การปราบปรามหมูลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจ และเป็นข่าวดีสำหรับคนไทย ที่ไม่ต้องนำสุขภาพไปเสี่ยงกับสารปนเปื้อน โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงที่อาจแฝงมากับหมูผิดกฎหมาย
ซึ่งประเด็นความปลอดภัยทางอาหารและสุขภาพของคนไทย ถูกหยิบยกเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการผนึกกำลังแถลงข่าวของผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เรียกร้องให้ภาครัฐจริงจังในการแก้ปัญหา หลังพบว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” มาเดือนละกว่า 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง แล้วนำมากระจายฝากในห้องเย็นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยนำมาเสนอขายในรูปแบบออนไลน์ให้ราคากิโลกรัมละ 135-145 บาทเท่านั้น สร้างแรงกดดันให้เกษตรกรไม่กล้าลงเลี้ยงรอบใหม่ เพราะหวั่นขาดทุน
หลังแถลงข่าว กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร ได้ร่วมมือตรวจจับอย่างจริงจัง เพียงไม่กี่วันก็มีการตรวจจับและอายัติ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าได้หลายราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 กรมปศุสัตว์ ตรวจพบหมูเถื่อน จากห้องเย็นแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5,375 กิโลกรัม
ถัดมาอีกวัน ศุลกากรภาคที่ 2 สกัดยึดเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า ระหว่างทางขนส่งปลายทางที่ จังหวัดมหาสารคาม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยพบซากหมูต้องสงสัยลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ 4 รายการ
ประกอบด้วย ไส้ตันสุกร ระบุข้างกล่องประเทศเยอรมัน ตับสุกร ระบุข้างกล่องอาเจนติน่า ไส้สุกร ไม่ทราบแหล่งที่มา และราวนมสุกร ระบุข้างกล่องเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ยังได้เข้าตรวจสอบห้องเย็น 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ พบไม่มีใบเคลื่อนย้ายและไม่มีใบนำฝาก จึงทำการอายัดซากสุกรไว้กว่า 53 ตัน
ล่าสุด วันที่ 13 กันยายน 2565 กรมปศุสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบมีใบอนุญาตทำการค้า หรือหากำไรในลักษณะคนกลาง
ซึ่งซากสัตว์ และพบชิ้นส่วนสุกรน้ำหนัก รวมทั้งสิ้น 1,050 กิโลกรัม ไม่ทราบแหล่งที่มา เป็นชิ้นส่วนสามชั้น มีตราประทับ DE ที่ผิวหนัง ในบริเวณใกล้เคียงพบกล่องสินค้าสามชั้นนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มีเอกสารนำเข้าจากต่างประเทศ เข้าข่ายการกระทำความผิด จึงอายัดชิ้นส่วนสุกรเหล่านั้น
โดยกล่องบรรจุภัณฑ์นำเข้ายี่ห้อ Food Family (เยอรมัน) จำนวน 50 กล่อง และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเอกสารมาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถนำมาแสดงภายในเวลาที่กำหนด จะร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีประกาศเรื่องกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ในชนิดสัตว์สุกรและหมูป่า ทำให้การเคลื่อนย้ายซากสุกรทุกครั้ง ต้องแจ้งการเคลื่อนย้ายในพื้นเขตโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 นั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างซากสัตว์แช่แข็ง เพื่อทำการตรวจสอบวิเคราะห์หาเชื้อ ASF และสารเร่งเนื้อแดง เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้ายังห้องปฏิบัติการต่อไป
หมูเถื่อนลักลอบนำเข้า ถือเป็นภัยร้ายที่ทำลายเป้าหมายในการฟื้นฟูการผลิตสุกรไทย ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะถ้าปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบนำเข้า จนกระทบกับราคาหมูในประเทศ ผู้เลี้ยงก็ไม่กล้าลงทุนกลับมาเลี้ยงใหม่อย่างแน่นอน เพราะเกรงว่า จะขาดทุน
ที่สำคัญ เนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้อาจมีเชื้อ ASF หรือโรคระบาดอื่นๆ ปนเปื้อนมาด้วย ถือเป็นความสี่ยงกับผู้เลี้ยงสุกร ที่ขณะนี้ไทยไม่พบรายงานการระบาดของโรค ASF ในสุกรมากกว่า 50 วันแล้ว จึงต้องเร่งจัดการหมูเถื่อน เพื่อป้องกันความเสียหายจากโรคระบาดซ้ำซากอีกด้วย
ที่สำคัญ หมูเถื่อน ยังเป็นอันตรายกับผู้บริโภค เรื่องนี้ นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ย้ำว่าหมูลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีการจับกุมต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีโอกาสปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง
เนื่องจากหมูผิดกฎหมายนี้ เป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกาและยุโรปไม่บริโภค ไม่ว่าจะขา หัว และเครื่องใน การลักลอบนำเข้าจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง
ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ นี้ อาจมีสารแรคโตพามีน ที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯ และบางประเทศของยุโรป สามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี ต่างจากไทยที่มีประกาศในกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 จนกระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ. 2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2546
หมูเถื่อน จึงเป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวมาก เนื่องจากเป็นอันตรายทั้งต่อผู้บริโภค ผู้เลี้ยง และอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไปรับประทาน อาจก่อให้เกิดอันตราย อาทิ อาการหัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน และจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ผู้บริโภคจะเลือกของถูก แต่อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะได้รับสารสะสมในอนาคต
ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ “กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร” ที่ต้องร่วมมือกันในการตรวจสอบห้องเย็นในทุกพื้นที่เสี่ยง “ทุกวัน” เพื่อจับกุมผู้ทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ที่คิดจะทำเกรงกลัว พร้อมขยายผลออกไปถึงตัวผู้นำเข้า เพราะทุกวันนี้แม้มีการตรวจจับอย่างเข้มงวด
แต่ก็ยังมีการเสนอขาย รับคำสั่งซื้อ หมูกล่องผ่านช่องทางออนไลน์ และสื่อโซเซียลมีเดียแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงควรมีหน่วยงานติดตามช่องทางนี้ เนื่องจากเป็นเบาะแสที่สามารถนำไปขยายผลสู่ต้นตอ จะได้ดำเนินการกวาดล้างหมูเถื่อนให้สิ้นซาก