ผักกาดหอม
ใครรอเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต นั่งบีบสิวรอไปก่อนนะครับ
อีกนาน!
“ช่วยคลัง” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ บอกว่าเพิ่งจะส่งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี่เอง
“เป็นการสอบถามเฉพาะเรื่องกฎหมายและเพียงคำถาม ๑ ข้อเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องสถานการณ์ เพราะกฤษฎีกาไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าว”
คำถามก็ประมาณว่า รัฐบาลออกพระราชบัญญัติกู้เงินได้หรือเปล่า
แต่ไม่ทราบว่ารายละเอียดของคำถามเป็นอย่างไร
ถ้าถามแค่ว่ารัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติกู้เงินได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงจะตอบแบบห้วนๆ ว่า “ได้”
ก็รัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐบาลทำได้
แต่ต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หนึ่ง สอง สาม สี่
หากคำถามที่ส่งไปใส่ตัวเลขสภาพัฒน์ เลือกเอาเฉพาะตัวเลขที่จูงใจให้เข้าใจว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤต จึงจำเป็นเร่งด่วนต้องกู้เงินมาแจก
แบบนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาปวดกบาลครับ
ก็ไม่ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะร่วมหอลงโรง ชี้เปรี้ยงว่าวิกฤต หรือจะส่งคำถามคืน แบบไม่มีคำตอบ
เพราะไม่ใช่หน้าที่หรือไม่
มีข้อเขียนของ “ทวีศักดิ์ มีญาณเยี่ยม” นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ อยากให้คนในรัฐบาลได้อ่านจริงๆ
…รูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินในการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันพบว่ามีการตรากฎหมายใช้บังคับในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และประกาศของคณะปฏิวัติ
โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมา เมื่อมีพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นกฎหมายกลางเกี่ยวกับการกู้เงินและการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐใช้บังคับแล้ว การกู้เงินได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวเป็นหลัก และมีการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินโดยการตราเป็นพระราชกำหนดขึ้นใช้บังคับจำนวน ๒ ฉบับ เท่านั้น
คือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๕๒
และ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕
ส่วนร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. แม้จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แต่ก็มิได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๓๒๘ แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ จะพบว่ากฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดเงื่อนไขที่สำคัญในการตรากฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการกู้เงินว่า ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันเท่านั้น
โดยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ย่อมมีความชัดเจนว่าการตรากฎหมายในเรื่องนี้ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศเท่านั้น
มิใช่การตรากฎหมายในภาวะปกติของรัฐบาลที่มีเครื่องมือในการบริหารการกู้เงินและหนี้สาธารณะคือ พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ใช้ได้อยู่แล้ว
ซึ่งในกรณีจำเป็นเร่งด่วนนี้ย่อมมีความสอดคล้องกับการตรากฎหมายในรูปแบบของพระราชกำหนดตามมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพราะการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศย่อมเป็นเรื่องของความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน
ดังนั้น ในเรื่องของรูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินนี้ จึงน่าจะกระทำได้เฉพาะการตราเป็นพระราชกำหนดเท่านั้น
ซึ่งหากมีการดำเนินการในรูปแบบของพระราชบัญญัติแล้ว อาจมีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศได้
เพราะหากสามารถรอขั้นตอนของกระบวนการตราเป็นพระราชบัญญัติได้แล้ว ก็มิน่าจะเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้หากรัฐบาลจะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเฉพาะเพื่อกู้เงินเช่นเดียวกับร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ก็เป็นประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายที่ต้องมีการพิจารณากันต่อไปในอนาคต…
เป็นไงครับ อ้างจำเป็นเร่งด่วนแต่ไม่ออกเป็นพระราชกำหนด ดันไปออกเป็นพระราชบัญญัติที่มีขั้นตอนยาวนานแทน
ปากบอกเร่งด่วนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะไปแจกเดือนพฤษภาคมปีหน้า
มันด่วนตรงไหน
อย่าลืมนะครับ นโบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เปิดตัวตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคมที่ผ่านมา และการคิดนโยบายจะต้องเกิดก่อนนั้น จึงไม่ใช่นโยบายที่อ้างอิงโดยเงื่อนไขวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด
พรรคเพื่อไทยขายนโยบายนี้เพื่อต้องการชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ต่างหาก
มันจึงผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว
มาถึงวันนี้แทนที่จะเร่งรีบภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจตามที่กล่าวอ้างด้วยการออกเป็นพระราชกำหนด กลับทำให้ช้าเป็นเรือเกลือ
ยิ่งตอกย้ำครับว่า รัฐบาลเองก็อยากคว่ำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต แต่คว่ำเองไม่ได้ จึงต้องยืมมือองค์กรอื่น
ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่คว่ำ
ก็ยังมีด่านศาลรัฐธรรมนูญ
เดี๋ยวยกให้เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ซะเลย
อำนาจแบบปัญญาอ่อน