หายนะ ‘ประชานิยม’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

กลับมาที่เงินหมื่นของเพื่อไทยกันอีกครั้งครับ

ก็ยังงงเป็นไก่ตาแตกอยู่ว่า กระเป๋าดิจิทัล หรือ เหรียญดิจิทัลเพื่อไทย มันคืออะไรกันแน่

ทางพรรคเพื่อไทยเองก็พูดไม่ชัด

ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีหน้าไหนบอกประชาชนได้ว่า เงิน ๕ แสนล้านบาท จะแจกประชาชนในรูปแบบไหน

ผู้รู้หลายๆ คนดูเหมือนว่าพยายามจะช่วยอธิบาย แต่ก็เท่านั้น เพราะไม่รู้ว่าตรงกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดหรือเปล่า

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปัจจุบันอยู่ในทีมงานด้านนโยบายของ “ลุงป้อม” พยายามจะส่องไฟ ว่าหัว หาง อยู่ตรงไหน จะได้จับถูกจุด ถึงจะตรง หรือไม่ตรงกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่อย่างน้อยก็เป็นความรู้ครับ

“ธีระชัย” มองว่านโยบาย กระเป๋าดิจิทัล แจกหัวละหมื่นบาท ตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไป ๕๐ ล้านคน ใช้งบประมาณ ๕ แสนล้านบาท จะเป็นนโยบายที่ไม่สามารถดำเนินการได้จริง

เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง

เป็นการออกเงินตราอย่างหนึ่ง เมื่อมีสภาพเป็นเงินตรา จะเข้าข้อบังคับของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.๒๕๐๑ ในแง่กฎหมาย ระบุไว้ว่าการออกอะไรที่เป็นเงินตรา ผู้ออกสามารถขออนุญาต รมว.คลัง

แต่ รมว.คลังจะอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งอนุมัติสิ่งที่เป็นลักษณะเงินตรา ทำไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการออกเงินตรา

เหรียญดิจิทัลออกแบบให้เป็นบล็อกเชน มีการเก็บข้อมูลในการใช้จ่ายของผู้ใช้ จำนวนมากถึง ๕๔ ล้านคน โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อน

ถ้าเปิดให้เอกชนรายใดรายหนึ่งสามารถล้วงลึกเข้าไปในข้อมูลของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ๕๔ ล้านคนได้ จะเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในการตลาด

มีความเสี่ยงที่จะรั่วไหล!

หากเกิดรั่วไหลขึ้นมาจะเป็นอันตรายต่อประชาชน

ทางพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล นโยบายนี้ปฏิบัติได้จริงในไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๗

นี่ยังไม่พูดถึงที่มาของเงินนะครับ ก็จะเห็นว่ามีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร

ที่สำคัญ แบงก์ชาติจะเอาด้วยหรือไม่

เกิดฉิบหายมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง

เพราะเม็ดเงินที่ต้องใช้กว่า ๕ แสนล้าน เผาหมดใน ๖ เดือน จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทยทุกคน

หากนโยบายนี้ถูกนำไปปฏิบัติจริง ความเสียหายที่จะตามมา ย่อมกระทบกันทั่วหน้า ไม่เว้นพลเมืองตั้งแต่แรกเกิดยัน ๑๕ ปี ที่ไม่ได้รับเงินหมื่นกับเขา

พรรคเพื่อไทยกำลังเดินย่ำรอยเดิม พาประเทศเข้าสู่รัฐประชานิยมแบบเข้มข้นอีกครั้ง

พรรคการเมืองหลายประเทศในโลกนี้ใช้นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือหลักในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อเป็นประตูเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ นโยบายประชานิยมนำไปสู่ความสิ้นเปลืองในเชิงเศรษฐศาสตร์

ที่สำคัญคือไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้

แจกหมดแล้วหมดกัน

การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นจริง

สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน อยู่ในสถานะ แบมือรับ

เหมือนยาเสพติด

จนเข้าขั้นคลั่งประชานิยม

การเลือกตั้งครั้งหลังๆ มานี้ พรรคการเมืองจึงพากันแข่งนำเสนอนโยบายประชานิยม มากกว่านโยบายสร้างชาติ

หลายประเทศที่ล้มเหลวในการใช้นโยบายประชานิยม จะนำมาซึ่ง ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง

จนนำไปสู่การล่มสลายทางระบบเศรษฐกิจ

แม้ไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากพรรคการเมืองยังคงมีแนวคิดใช้งบประมาณแผ่นดินมาปรนเปรอประชาชน แบบไม่หยุดยั้ง ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน

ในทางการเมืองภาพที่ปรากฏคือ ประชาชนหลงใหล ในตัวผู้นำรัฐบาลและพรรคการเมือง ที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้น

ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจ หากมีคนไทยจำนวนมาก อยากให้ “ทักษิณ” กลับมาเป็นนายกฯ เพราะคนเหล่านี้เสพติดนโยบายประชานิยมไปแล้ว

บทเรียนอันลำเค็ญจากการใช้นโยบายประชานิยม มีให้เห็นหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะลาตินอเมริกา

ก็อย่างที่ทราบกันครับ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยการนำของ “ฮวน โดมิงโก เปรอง”

ใช้นโยบายประชานิยมสร้างความนิยมจากประชาชน จนได้รับการสนับสนุนแบบแลนด์สไลด์

เมื่อประชาชนเสพติดประชานิยมอย่างบ้าคลั่ง รัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมาก สุดท้ายอาร์เจนตินาเข้าสู่สภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ

อาร์เจนตินา มีอีกอย่างที่เหมือนไทย นั่นคือการรัฐประหาร

เพราะการรัฐประหารนี่เอง อาร์เจนตินา ถูกคว่ำบาตรจากประชาคมโลก ก่อนถูกบีบโดยยุโรป อเมริกา นำไปสู่การออกนโยบายเปิดเสรีทางการค้า

อาร์เจนตินา ติดกับดักประชานิยม มาจนกระทั่งในปี ๒๕๒๙ “ราอูล อันฟองซีล” ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดี ได้ออกนโยบายเสรีนิยมใหม่ มีการออกกฎหมายที่เอื้อให้ชาวต่างชาติเข้ามาครอบครองที่ดินภายในประเทศได้

มีการขายรัฐวิสาหกิจให้แก่บริษัทเอกชนต่างชาติ แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านโดยผู้นำฝ่ายค้าน คือ “คาร์ลอส ซาอูล เมเนม” ซึ่งได้โจมตีว่านโยบายที่เกิดขึ้นเป็นนโยบายขายชาติ

ต่อมาปี ๒๕๓๔ “เมเนม” สังกัดพรรคนิยมเปรอง ใช้นโยบายประชานิยมในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ชูนโยบาย “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อประชาชนและประเทศชาติ”

คุ้นๆ ใช่มั้ยครับ เหมือนแคมเปญหาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

“เมเนม” ชนะเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียงแลนด์สไลด์

แต่….สถานการณ์พลิกผัน “เมเนม” ใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่ของ “อัลฟองซีล” ที่ตัวเองเคยโจมตีเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านมาดำเนินการเสียเอง

เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตนและกลุ่มพวกพ้อง

แถมยังเข้าควบคุมสื่อโทรทัศน์

มีการขายรัฐวิสาหกิจที่สำคัญของชาติมากมาย อาทิ บริษัทน้ำมัน การไฟฟ้า การประปา สายการบิน ทางด่วน รวมทั้งองค์การโทรศัพท์ เป็นต้น

วิธีของ “เมเนม” คือขายรัฐวิสาหกิจทุกแห่งเข้าในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ญาติสนิทมิตรสหายซื้อหุ้นในราคาถูก

หลังจากนั้นรัฐบาลก็ปั่นหุ้นแล้วขายต่อให้นายทุนชาวต่างชาติในราคาสูงลิบลิ่ว

นี่คือการโกงทั้งโคตร

ครับ…ร่ายยาว จะเห็นว่า อาร์เจนตินา ตั้งแต่ “เปรอง” ยัน “เมเนม” มีอยู่ในตัว “ทักษิณ” ครบครัน

การใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้ว ตามด้วยคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร อาจเป็นสูตรสำเร็จของผู้นำประเทศสายพันธุ์นี้

ทั้งหมดไม่ใช่การพัฒนาประเทศ

แต่คือการทำลาย

Written By
More from pp
เตรียมพัฒน์ฯ ออกแถลงการณ์ชี้แจง กรณี ‘หยก’ ไม่ได้มีสถานะนักเรียน เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองมามอบตัวแต่แรก
15 มิถุนายน 2566 – นายปรีชา จิตรสิงห์ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ลงนามในแถลงการณ์ เพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว
Read More
0 replies on “หายนะ ‘ประชานิยม’ – ผักกาดหอม”