการเมือง อาจเป็นเพราะ “เศรษฐา” รับแรงกระแทกได้เยอะกว่า
ฉะนั้นจับตาให้ดีครับ ๒๗ กรกฎาคม เพื่อไทยจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี
มีแนวโน้มว่าไม่ใช่ตัวจริง
เพื่อไทย ส่งชื่อลวง ให้ก้าวไกลเสนอ ใช่ครับนี่คือการเล่นปาหี่ ทำให้ก้าวไกลดูโง่เกินบรรยาย
ที่จริงสถานการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน เป็นเรื่องผิดวิสัย ก้าวไกลควรจะชิงประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน มากกว่าเกาะแข้งเกาะขาเพื่อไทย
เพราะยิ่งนานวันดูแล้วยิ่งไร้ศักดิ์ศรี
การซื้อเวลาด้วยการฝากพรรคเพื่อไทยไปถาม ส.ว.ว่า ที่บอกว่าให้ลดเพดานแก้ ม.๑๑๒ จะให้ลดตรงไหนอย่างไร อยากได้รายละเอียด
ก็ดูโง่หนักกว่าเดิม
ในเมื่อตอนได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล ก้าวไกล ลำพอง ประกาศไม่ลดเพดานแก้ ม.๑๑๒ อ้างเป็นความต้องการของประชาชน ๑๔ ล้านเสียง
สุดท้ายถูก ส.ว.คว่ำเพราะแก้ ม.๑๑๒
มาวันนี้จะยอมลดเพดานอย่างนั้นหรือ?
พรรคคนรุ่นใหม่ กล้าพุ่งชนทุกอย่างที่ขวางหน้า แบบไม่เกรงใจใคร ทำไมถึงหงอไม่เลือกเส้นทางการเมืองที่สมศักดิ์ศรี
เอาแต่นั่งดูดนิ้วรอวันให้เขาเขี่ยทิ้ง
ได้เวลาแล้ว ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านไปเลย
อย่างน้อยก็มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพื่อน
ตรวจสอบรัฐบาลระบอบทักษิณ สนุกกว่าตรวจสอบรัฐบาลลุงตู่เยอะ เพราะจะมีเรื่องให้ชำแหละเพียบ!