‘ไตรรงค์’ คือ ปชป.-ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

บีบหัวใจแม่ยกจริงๆ

ช่วงนี้มีข่าวพรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันหลากหลายรูปแบบ เหมือนพายุเริ่มก่อตัว มีการจัดระเบียบว่าจะเป็น ดีเปรสชัน โซนร้อน หรือไต้ฝุ่นดี

การจะเป็นอะไรมันอยู่ที่องค์ประกอบ

อย่างพรรคก้าวไกล เล่นกับไฟ ใช้การแก้ ม.๑๑๒ หาเสียงเลือกตั้ง

ถือเป็นการเดิมพันหมดหน้าตัก เพราะหากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก็แสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศคิดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

หากกลับกัน ถูกไฟลวก พรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ยังลำบาก

แต่ที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ประชาชนจะถูกแยกเป็นสองขั้ว

ขั้วหนึ่งเอา ม.๑๑๒

อีกขั้วไม่เอา

ส่วนพรรคเพื่อไทย เหมือนได้ยาดี ตอนนี้สร้างชุดความเชื่อชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ จนเชื่อกันจริงๆ ว่าต้องชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน ช่วงนี้จึงจองหองเป็นพิเศษ

ทุกครั้งที่ถูกตั้งคำถามเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ทำตัวเหมือนหล่อเลือกได้ ตั้งเงื่อนไขกับพรรคการเมืองอื่น

เช่นหากพลังประชารัฐสนับสนุน “ลุงตู่” เป็นนายกฯ ก็จะไม่ร่วมรัฐบาลด้วย

ได้ทีขี่แพะไล่ เพราะเชื่อจริงๆ ว่าตัวเองต้องชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งแน่นอน

ผิดกับพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ยังแบ่งรับแบ่งสู้

ขนาด “ลุงป้อม” ยังกระมิดกระเมี้ยนตอบ “ยังไม่ถึงเวลา”

“รอให้ใกล้ถึงวันเลือกตั้งก่อน”

ก็หมายความว่ายังไม่ปิดประตูตาย

โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะชนะเลือกตั้ง เป็นพรรคอันดับหนึ่ง ไม่ง่ายครับ เพราะสถานการณ์ต่างจากการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ค่อนข้างมาก

คนที่เลือกพลังประชารัฐเพื่อให้ “ลุงตู่” เป็นนายกฯ นั้น ไม่เหมือนเดิมแล้ว

แม้การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้ายังมีพรรค ส.ว. ๒๕๐ เสียงอยู่ แต่จะซ้ายหัน ขวาหัน เหมือนเดิมหรือไม่ ไม่มีอะไรรับประกัน

เพราะช่วงหลังมานี้บทบาทวุฒิสมาชิกหลายคน เริ่มจะไม่ไปทางเดียวกับรัฐบาลเสียแล้ว

พรรคภูมิใจไทย พยายามเก็บเกี่ยวจากนโยบายกัญชาเสรี แต่กระแสตอบรับก้ำกึ่ง เพราะประชาชนจำนวนมากยังติดภาพ กัญชา เป็นยาเสพติดอยู่

แต่ก็เป็นพรรคที่ ส.ส.เดินเข้าซบอยู่เรื่อยๆ ทำให้สถานการณ์ของภูมิใจไทย น่าจะดีกว่าการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒

มาถึงพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่มรสุมรุมเร้ามากที่สุด

อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าจะทรงหรือทรุด

การลาออกของ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” คือฟางเส้นสุดท้ายของบางสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่มีการแก้ไข จะกู่ไม่กลับ

ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ เสียบุคคลระดับคีย์แมนไปนับสิบคนแล้ว

สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่จบ

การเปิดใจ และสวมเสื้อสีฟ้าครั้งสุดท้ายของ “ไตรรงค์” เต็มไปด้วยการพูดถึงปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์

“ผมยังคงเป็นมิตรที่ดีของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เฉพาะที่เป็นคนดีอยู่เหมือนเดิมทุกประการ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ”

ก็หมายความว่ามีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เป็นคนดีใช่หรือไม่

ปกติ “ไตรรงค์” ไม่ใช่คนที่พูดให้ร้ายพรรค หรือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ครั้งนี้คงหนักหนาสาหัสมาก ทำให้คนที่อยู่กับพรรคมายาวนาน ๓๘ ปี ตัดสินใจทิ้งพรรค!

ในความรู้สึกของแฟนคลับ “ไตรรงค์” คือประชาธิปัตย์ เป็นอื่นไปไม่ได้

เช่นเดียวกันความรู้สึก “ชวน หลีกภัย” คือทุกสิ่งของประชาธิปัตย์

แต่วันนี้สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็น ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียแล้ว

คำพูดของ “ไตรรงค์” ยังมีนัยสำคัญ

“…อย่างไรก็ดีผมก็ยังคงต่อต้านและปฏิเสธทั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้โวหารแบบปลิ้นปล้อน โกหก ตอแหล ใส่ความ หลอกลวง หน้าอย่างหลังอย่าง

เป็นพวกเล่นการเมืองเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติที่ควรจะเป็นผลประโยชน์สูงสุด

เพราะผมเห็นว่า คนเช่นนี้ลงมาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก โดยการอ้างชาติและประชาธิปไตยเพื่อเป็นการบังหน้าและให้ประชาชนหลงผิดในสาระสำคัญเท่านั้น…”

นี่อาจเป็นการพูดถึงบางคนในพรรคประชาธิปัตย์

สจฺจํ เว อมตา วาจา

คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

แน่นอนครับ ระดับแม่เหล็กของพรรคถอนตัวออกมาเช่นนี้ สนามเลือกตั้งในภาคใต้ครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์หืดขึ้นคอ

การเมืองต้องเดินไปข้างหน้า

ถึงออกไปแล้ว แต่ “ไตรรงค์” อยากให้ประชาธิปัตย์ ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์พรรค ๑๐ ปี ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ ให้เข้ากับยุคให้เข้ากับบริบทใหม่ๆ ของประเทศและของโลก

ที่สำคัญที่สุดก็คือเพื่อล้อมกรอบมิให้ผู้บริหารหรือสมาชิกแสดงท่าทีที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในอุดมการณ์

๑๐ ข้อมีอะไรบ้าง

๑.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์

๒.พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน

๓.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชน รุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

๔.พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ

๕.พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้เนื่องจากความใกล้ชิด ขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

๖.พรรคมีจุดประสงค์ที่จะให้คนไทยมี ที่ทำกิน-ที่อยู่และอาชีพ และจะเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่มิได้ละเลยที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

๗.พรรคเชื่อว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ในกิจการที่เห็นว่าการแทรกแซงจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค

๘.พรรคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่ง การศึกษา, ศาสนา, สาธารณสุขและสาธารณูปการ, ศิลป, วรรณกรรม, จารีต ประเพณี, ธรรมเนียมอันดีของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน

๙.พรรคเชื่อว่า การป้องกันประเทศนั้น ต้องอาศัยการก่อให้เกิดความร่วมมือพร้อมเพรียง ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ ประเทศ และจะต้องให้มีการบำรุง กำลังหลัก คือ กองทัพให้ทันสมัยทั้งคุณภาพ และปริมาณเท่าที่จะเหมาะสมแก่แผนการ ทางยุทธศาสตร์ และนโยบายทางการเมือง

๑๐.พรรคจะส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ

“จุรินทร์” อ่านแล้วน่าจะเข้าใจว่า “ไตรรงค์” หมายถึงอะไร มีอุดมการณ์ข้อไหนที่ต้องปรับ

แล้ว “ไตรรงค์” จะไปไหน?

“…ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ อีกหลายพรรคที่มีจุดยืนด้านอุดมการณ์ที่ตรงกับใจของผม ที่ผมอยากสนับสนุนโดยเฉพาะมีอยู่หลายพรรค ที่เกิดใหม่จากคนที่ต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถจะบอกใครได้ (เพราะเกรงใจกัน) แต่เมื่อไปตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาก็ได้มีการประกาศจุดยืนแห่งอุดมการณ์พร้อมมีนโยบายปฏิรูปหลายประการเหล่านี้ ทำให้ผมเห็นด้วยและอยากสนับสนุน…”

“…มีพรรคการเมืองใหม่ๆ มาขอคำปรึกษาไปแล้วถึง ๕ พรรคครับ…”

มี ๕ พรรคอ้าแขนรับ



Written By
More from pp
วิธีเลือกครีมกันแดด ปกป้องผิวพ้นภัยจากแสงแดดหน้าร้อน 
เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่หลายคนสัมผัสได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นแสงแดด ที่พร้อมจะทำลายผิวหนังของเราได้ทุกเมื่อ การทาครีมกันแดดอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดได้ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องเลือกครีมกันแดดที่เหมาะสมกับสภาพผิว และกิจกรรมที่ทำ
Read More
0 replies on “‘ไตรรงค์’ คือ ปชป.-ผักกาดหอม”