ผักกาดหอม
ดุเดือดครับ
พรรคการเมืองแข่งกันนำเสนอนโยบาย แต่ก็เน้นไปทางประชานิยมเสียเยอะ
ลด แลก แจก แถม ก็เพราะประชาชนเสพติดเสียแล้ว
พรรคไหนไม่นำเสนอ คะแนนก็ไม่มา
พรรคการเมืองจึงต้องเกทับกันด้วยการแจกที่มากกว่า แต่มีอยู่คนหนึ่งครับ สมัคร ส.ส.ไม่ได้ เพราะหนีคุกคดีโกงอยู่ ออกมาพล่ามราวกับว่า ประเทศนี้ขาดเขาไม่ได้
ใช่ครับ “โทนี่-ทักษิณ”
วิจารณ์พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายประชานิยม
“…เวลาออกนโยบาย ต้องคิดด้วยว่า ต้องมีนโยบายหาเงินประกอบด้วย ถ้าไม่มีแล้วจะใช้เงินอย่าง สุดท้ายจะเหมือนเวเนซุเอลา ดังนั้น ผู้นำต้องคิดว่าจะหาเงินยังไง ใช้เงินเก่งแต่หาเงินไม่เป็น เละ
เราอยากให้ประชาชนมีรายได้ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการแจกเงินไปวันๆ
วันนี้ผมเห็นนโยบายของแต่ละพรรค มักจะเป็นท่อนๆ ขาดการมองภาพรวมว่าเราจะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ประชาชนยังไง เพื่อให้วนกลับมาเป็นภาษีให้รัฐมาพัฒนาประเทศต่อ
ซึ่งส่วนใหญ่จะพยายามแข่งกันประชานิยม คือ จ่ายอย่างเดียว แต่ยังไม่เห็นนโยบายหาเงินเลย
ปรัชญาของนโยบายประชานิยม คือ แจกอย่างเดียว ไม่คิดเรื่องการหาเงิน
แต่ถ้าอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้หมุนและวนกลับมาเป็นภาษีสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้น อันนี้เราไม่เรียกว่า ประชานิยม แต่คนมักแยกไม่ออก และโจมตีไทยรักไทย เพื่อไทย ทั้งๆ ที่ดูไม่ออกว่ามันไม่ใช่ประชานิยม
ซึ่งสุดท้ายพวกนี้ก็ลอกนโยบายเรา แต่ก็ลอกเป็นท่อนๆ ไม่เข้าใจวิธีคิด แข่งแบบนี้เลยล่มจม…”
ฟังดูดีครับ
“ทักษิณ” กำลังบอกว่า นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทย ไม่ได้เรียกว่าประชานิยม
อ้างว่าที่ผ่านมาถูกด่าเพราะคนแยกไม่ออก
รัฐบาลทักษิณ โชคดีครับ เข้ามาบริหารประเทศ ช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
แล้วรัฐบาลขณะนั้นหาเงินอย่างไร
กู้ครับ!
กู้เงินผ่าน พระราชกำหนดกู้เงินปี ๒๕๔๕ มูลค่า ๗.๘ แสนล้านบาท
ต้องทำความเข้าใจนะครับรัฐบาลทักษิณ ไม่ได้หาเงินเก่งอย่างที่โม้เอาไว้
รายได้รัฐบาลมาจากไหนบ้าง
๑.รายได้ของรัฐบาล จากภาษีอากร
ภาษีอากร เป็นรายได้หลักที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในรายได้ที่ถือว่ามาจากภาษีอากรก็คือ ภาษีที่เก็บจากประชาชน
รายได้จากภาษีอากรแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบย่อย คือ
ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆ โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปที่ผู้อื่น เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่จัดเก็บจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เป็นผู้รับภาระภาษีแทนผู้ขาย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ๗% ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร
ในส่วนนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล และความสามารถในการเสียของประชาชนด้วย
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามบริหารทรัพยากร จัดสรรรายจ่ายให้ประชาชนและธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้เก็บภาษีได้มากขึ้น
และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่น้อยครับที่รัฐบาลจะทำเช่นนี้ได้
ต้องเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเท่านั้น
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตที่เกิดจากไวรัสโควิด-๑๙ อย่างที่รัฐบาล “ลุงตู่” เจอนั้นโอกาสเป็นศูนย์
๒.รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร
คือรายได้จากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาจากภาษีอากร หลักๆ แล้วเราก็จะสามารถแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่
๒.๑ รายได้จากการอุดหนุนและการให้
มาจากเงินบริจาคหรือเงินให้เปล่าของประชาชน ภาคเอกชน หรือรัฐบาลประเทศอื่น เช่น การบริจาคเงินให้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานรัฐ
๒.๒ รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ
เป็นรายได้ที่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าขายหรือเช่าทรัพย์สินของรัฐ ค่าขายของกลางที่ยึดมาจากคดีต่างๆ
๒.๓ รายได้จากการประกอบการรัฐวิสาหกิจ
มาจากการที่รัฐบาลเข้าไปลงทุนในรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทต่างๆ พอมีกำไรก็จะเอาเข้าคลังมาเป็นรายได้ของรัฐบาล
๒.๔ รายได้อื่นๆ
เช่น ค่าปรับ แสตมป์อากร เงินคืนจากส่วนเหลือจ่ายปีก่อน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เป็นต้น
โดยสรุป โครงสร้างรายได้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลจะมาจากภาษีทางอ้อมเป็นหลัก
รองลงมาคือภาษีทางตรง และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ตามลำดับ
เศรษฐกิจดี รัฐบาลก็มีรายได้เยอะ สามารถทำงบประมาณแผ่นดินแบบสมดุลได้
แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้หด ทำงบฯ ขาดดุล ต้องกู้
๓.กู้เงิน
ทุกรัฐบาลล้วนอาศัยช่องทางนี้ทั้งนั้น ไม่เว้นกระทั่งรัฐบาลทักษิณ ที่อวดอ้างว่าหาเงินเก่ง ก็ต้องกู้ แต่การกู้เงินของรัฐบาลมีกติกาสำคัญ คือ ต้องอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ ๖๐%
ถ้าเกินคือผิดกฎหมาย รัฐบาลพังเอาง่ายๆ
ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ คิดการใหญ่ ออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนอกงบประมาณจำนวน ๒.๒ ล้านล้านบาท
มีระยะเวลาในการจ่ายคืน ๕๐ ปี
หนี้ก้อนนี้เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้ว ประเทศไทยจะต้องจ่ายคืนมากกว่า ๕ ล้านล้านบาท
ประชาชนเป็นหนี้หัวโตของจริง
โชคดีครับศาลรัฐธรรมนูญตีตก เพราะ พ.ร.บ.กู้เงิน ฉีกกติกาในรัฐธรรมนูญ ที่การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม
ฉะนั้นฟัง “ทักษิณ” พูดต้องเอาล้านหารครับ ไม่งั้นถูกหลอก
“ทักษิณ” เคยบอกว่า ประชานิยม คือ “ประชาธิปไตยที่กินได้”
ทั้งที่ข้อเท็จจริง ประชานิยมคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ประชาธิปไตย
ไม่งั้นชาตินี้ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ไม่มีทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
“ทักษิณ” ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อซื้อความภักดีจากคนที่เลือกพรรคไทยรักไทย เพื่อแลกกับการเอาคืน “รัฐบาลทำอะไรก็ได้”
มันจึงเกิดปรากฏการณ์โกงไม่เป็นไรขอให้แบ่งกัน
และทั้งหมดมันเกิดจากการใช้นโยบายเต็มรูปแบบของรัฐบาลระบอบทักษิณ