นายกฯ สุดปลื้ม ผู้นำเอเปกทุกเขตเศรษฐกิจร่วมรับรอง “Bangkok goals on BCG Economy”

นายกรัฐมนตรีสุดปลื้ม ผู้นำเอเปคทุกเขตเศรษฐกิจร่วมรับรอง “Bangkok goals on BCG Economy” ชื่นชมความริเริ่มของไทย เชื่อมั่นโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสร้างการเติบโตของประเทศ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้

20 พฤศจิกายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำเอเปกจากทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมรับรอง ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ค.ศ. 2022

รวมทั้งได้ร่วมรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ “Bangkok goals on BCG Economy” ซึ่งทั้งในช่วงระหว่างการประชุมฯ และระหว่างการหารือแบบทวิภาคี ผู้นำเอเปกฯ ได้กล่าวชื่นชมความริเริ่มที่ประเทศไทยได้นำเสนอแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการประชุมฯ ครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสร้างการเติบโตของประเทศ และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ริเริ่มโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG ” ตัว “B” คือ Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ตัว “C” คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และตัว “G” คือ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว

โดยมุ่งหวังให้เป็นกลไกยกระดับสถานะของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในประชาคมโลก ทั้งนี้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยมีความสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) มากถึง 13 จาก 17 เป้าหมาย

ทั้งนี้ จากการริเริ่มนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในระยะเวลาประมาณ 2 ปี สามารถเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม สอดรับกับเป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยได้มีการนำเสนอในการประชุมผู้นำเอเปกในครั้งนี้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้ง 4 เป้าหมาย ดังนี้

(1) จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การปลูกป่าโดยเอกชนและประชาชนโดยมีการจัดสรรคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ที่ปลูกป่า บำรุง อนุรักษ์ป่า โดยปี 2565 กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการปลูกป่าเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกันจำนวน 4 แสนไร่

การพัฒนาตลาคคาร์บอนเครดิตในประเทศ มูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 จำนวน 124.8 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13 เท่า จากปี 2564) และปริมาณการซื้อขาย 1.16 ล้านตัน ด้วยราคาเฉลี่ย 107.23 บาทต่อตัน

นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030

การส่งเสริมการผลิตโปรตีนจากแมลงซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีดตำบลหนองพระ ซึ่งมีสมาชิก 78 ราย โดยฟาร์มจิ้งหรีดที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี สร้างรายได้ครัวเรือนละ 20,000 บาท/เดือน ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพเสริมให้กลายมาเป็นอาชีพหลัก

(2) ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวไปแล้ว 40,319 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 63.1 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด อีกทั้งสถาบันการเงินมีโครงการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ BCG รวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาทจนถึงปี 2570 โดยเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565

(3) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

การส่งเสริมให้เกษตรลดใช้สารเคมีในการเกษตร ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชด้วยระบบโรงเรือนอัจฉริยะ หรือการนำระบบเกษตรแม่นยำ ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 50% คุณภาพของผลผลิตสูงขึ้น ลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรในการกำจัดแมลงลงได้ร้อยละ 50 และผลกำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว

กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สวทช. และหน่วยงานในท้องถิ่น นำ “นวัตกรรมไม้โกงกางเทียม” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เลียนแบบรากต้นโกงกางธรรมชาติ ไปใช้ในพื้นที่สถานตากอากาศบางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2558 ซึ่งจากการตรวจวัดดินตะกอนที่สะสมหลังแปลงไม้โกงกางเทียม พบว่า ดักตะกอนได้สูงถึง 50 ซม. ปัจจุบันขยายผลการติดตั้งแปลงไม้โกงกางเทียมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พังงา จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง

(4) ปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรเพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์

ความร่วมมือรัฐและเอกชนภายใต้ชื่อ “PPP Plastic” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานเพื่อลดขยะในกลุ่มพลาสติกในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่เทศบาลระยองสามารถลดการหลุดรอดของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลได้ถึงร้อยละ 50

นอกจากนี้ ชุมชนวังหว้า จังหวัดระยอง ไม่เพียงประสบความสำเร็จในการจัดการขยะ แต่ยังสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000 บาท/เดือน

โครงการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำ BCG ยุคใหม่ (BCG Next Gen) ด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการ และการส่งเสริมการตลาด โดยส่วนหนึ่งเป็นการนำวัสดุที่ใช้แล้วหมุนเวียนนำกลับมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ในระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 มีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จำนวน 1,351 ราย สร้างมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 3,795 ล้านบาท

มหาวิทยาลัยทักษิณ พัฒนาเทคโนโลยีนำทางปาล์มน้ำมัน (แกนใบ) ที่เหลือทิ้งในเกษตรกรรม ในพื้นที่ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษ ทั้งยังเป็นการสร้างงานให้เกษตรกร เป็นการพัฒนาท้องถิ่น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลาสติกได้เป็นจำนวนมาก

“รัฐบาลไทยเชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไม่ได้เหมาะสมต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นรูปแบบที่ประเทศสมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปปรับใช้ พัฒนา ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ตามบริบทของประเทศตนเองและต่อโลกได้อีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

Written By
More from pp
‘นอร์ส รีพับบลิค’ ส่งเสริมศักยภาพและฝีมือด้านการออกแบบของเด็กไทย ชวนส่งผลงานเข้าประกวด HAY! YoungBirds! Talent Award Asia 2020 เวทีแสดงความคิดสร้างสรรค์ระดับสากล
Norse Republics (บริษัท นอร์ส รีพับบลิค จำกัด) ผู้นำเข้า HAY (เฮย์) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียจากประเทศเดนมาร์ก ร่วมสนับสนุนเด็กไทยที่มีความสามารถด้านงานออกแบบ เชิญชวนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการ...
Read More
0 replies on “นายกฯ สุดปลื้ม ผู้นำเอเปกทุกเขตเศรษฐกิจร่วมรับรอง “Bangkok goals on BCG Economy””