สำนึกของส.ว.ต่อ ม.๑๑๒ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

มาได้ครึ่งทางแล้ว

เหลืออีกครึ่งทาง

ตอนนี้เท่ากับว่าเพื่อไทยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานคนที่ ๒ อยู่ในมือ

วันนี้จนถึงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม บีบหัวใจสำหรับหลายคน

และอีกหลายคนวิ่งตีนขวิด

ยังเป็นปริศนาอยู่ว่า สมาชิกวุฒิสภา สักกี่คนจะยินดีโหวตเลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

ถึง ๖๓-๗๐ เสียงหรือไม่

ถ้าถึงคือจบ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ คือ “พิธา”

ถ้าไม่ถึง เพื่อไทย รออยู่แล้ว

แต่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลนั้น มีความเป็นไปได้แค่ไหน

สูตรนี้น่าสนใจเพราะ “วันนอร์” ยังตั้งหลักไม่ทัน “พิธา” ก็ดักคอห้ามขวางทางแก้ม.๑๑๒ ของก้าวไกลเสียแล้ว

และดูเหมือน “วันนอร์” เองจะรู้แกว รู้ว่าอย่างไรเสียหลังได้เป็นประธานสภาฯ จะถูกตั้งคำถามเรื่องที่ ก้าวไกล ยืนกรายแก้ม.๑๑๒ แน่นอน

“…ประเด็นแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ไม่อยู่ในข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะสนับสนุน แต่พรรคก้าวไกล ฐานะพรรคการเมืองในสภาฯ อยากเสนอเข้ามาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ต้องว่าไปตามกฎหมาย และบทบาท…”

ก็ถือว่ากลางๆ ไม่ตอบรับไม่ปฏิเสธ

ฉะนั้นหลังจากนี้ “วันนอร์” จะถูกตั้งคำถามกรณี การแก้ไข ม.๑๑๒ ของก้าวไกลไปอีกนาน

แต่การตอบจะมีบริบทที่ต่างกันออกไปตามสถานะของพรรคก้าวไกล

หากก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คำตอบต้องพิถีพิถันพอควร เพราะจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลได้

หากก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ก็มีคำตอบเป็นบรรทัดฐานจาก “สุชาติ ตันเจริญ” แล้ว ว่าบรรจุเข้าระเบียบวาระไม่ได้เพราะอะไร

นี่อาจเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดโฉมหน้ารัฐบาลถัดไป

วันนี้เพื่อไทยรออย่างใจเย็น

และดูเหมือนว่า ก้าวไกล เริ่มตายใจแล้วว่า เพื่อไทย พร้อมส่ง “พิธา” ไปสุดทาง

สำหรับเพื่อไทย บวกลบคูณหารแล้ว การที่รองประธานสภาฯคนที่ ๑ เป็นของก้าวไกล คุ้มกว่าการถูกสาปแช่งก่นด่าว่า เป็นผู้ทรยศ มีเกล็ดการทำงานในตำแหน่งประธานสภาฯ ข้ามขั้วของ “วันนอร์” ที่ไม่ค่อยจะมีการพูดถึงกันสักเท่าไหร่

ต้องย้อนไปปี ๒๕๓๙

รัฐบาลความหวังใหม่ของพ่อใหญ่จิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เริ่มเข้าบริหารประเทศช่วงปลายปี ๒๕๓๙ ประธานสภาผู้แทนฯ ในขณะนั้นคือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”

มาจากพรรคความหวังใหม่เช่นกัน

๑ ปีให้หลัง เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง “พ่อใหญ่จิ๋ว” ลาออก “นายหัวชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

แต่ประธานสภาฯยังเป็นคนเดิม คือ “วันนอร์”

เท่ากับ ประธานสภาฯ เป็นคนของพรรคฝ่ายค้าน

จนกระทั่ง ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๓ “วันนอร์” ถึงลงจากเก้าอี้ สภาเลือกประธานฯคนใหม่ คือ “พิชัย รัตตกุล” จากพรรคประชาธิปัตย์

ฉะนั้น ก้าวไกล ยังมีโอกาสเป็นฝ่ายค้านอยู่ แม้จะมีตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่ ๑ อยู่ในมือแล้วก็ตามที

อย่างที่เขียนถึงมาตลอด เพื่อไทย เดินหมากอย่างระมัดระวังเพื่อภาพพจน์ของตัวเอง ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศ ฝ่ายประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ต้องวัดกระแสการยอมรับหากมีการสลายขั้วด้วย

เพื่อไทยจะไม่ให้เกิดภาพว่าตัวเองกระสันสลายย้ายขั้ว แต่รอเวลา บ่มสถานการณ์ จนสุขงอม จนสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่า จำต้องสลัดก้าวไกลทิ้งเพราะเกิดเดดล็อกทางการเมือง

ทำไมถึงเชื่ออย่างนี้?

ก็เพราะหากเพื่อไทย รักในอุดมการณ์ เชื่อในฝ่ายประชาธิปไตยจริง ไม่มีเหตุผลอะไรต้องแย่งเก้าอี้ประธานสภาฯจนถึงวินาทีสุดท้าย

แถมยังประเคนเก้าอี้ให้ “วันนอร์” เพื่อรักษาภาพพจน์ว่ายังยึดมั่นในฝ่ายประชาธิปไตย แต่เบื้องหลัง “วันนอร์” คือคนเก่าคนแก่ของระบอบทักษิณ

ไม่เคยมีสายสัมพันธ์ใดๆ กับก้าวไกลเลย

วันนี้สารจากวุฒิสภาค่อนข้างชัดเจนว่า มีความวิตกกังวลกรณีการแก้ม.๑๑๒ ของก้าวไกล อนาคตทางการเมืองของก้าวไกลจึงถูกเทไปที่การแก้ ม.๑๑๒ ค่อนข้างมาก

“คำนูณ สิทธิสมาน” เขียนให้อ่านอีกครั้ง ว่า ‘มาตรา ๑๑๒ สอดคล้องกับหลักนิติธรรม’

——————

…จำเลยในคดีอาญา ๒ คดี ๒ คนต่อสู้โต้แย้งในชั้นพิจารณาคดีในศาลว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ที่พวกเขาถูกฟ้องว่ากระทำความผิดนั้นขัดรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ หลายมาตราด้วยกัน ศาลอาญาจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย…

….คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯได้บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ หลักการตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งให้ความคุ้มครองแก่สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสอดคล้องกับมาตรา ๒ และมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม…”

รัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ คณะนิติราษฏรได้เสนอร่างแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ต่อสาธารณะ เนื้อหาสำคัญคือย้ายออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ลดโทษ เพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ และให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ร้องทุกข์แทนพระมหากษัตริย์

ร่างกฎหมายดังกล่าวพัฒนามาเป็นร่างแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ที่ส.ส.พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี ๒๕๖๔

แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ เนื่องจากฝ่ายบริหารของสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าน่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๖

พรรคก้าวไกลยังคงนำหลักการทุกประการจากร่างฯดังกล่าวมาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๖

เหตุจากมาตรา ๑๑๒ เดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งในพ.ศ.นี้ โดยมีผู้ยื่นร้องต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญว่าการเสนอแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ในลักษณะที่เป็นการลดการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๙ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดการกระทำนั้นเสีย

อัยการสูงสุดจะวินิจฉัยสั่งการคำร้องนี้อย่างไร ยก หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญ ?

——————-

ครับเป็นบางช่วงบางตอนอธิบายถึงพรรคก้าวไกลกับ ม.๑๑๒ ที่มีแคนดิเดตนายกฯชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กำลังจ่อเป็นนายกฯคนที่ ๓๐

วุฒิสมาชิกโดยรวม น่าจะรับรู้รายละเอียดนี้ดีอยู่แล้ว

ต้องรอดูครับว่าวันที่ ๑๔ กรกฎาคม จะมีส.ว.กี่คนโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ.

Written By
More from pp
โฆษกรัฐบาล ยืนยันกรณีเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้ดำเนินการตามขอบเขตกฎหมาย กำชับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายให้เน้นความปลอดภัยสูงสุดของผู้มาร่วมชุมนุมทุกคน
วันนี้ 17 ตุลาคม 2563 นายอนุชาบูรพชัยศรีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
Read More
0 replies on “สำนึกของส.ว.ต่อ ม.๑๑๒ – ผักกาดหอม”