‘ลุงป้อม’ มีหัวใจ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

“ผมพูดไม่เก่ง” แต่ “ผมมีหัวใจ”

จดหมายฉบับที่ ๖ จากลุงป้อม เป็นการออกตัวถึงจุดอ่อน คือ พูดไม่เก่ง

นักการเมืองพูดไม่เก่ง ไม่ใช่ปัญหาครับ

ปัญหาอยู่ที่ว่า พูดแล้วน่าเชื่อถือหรือไม่

ดู “ป๋าเปรม” เป็นตัวอย่าง พูดน้อยจนได้ฉายา “เตมีย์ใบ้”

ในความพูดไม่เก่ง “ป๋าเปรม” เมื่อต้องพูดแต่ละครั้ง ทุกคนฟัง

เพราะทุกคำพูดคือหัวใจของสถานการณ์

จดหมาย ๕ ฉบับของ “ลุงป้อม” ก่อนหน้านี้ เป็นการปูทางบทบาทใหม่ของ “ลุงป้อม” กับสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”

มาถึงวันนี้สิ่งที่ปรากฏ “ลุงป้อม” ได้รับการยอมรับในฐานะโซ่ข้อกลาง ที่จะนำไปสู่การก้าวข้ามความขัดแย้งแล้วหรือยัง

การก้าวข้ามความขัดแย้ง คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าของประชาชน ที่ถูกการเมืองแบ่งแยกเป็น ๒ ขั้วมานานนับทศวรรษ

ต่างฝ่ายต่างตั้งตารอวันที่ประเทศไร้ความขัดแย้ง

แต่การนำไปสู่จุดนั้นต้องทำอย่างไร

โดยใคร

ช่วง ๑๐ ปีมานี้ มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความสมานฉันท์ในสังคม

แต่ล้มเหลวทุกครั้ง

สาเหตุหลักคือ ไม่มีคนกลางที่ได้รับการยอมรับจาก ๒ ฝ่าย

คนกลาง จึงถูกปฏิเสธทุกครั้ง

เช่นกรณี คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดที่ “คณิต ณ นคร”

มีความคาดหวังว่า ความจริงที่ปรากฏในรายงานจะสามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนทั้ง ๒ ฝ่ายได้

แต่ล้มเหลวครับ

นักการเมือง ผู้นำมวลชน ไม่พอใจข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงาน

เพราะถ้ายอมรับเท่ากับตัวเองผิด

เมื่อไม่มีการยอมรับผิด ความจริงก็ถูกบิดเบือน

ความขัดแย้งจึงดำรงอยู่จวบจนทุกวันนี้

ในอดีตเคยมีนักการเมืองรับบทโซ่ข้อกลางมาแล้ว แต่ล้มเหลว

พ่อใหญ่จิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อาสาเล่นบทนี้อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็ถูกตั้งคำถามมากมาย เพราะวิธีการและเป้าหมาย

แม้บุคลิกของ “พ่อใหญ่จิ๋ว” จะเอื้อต่อการสร้างความสมานฉันท์ได้ แต่สุดท้ายแล้ว “จิ๋วหวานเจี๊ยบ” ดูจะหนักน้ำตาลไปหน่อย

ยาสมานฉันท์ที่ปรุงออกมาทุกฝ่ายเกรงว่า หายจากไข้หวัด แต่อาจเป็น เบาหวาน แทนได้

ความพยายามของ “พ่อใหญ่จิ๋ว” ไม่สำเร็จ เพราะผลประโยชน์การเมืองไม่ลงตัว

ส่วนหนึ่งมาจากความน่าเชื่อถือของ “พ่อใหญ่จิ๋ว” เองด้วย

หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ พล.อ.ชวลิต พยายามเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมสัมพันธ์กลุ่มการเมืองที่ยังแตกแยกเป็นขั้วอยู่ ด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ มีนโยบายสร้างความสมานฉันท์ ลดการเผชิญหน้าในสังคม

“ทักษิณ” ขอให้ “พ่อใหญ่จิ๋ว” เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

แต่ดีลที่ว่านี้ล้มเหลว สืบเนื่องจาก “พ่อใหญ่จิ๋ว” เสนอนโยบายสร้างความสมานฉันท์กับทุกฝ่าย

ไม่มีเสียงตอบรับจากปลายสาย

สุดท้าย “สมัคร สุนทรเวช” นั่งยิ้มแป้นในเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชาชน

หลังจากนั้น “พ่อใหญ่จิ๋ว” นำเสนอโซ่ข้อกลางอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะเครดิตทางการเมืองไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

เมื่อ “ลุงป้อม” อาสาพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง สิ่งที่สังคมอยากรู้คือ “วิธีการ”

งานของ “ลุงป้อม” ใหญ่กว่างาน “พ่อใหญ่จิ๋ว” อย่างแน่นอน เพราะพื้นฐานของทั้งคู่แตกต่างกัน แม้จะเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เหมือนกัน

“พ่อใหญ่จิ๋ว” ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารประชาธิปไตย

แต่สำหรับ “ลุงป้อม” ถูกปฏิเสธในทันทีที่ประกาศว่า จะเป็น โซ่ข้อกลาง พาก้าวข้ามความขัดแย้งในสังคม โดยเหตุผล จะไม่ร่วมมือกับคนที่ทำรัฐประหาร

คำถามคือ เมื่อเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับจากพรรคการเมืองบางพรรค แล้ว “ลุงป้อม” จะไปไงต่อ

นิยาม “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” คืออะไร

จดหมายฉบับที่ ๖ “ลุงป้อม” อธิบายว่า ปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องของแนวคิด ของฝ่าย “อนุรักษนิยม” กับ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” มีมาอย่างยาวนาน ยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน

วิธีแก้คือ

…ผมตั้งใจว่าเมื่อ พรรคผมเป็นรัฐบาล ผมจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมี “ผู้ชนะเด็ดขาด” “ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ” ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟู และพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก….

ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า “ผมพูดไม่เก่ง” แต่ “ผมมีหัวใจ” หัวใจที่ใหญ่พอจะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อนำพาให้ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” วิธีที่ผมคิดไว้คือให้ความเคารพอย่างแท้จริงต่อ “ประชาชนเสียงส่วนใหญ่” ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ประเทศจะเดินหน้าไปได้ด้วยการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย” เท่านั้น

ที่ผมอยากจะย้ำ คือ “ขอให้เชื่อผม เหมือนที่ผมเชื่อตัวเอง” ว่า “ผมทำได้ เพราะหัวใจผมใหญ่พอ” มา “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”ไปด้วยกัน…

ยังเป็นนามธรรมครับ

เมื่อ “ลุงป้อม” ต้องการเป็นหัวขบวนพาชาติก้าวข้ามความขัดแย้ง มันต้องมีวิธีการที่สามารถบอกประชาชนได้ว่า สามารถนำไปสู่การก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริง

การบอกว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะไปเลือกนโยบายที่ดีๆ ของทุกพรรคการเมือง เพื่อเป็นนโยบายรัฐบาล ระวังจะถูกย้อนกลับว่า ๔ ปีที่ผ่านมานโยบายพรรคพลังประชารัฐมีอะไรสำเร็จบ้าง

บางพรรคอาจถึงขั้นด่าว่าลอกนโยบายเขาไปทำ

แต่ในเมื่อ “ลุงป้อม” มีความตั้งใจจะพาชาติก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็ต้องให้กำลังใจครับ

จะให้เชื่อเหมือนที่ “ลุงป้อม” เชื่อตัวเอง คงต้องใช้เวลา

เพราะความเชื่อ มาจากความศรัทธา

ศรัทธาเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา

ฉะนั้น “ลุงป้อม” ต้องสร้างศรัทธาก่อน

ใช้ “หัวใจ” สร้างครับ

Written By
More from pp
คือความคิดที่ต่ำทราม
ผักกาดหอม เชื่อมั้ย มีอีกโรคที่น่ากลัวกว่าโควิด และกำลังระบาดอย่างหนักในหมู่คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม และคนรุ่นเก่าคอมมิวนิสต์หลงยุคเจ้าคิดเจ้าแค้นบางคน สังคมไทยกลุ่มนี้อยู่ในขั้นป่วยหนัก จากโรคไวรัสกินสมอง มองทุกอย่างด้วยอคติ คิดเองไม่เป็น ศาสดาหน้าสุนัขป้อนข้อมูลอะไรให้ก็รับหมด สั่งซ้ายไปซ้าย ขวาไปขวา...
Read More
0 replies on “‘ลุงป้อม’ มีหัวใจ – ผักกาดหอม”