อัปสร พรสวรรค์
สงกรานต์ที่ผ่านมาหลายคนต้องระวังค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะต้องเตรียมพร้อมรับมือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประกาศจะพาเหรดขึ้นราคายกแผง เพราะอั้นกับมาตรการตรึงราคาสินค้ามานาน สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะ 1 เดือน ที่ผ่านมา ภาวะสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตหลายรายการและราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในภาคการผลิตและบริการ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ประมาณ 30%
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organization : FAO) รายงานว่า รัสเซียและยูเครนรวมกันส่งออกข้าวโพดคิดเป็น 30% และข้าวสาลีรวม 20% ของตลาดโลก แต่สงครามทำให้การค้าธัญพืชโลกหยุดชะงักและเป็นชนวนให้ราคาวัตถุดิอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นแรงมากเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามภาระต้นทุน โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่ปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาเนื้อหมูเฉลี่ยเดือนมีนาคมปรับสูงขึ้น 4.8% เนื่องจากผลผลิตขาดแคลนในกลุ่มประเทศทางตะวันตก ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ปีกปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสำคัญปรับลดการผลิตจากความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนก ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตามกลไกตลาดเกือบทุกประเทศ
สำหรับประเทศไทย ภาคปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด ด้วยการประกาศตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มช่วงที่ขาดแคลนจากโรค ASF ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไว้ที่ 110 บาท/กก. ขณะที่ราคาหน้าฟาร์มมีการปรับลดลงตามกลไกตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยราคาหน้าฟาร์มเฉลี่ยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 อยู่ที่ 94-98 บาท/กก. และราคายืนแข็งเป็นสัปดาห์ที่ 3 เป็นไปตามต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นเฉลี่ย 30-40 % ซึ่งราคาหน้าฟาร์มใกล้แตะระดับต้นทุนของเกษตรกร จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มบ้างเพื่อความอยู่รอด
ล่าสุดคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร รายงานว่า ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยการผลิตสุกรมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 99 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรแบกรับภาระขาดทุนเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยหน้าฟาร์มที่ 94-98 บาท/กก. ขณะที่ราคาหน้าเขียงเป็นราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งราคาเนื้อแดงเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 190 บาท/กก.
นอกจากนี้ ฤดูร้อนปีนี้อากาศแปรปรวนกว่าปกติมีผลต่อการกินอาหารของสัตว์น้อยลง ทำให้สัตว์โตช้า ประกอบกับโรค ASF ทำให้เกษตรกรหายไปจากระบบ 50% ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อยไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ราคาจึงอาจปรับสูงกว่าราคาเฉลี่ยในบางพื้นที่
สำหรับผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไข่ไก่ ก็เผชิญอุปสรรคด้านต้นทุนการผลิตไม่แตกต่างจากผู้เลี้ยงหมู หากแต่ปัญหาหลักที่เจอคือต้องตรึงราคาสินค้าตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือ ซึ่งคนไทยนับว่ามีโอกาสดีกว่าผู้บริโภคในหลายประเทศที่สามารถเข้าถึงอาหารได้หลากหลายและในราคาที่เหมาะสม จากความร่วมมือของเกษตรกรและผู้ผลิตในการตรึงราคาสินค้าเพื่อฝ่าวิกฤตอาหารไปด้วยกัน ขอเพียงผู้บริโภคเข้าใจว่าราคาเนื้อสัตว์ของไทยไม่ได้แพงเกินความเป็นจริง