ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 พ่นพิษทำลายสุขภาพและคุณภาพการใช้ชีวิต

ในช่วงฤดูหนาว หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยร้ายต่อสุขภาพอย่างฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งในปัจจุบันค่าฝุ่นในหลายพื้นที่เริ่มเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้และเยื่อบุจมูกอักเสบที่อาจมีอาการกำเริบได้ ฝุ่นพิษเหล่านี้ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ การจาม คันจมูก น้ำมูกไหล เสมหะลงคอ และในบางรายอาจเกิดอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจนเป็นแผลเล็ก ๆ ทำให้เลือดกำเดาไหล นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบรุนแรงกับผู้ที่มีปัญหาภูมิแพ้เรื้อรังหรือภาวะคัดจมูกเรื้อรังอีกด้วย

นายแพทย์นัทพล ธรรมสิทธิ์บูรณ์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่หลายคนคงเคยได้ยิน หากใครที่มีการสัมผัสกับฝุ่นละอองชนิดนี้ อาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาวได้ ดังนี้

ผลกระทบในระยะสั้น
ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา,จมูก, คอ ทางเดินหายใจ
ทำให้เกิดอาการแสบตา ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย
ทำให้สมรรถภาพปอดแย่ลง
ทำให้โรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคหัวใจ กำเริบ

ผลกระทบในระยะยาว
ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
สมรรถภาพปอดลดลง
เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ถือเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง

นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 จะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้เรื้อรัง กำเริบขึ้นได้ ซึ่งการดูแลสุขภาพในสถานการณ์ PM 2.5 กลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องภูมิแพ้เรื้อรังอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ควรล้างจมูกเพื่อชะล้างฝุ่นละอองที่เกาะอยู่บนผนังจมูกออกไป ใช้ยารักษาภูมิแพ้ที่รักษาอยู่เดิมอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือ การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นทางปากสำหรับโรคหอบหืด เป็นต้น

หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาหรือมีอาการคัดจมูกที่เกิดจากเยื่อบุจมูกส่วนล่างโต ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “RF (Radiofrequency) หรือ การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” โดยแพทย์จะใช้เข็มลักษณะพิเศษใส่เข้าไปในเยื่อบุโพรงจมูกของผู้ป่วย จากนั้นคลื่นวิทยุจะเปลี่ยนเป็นความร้อน จนเยื่อบุโพรงจมูกมีการหดตัวลง ส่งผลให้ช่องขนาดโพรงจมูกกลับมามีพื้นที่ว่างมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้โล่งและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 10-15 นาที โดยจะเห็นผลการรักษาภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการคัดจมูกเนื่องจากเยื่อบุจมูกบวมโตอีกครั้ง สามารถรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวซ้ำได้

การเตรียมตัวก่อนการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ RF ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไข้หวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อนล่วงหน้า7-10วัน

ทั้งนี้หลังทำ RF 24-48 ชั่วโมงแรก ให้หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา หรือกระทบกระเทือนบริเวณจมูก งดออกกำลังกายหักโหม ยกของหนัก หรือการออกแรงมาก เพราะอาจทำให้มีเลือดออก หากมีเลือดออกให้นอนศีรษะสูง อมและประคบน้ำแข็งจนกระทั่งเลือดหยุด หากเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Written By
More from pp
กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งเครื่องสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดแก่สหกรณ์ หวังช่วยลดปัญหาการก่อฝุ่น PM 2.5 ภาคการเกษตร
ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศมากยิ่งขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน โดยเฉพาะในช่วงหลังเก็บเกี่ยวและช่วงการเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรแทนวิธีการอื่น ๆ...
Read More
0 replies on “ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 พ่นพิษทำลายสุขภาพและคุณภาพการใช้ชีวิต”