อนุดิษฐ์ ชี้ เงินกู้จำนวนมหาศาล หวั่นรัฐบาลใช้จ่ายไร้ประสิทธิภาพ ยื่น 3 ข้อเสนอ เปิดทางสภาฯ – ตัวแทนประชาชนตรวจสอบใช้งบฯ

27 พ.ค.63 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ส.ส.กทม. กล่าวในการอภิปราย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ว่า เหตุผลและความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินครั้งนี้ เกิดจากการออกคำสั่งของรัฐบาลเอง จากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นรัฐบาลได้ใช้อำนาจประกาศสั่งปิดประเทศหรือที่เรียกว่า “ล็อกดาวน์” และสั่งระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดและควบคุมการแพร่ระบาด แต่ทำให้เกิดกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

พรรคเพื่อไทยมีความกังวลและเป็นห่วงมากที่สุด คือระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่ต่อเนื่องมายาวนาน จากการบริหารที่ผิดพลาดและล้มเหลวของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ได้ก่อหนี้ด้วยการกู้ยืมเงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.662 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้ที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปี

การที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการใช้ยาแรงเพื่อหยุดการแพร่ระบาด แต่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดโดยด่วน แต่รัฐบาลยังคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่เสียหายอยู่แล้ว พังพินาศจนกู่ไม่กลับ

“สิ่งที่ประชาชนฝากมาถามว่า รัฐบาลกำลังจะควบคุมโรค หรือควบคุมประชาชน ที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ผู้ที่ให้ความเห็นว่าควรต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปคือเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องทางการแพทย์”

ตัวเลขทางเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทย 4 เครื่อง ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภายใน ติดลบทุกตัว ซึ่งวงเงินกู้ครั้งนี้อาจเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องใช้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากรัฐบาลไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ ก็จะทำให้จีดีพีหดตัว และจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปอีก สุดท้ายประเทศจะพัง เหลือไว้แต่หนี้ให้คนรุ่นหลังชำระใช้หนี้ตั้งแต่เกิดยันตาย

“หากเปรียบประเทศไทยเป็นเครื่องบินแอร์บัส A380 ที่มี 4 เครื่องยนต์ ขณะนี้เครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องดับสนิทกลางอากาศ อาศัยเพียงแรงลมคือการใช้จ่ายภาครัฐพยุงเครื่องบินลำนี้ให้ลอยอยู่ ซึ่งคงไม่นานนักจะต้องโหม่งโลก หากไม่สามารถติดเครื่องยนต์ให้ทำงานได้ ผมเป็นอดีตนักบิน ถ้าเครื่องยนต์ดับสนิททั้ง 4 ตัว ผมเป็นกัปตัน ทำได้ 2 อย่าง 1.โหม่งโลกไปพร้อมไปผู้โดยสาร 2.กระโดดร่มหนีเอาตัวรอด สิ่งที่พี่น้องประชาชนเป็นกังวลคือกลัวว่าท่านจะกู้เสร็จแล้วโดดร่มหนีเอาตัวรอด ทิ้งหนี้สินไว้ให้ประชาชนใช้ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวได้ทำงานโดยเร็วที่สุด เพื่อนำพาผู้โดยสารในเครื่องคือพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย”

ตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นต้นมา รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อหนี้กู้ยืมเงิน คิดสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2563 เป็นเงิน 2.662 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้และที่จะต้องกู้ชดเชยงบประมาณปี 2564 อีก 1.523 ล้านล้านบาท รวมเป็นเงิน 4.185 ล้านล้านบาท หากดูตามแผนงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งสำนักงบประมาณจัดสรรเงินไปชำระหนี้เฉลี่ยประมาณปีละ 48,000 ล้านบาท จะต้องใช้เวลาเกือบ 90 ปีหรือสองชั่วชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงจะชำระหนี้หมด ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ 20 ปี วนไปอีก 4 รอบก็ยังใช้หนี้กันไม่หมด ซึ่งกำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย เป็นนายกฯ ที่สร้างหนี้ให้กับคนไทยชั่วลูกชั่วหลาน คนไทยต้องทำงานใช้หนี้ที่ก่อกันจนตายไปข้างนึง

จุดอ่อนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามมาตรา 7 ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการประจำถึง 6 ท่าน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน มาเป็นผู้กลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ และยังมีคำถามที่สังคมสงสัยว่ากู้ไปช่วยชาวบ้านจริงไหม สังคมวันนี้อยากเห็นแผนการใช้เงินกู้ เพราะที่ผ่านมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเห็นแล้วว่า ต่อให้มีเงินในกระเป๋ามากแค่ไหนหรือกู้มาเยอะแค่ไหน แต่การบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบจะแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร เงินที่กู้มามีต้นทุนจึงต้องใช้เพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกครัวเรือน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับการเยียวยา โดยจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเอาทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนไปรับเงินที่ธนาคาร ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีรายได้และมีงานทำ ส่วนประชาชนก็ได้เงินทันทีเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอย โดยวิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องรอเงินกู้ และจะทำให้คนไทยมีเงินใช้พร้อมกันทั่วประเทศ กลายเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เหมือนฝนตกพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่ปล่อยออกมาทีละนิดทีละหน่อย นอกจากจะไม่ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดความล่าช้า ไม่ทั่วถึง จนประชาชนคิดสั้นเพราะรอความช่วยเหลือไม่ไหว

นอกจากนี้ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังเกิดปัญหาผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือตามเงื่อนไข ซึ่งถ้าไม่สามารถฟื้นฟูผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยให้กลับคืนมาได้ เงินที่รัฐบาลทุ่มเทแจกไปจะไหลไปหาเจ้าสัวที่เป็นเจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อหมด ดังนั้น คำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้คือรัฐบาลจะสร้างกำลังซื้อให้กับประชาชนได้อย่างไร และ รัฐบาลจะฟื้นฟูเอสเอ็มอีได้อย่างไร หากตอบไม่ได้เงินจำนวน 4 แสนล้านบาทจะหายไปเหมือนที่เคยเกิดกับโครงการในอดีตที่ตั้งใจให้ไทยเข้มแข็ง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นไทยล้มเหลว

คำถามสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจะลงทุนเพื่ออนาคตอย่างไร ตามแผนงานการฟื้นฟูยังไม่แสดงให้เห็นเลยว่ามีความเข้าใจและมองโลกในอนาคตหลังโควิด-19 อย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้บอกมาตลอดว่าประเทศไทยต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านสุขภาพและความสะอาด เพื่อเป็นพื้นฐานของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมบริการ โดยเป็นกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อว่าสินค้าและบริการของไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุขสูงในระดับโลก รวมทั้งการลงทุนเครื่องมือทางสาธารณสุขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้ที่จะมาใช้บริการ พร้อมๆ ไปกับการเสริมสมรรถนะบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีอนาคตเพื่อให้มีมาตรฐานการให้บริการที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ซึ่งเป็นการเสริมสมรรถนะไปข้างหน้า ไม่ใช่เอาคนในภาคอุตสาหกรรมมาอบรมเพื่อถอยหลังกลับไปเป็นเกษตรกรแบบที่เป็นข่าวออกมา รวมไปถึงการร่วมมือกับประเทศคู่ค้าทางการท่องเที่ยวที่สำคัญร่วมกันกำหนดมาตรฐานสำหรับคนที่จะเข้าประเทศให้มีความปลอดภัยปลอดเชื้อ ลงทุนเครื่องมือเกี่ยวกับการสาธารณสุขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า หากมีการติดเชื้อเราสามารถตรวจพบและควบคุมได้ทันที ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาเร็วเป็นพิเศษ

“โอกาสแบบนี้ร้อยปีมีครั้ง ทำให้ไทยสามารถเริ่มต้นทางธุรกิจได้ก่อนทุกชาติในโลก โดยเฉพาะชาติทางตะวันตกที่ยังเริ่มต้นไม่ได้ เนื่องจากต้องหยุดทุกอย่างเพื่อควบคุมโรคและรักษาคนที่ติดเชื้อนับหมื่นนับแสน แต่จำนวนผู้ป่วยของเราถือว่าต่ำมาก ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือและเสียสละของประชาชน และขอยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำให้เราได้เปรียบเริ่มต้นออกวิ่งได้ก่อน

ดังนั้น ขอฝากให้รัฐบาลต้องรีบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพพี่น้องประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ วันนี้รัฐบาลมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่น จึงควรหยุดสร้างความหวาดกลัวให้เกิดกับประชาชน ไม่ใช่ฉวยโอกาสทางการเมืองเอาโควิด-19 มาเป็นแพะสร้างความหวาดกลัวเพื่อคุมประเทศต่อ เนื่องจากกลัวคนออกมาไล่ วันนี้รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน อันเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน วันนี้รัฐบาลจะมีแผนอย่างไร ต้องพูดให้ชัด ซึ่งในส่วนของการลงมตินั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านจะลงมติอย่างไรขึ้นอยู่ที่ความชัดเจนของรัฐบาลเอง จึงขอเรียกร้อง ให้รัฐบาลร่วมมือสนับสนุนใน 3 เงื่อนไขหากรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและต้องการพาประชาชนคนไทยไปให้ถึงที่หมาย คือ 1.ต้องสนับสนุนให้ตัวแทนประชาชน ได้มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้ ผ่านการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ 2. ต้องรายงานให้สภารับทราบถึงการใช้เงิน เพื่อตรวจสอบร่วมกันในทุกๆ 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่น่าจะพอรับกันได้ และ 3. ต้องสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ มีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อน และมีความผิดพลาด

Written By
More from pp
“ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม” ส่งความสุขให้คนไทยด้วยภาพยนตร์รัก โรแมนติกคอมเมดี้ สุดฟิน! “ฮาร์ทบีท เสี่ยงนัก…รักมั้ยลุง” หนังดีต่อใจส่งท้ายปี
รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง ประโยคเด็ดของคนที่ชอบเสี่ยงและความท้าทาย กลายเป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกคอมเมดี้ สุดฟิน “ฮาร์ทบีท เสี่ยงนัก…รักมั้ยลุง” ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของค่าย ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ซึ่งผลงานที่ได้รับความชื่นชอบจากผู้ชมที่ผ่านมา เช่น มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ,...
Read More
0 replies on “อนุดิษฐ์ ชี้ เงินกู้จำนวนมหาศาล หวั่นรัฐบาลใช้จ่ายไร้ประสิทธิภาพ ยื่น 3 ข้อเสนอ เปิดทางสภาฯ – ตัวแทนประชาชนตรวจสอบใช้งบฯ”