‘ชัชชาติ’ วันนี้เพื่อไทย – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ

เมื่อคนกรุงเทคะแนนให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แบบถล่มทลาย ก็แสดงว่าเชื่อในสิ่งที่ “ชัชชาติ” ให้ความหวังไว้ ตามสโลแกน “ผู้นำทางความหวัง”

แล้ว “ชัชชาติ” มอบความหวังอะไรให้แก่คนกรุงเทพฯ บ้าง?

 ๔ ปีนับจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือมีสิ่งใหม่ๆ  เพื่อคนกรุงจาก “ชัชชาติ” บ้าง?

ประการแรก “ชัชชาติ” น่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่ทำงานไม่ยากนัก เพราะมี ส.ก. ๒๐ คนจากพรรคเพื่อไทยประกาศสนับสนุนเต็มตัว

เพราะนอกจากมีจุดยืนและอุดมการณ์เดียวกันแล้ว  ยังมีรากเหง้าเดียวกัน คือล้วนเป็นคนของพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน

ประการถัดมา ระหว่างการหาเสียง “ชัชชาติ” เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ชูนโยบายมากที่สุด ถึง ๒๑๔ ข้อ คำถามคือ วาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มีเพียง ๔ ปี จะสามารถทำได้ครบถ้วนทั้งหมดหรือไม่

ถ้าไม่ครบ คนกรุงจะตำหนิหรือไม่

หรือทำได้มากสุดกี่นโยบาย

ลองมาไล่เลียงคร่าวๆ เอาเฉพาะนโยบายที่ควรเร่งดำเนินการ หรือนโยบายที่ดีมีประโยชน์ที่คนกรุงควรได้รับให้สมกับการเทคะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์

กรุงเทพฯ ต้องสว่าง

เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว

พิจารณาเดินเรือ เพิ่มตัวเลือกเชื่อมต่อการเดินทาง

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด

ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ เช่น การตักเตือนและกำหนดแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา  (มาตรการเบา) การสั่งให้หยุดประกอบกิจการ การก่อสร้าง หรือเพิกถอนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง (มาตรการหนัก)

สนับสนุนให้เกิด Ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า

นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย

ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย

บริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร

เสริมศักยภาพสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หาความเป็นไปได้เพิ่มสะพานใหม่

รถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด อาทิ ปรับปรุงจุดตัด คอขวดต่างๆ บนท้องถนน เช่น เพิ่มการเว้าเกาะกลางในแยกที่มีจุดเลี้ยวรถ เพื่อให้รถที่จะเลี้ยวไปพักหลบตรงที่เว้าได้โดยไม่รบกวนกระแสจราจร ปรับปรุงหัวโค้งหัวมุมให้เกิดการเลี้ยง การตีวงที่ไม่ใช้หลายช่องจราจร

ปรับ เพิ่ม/ลด จำนวนช่องทางจราจรเพื่อเพิ่มความจุถนนโดยเฉพาะบริเวณทางแยก การห้ามเลี้ยวในบางกรณี โดยต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้กระแสจราจรไหลเวียนคล่องตัว เทศกิจจราจรลงพื้นที่แก้ไขจุดฝืด เช่น กวดขันวินัยจราจรรถจอดริมถนน ที่ทำให้เสียช่องจราจรไป ขอคืนพื้นผิวจราจรจากโครงการก่อสร้าง รวมถึงการจัดการจราจรบริเวณการก่อสร้างให้เกิดจุดฝืดน้อยที่สุด

กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ ๑,๐๐๐  กม.

ทุกถนน ซอย มีทางเดิน-ปั่นสะดวก เชื่อมขนส่งสบาย  ลดการใช้รถ

ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน บริเวณ Low Emission Zone

เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม เรียน เล่น หลังเลิกเรียน

ขอดูภาพจากกล้อง CCTV ออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก

ใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจร ปลูกฝังจิตสำนึก ส่งเสริมการสร้างระเบียบ กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด ทางเท้าเดิมโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ

โปร่งใส ไม่ส่วย

สวน ๑๕ นาที ทั่วกรุง

สภาพแวดล้อมเมืองดี จุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง

คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net  Zero)

น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง

เซ็นเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ ทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุน และประสิทธิภาพการแก้ปัญหาน้ำท่วม แจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าแม่นยำ

นำร่องผ้าอนามัยฟรีผู้หญิง

เด็ก กทม.เล่นน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น

ครับ…นี่คือนโยบายบางส่วนที่ควรเร่งทำก่อน และบางนโยบายที่น่าจะทำได้เลย รวมทั้งนโยบายที่อยากรู้ว่าทำได้จริงหรือไม่

เริ่มต้นที่ปัญหาที่ดูหนักหนาสาหัส คือนโยบาย “โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น”

ช่วงหาเสียง “ชัชชาติ” บอกว่า

“…แนวคิด ‘โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น’ คือมุ่งจัดการปัญหาคอร์รัปชันภายใน กทม.อย่างจริงจัง มีมาตรการตรวจสอบ ลงโทษผู้ที่กระทำความผิดทั้งในระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ พร้อมพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน

ข้าราชการ กทม. ต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ และหันหน้าให้ประชาชน ข้าราชการ กทม. ต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เราต้องเป็นผู้ว่าฯ สัญจร ผอ.เขต รองผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่ ต้องลงไปดูปัญหาประชาชนและแก้ไขปัญหา ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องกระจายอำนาจ และฟังประชาชนให้เยอะ พวกนี้จริงๆ แล้วมันทำได้เลย ไม่ต้องรองบประมาณ เพราะมันคือเรื่องประจำวันอยู่แล้ว ผมคิดว่าอันนี้ ๑๐๐ วันแรกจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เลย…”

ถ้า “ชัชชาติ” ทำให้เห็นว่า มีการปราบโกงใน กทม.  ได้จริงใน ๑๐๐ วัน สมัยหน้าการเชียร์ให้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งถือว่าน้อยไปครับ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

คอร์รัปชันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากไม่แก้ไขในภาพใหญ่ ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นต้องจับตามองอย่ากะพริบ ๑๐๐ วันในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของ “ชัชชาติ” สามารถปราบโกงได้จริงหรือไม่

สำหรับคนกรุงแล้ว ปัญหาใหญ่คอขาดบาดตายอีก ๒  ประการ คือ การจราจร และน้ำท่วม ก็ต้องติดตามครับว่า นโยบายที่ระบุไว้ข้างต้น สามารถทำให้ ๒ ปัญหานี้หมดไปใน ๔ ปีหรือไม่

รถไฟฟ้าสายสีเขียว “ชัชชาติ” หาเสียงไว้ว่า ต้องศึกษาสัญญาทุกฉบับ สรุปรายละเอียดของปัญหาในทุกมิติในทุกสัญญา เปิดรายละเอียดของสัญญา และหาแนวทางดำเนินการตามกรอบของข้อสัญญา เพื่อให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นโปร่งใส ถูกต้อง และหาทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด

ใช่แล้วครับสิ่งที่ “ชัชชาติ” ต้องไปทำคือเปิดทุกอย่างให้โปร่งใส แต่ที่ผ่านมาข้อมูลเรื่องนี้กลายเป็นข้อมูลสาธารณะไปแทบจะทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ “ชัชชาติ” ยังตอบไม่ได้ว่า ทำอย่างไรให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลดลง อย่างที่ให้ความหวังคนกรุงไว้

ข้อมูลเบื้องต้นคือ กทม.มีหนี้ที่จะต้องจ่ายให้บีทีเอส  ประกอบด้วยค่าจ้างเดินรถ และค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

นอกจากนี้ยังมีหนี้งานโยธาที่รับโอนส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-การเคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต มาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ขณะนี้รวมเป็นเงินประมาณ ๔ หมื่นล้านบาท

นับจนถึงปี ๒๕๗๒ ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน เป็นเงินประมาณ ๙ หมื่นล้านบาท

รวมเป็นหนี้ทั้งหมดประมาณ ๑.๓ แสนล้านบาท

กทม.ได้ทำสัญญาจ้างให้บีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไปจนถึงปี ๒๕๘๕

ฉะนั้นหาก “ชัชชาติ” เปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่หลังจากสิ้นสุดสัมปทานในปี ๒๕๗๒ เพื่อลดค่าโดยสารตามที่ให้ความหวังไว้ ก็เตรียมตัวเป็นคดี เพราะจะเกิดข้อพิพาทกับบีทีเอส เนื่องจากบีทีเอสยังมีสัญญาจ้างให้เดินรถจนถึงปี ๒๕๘๕

จากนี้ไป “ชัชชาติ” ต้องเจอของจริง ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ ด้วยข้อมูลท่วมหัว ไม่เหมือนตอนหาเสียงที่จะพูดอะไรก็ได้

และนี่ก็ของจริง “อุ๊งอิ๊ง” ประกาศแคมเปญ “วันนี้เพื่อไทย” ฉลองชัยเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.

น่าสนใจครับ เพราะก่อนนี้ในวันที่ “อุ๊งอิ๊ง” เข้าพรรค เพื่อไทยชูแคมเปญ “พรุ่งนี้เพื่อไทย”

ก็บอกแล้วไงว่า…เขามาแล้ว


Written By
More from pp
ปตท.–กรมการแพทย์ ร่วมพัฒนานวัตกรรมแผ่นปิดแผลชนิดไบโอเซลลูโลสยกไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการแพทย์
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2563) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์   แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ...
Read More
0 replies on “‘ชัชชาติ’ วันนี้เพื่อไทย – ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i 0 || bottom > 0) && top