“เส้นไหมและผ้าไหมควบบ้านดงบัง จากเส้นไหมพื้นบ้าน “สู่มาตรฐานระดับประเทศ ”

เส้นไหมและผ้าไหมควบทอมือจากบ้านดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นภูมิปัญญาเดิมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยทำเส้นไหมขายและทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น จุดเด่นของผ้าทอไหมควบจากบ้านดงบังคือ การทอโดยควบเส้นไหมสองเส้นให้เป็นเส้นเดียวและทออย่างนี้ตลอดทั้งผืนทำให้ได้ผ้าไหมที่มีความคงทนเป็นพิเศษ ยิ่งผ่านการใช้งานจะยิ่งสวยงามผ้าจะนุ่มและพลิ้วสวยขึ้นตามกาลเวลาและด้วยจุดเด่นนี้เองทำให้ลูกหลานชาวบ้านดงบังได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดงบังเพื่อนำภูมิปัญญาการทำเส้นไหมและทอผ้าไหมควบมาพัฒนาขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้เป็นสินค้าคุณภาพและมีมาตรฐานเพื่อเลี้ยงชีพและสืบสานอาชีพของบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน

นางหนูเพชร สายบัว ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดงบังต.ดงบัง อ.คอนสารจ.ชัยภูมิบอกเล่าถึงที่มาของผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์พิเศษหาจากที่อื่นมิได้ก่อนจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านทำการเกษตรเพียงอย่างเดียวจึงมีรายได้ทางเดียวเมื่อผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีเกิดความเดือดร้อน ขณะที่บางบ้านแม้จะทำเส้นไหมขายบ้าง แต่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานทำให้ขายได้ราคาไม่ดีนัก

แต่หลังจากจัดตั้งกลุ่มฯขึ้นเมื่อปี2556 ทำให้ได้องค์ความรู้ด้านขั้นตอนการผลิตและการบริหารจัดการเพิ่มเติม จากการช่วยเหลือและสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง โดยเฉพาะสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ที่ให้เงินทุนตั้งต้นและให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรและบุคลากรรวมถึงการตลาดจากเคยผลิตเส้นไหมที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบันสามารถผลิตเส้นไหมที่มีคุณภาพระดับประเทศได้ ด้วยการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหมและขั้นตอนที่ทำให้ได้สินค้าคุณภาพ ช่วยสร้างรายได้อีกนั่นคือ…ดักแด้จนทำให้บ้านดงบังในเวลานี้ กลายเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีของผ้าไหมทอมือดักแด้และเส้นไหมคุณภาพที่มีเส้นและสีเสมอไหมรวมตัวกันเหนียวแน่นดีส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจนตอนนี้งานขายเส้นไหมกลายเป็นอาชีพหลักรองมาเป็นขายไหมทอมือและตัวดักแด้ที่ได้จากการสาวไหม ส่วนอาชีพทำไร่ทำนาก็ยังคงทำอยู่แต่ไม่ต้องคอยพะวงปีไหนที่ผลผลิตไม่ดีจะเอารายได้จุนเจือครอบครัวเหมือนแต่ก่อนแล้ว

ด้วยจิตวิญญาณที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ จนสร้างเส้นไหมและผ้าไหมที่ได้มาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการประกวดสาวไหม จนสามารถคว้ารางวัลมาได้อย่างสม่ำเสมอ นางหนูเพชร จึงได้รับรางวัลระดับประเทศการันตีความสำเร็จมากมาย อาทิ ปี 2560 รางวัลโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการแข่งขันสาวไหมระดับประเทศ ประเภทไหมลืบสาวมือรุ่นบุคคลทั่วไป, ปี 2562 รางวัลชนะเลิศ การประกวดผลการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ, ปี 2564 รางวัลกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภททำสวน และล่าสุดปี 2565 รางวัลเลิศรัฐ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทร่วมใจแก้จน

“สิ่งที่เกษตรกรบ้านเราภาคภูมิใจที่สุดคือ เส้นไหมและผ้าไหมของเราได้รับตรารับรองคุณภาพผ้าไหมไทยตรานกยูงสีเงินของผ้าถุงลายมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติและผ้าคลุมไหล่ลายโบงามย้อมสีธรรมชาติ และแม้เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยโดนลูกค้าตีกลับสินค้าและยังได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าประจำมาเสมอทำให้ยอดขายยังคงมีต่อเนื่องแม้ในยุคโควิดแต่ในอนาคตก็อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ให้สำเร็จ คือ คุกกี้ใบหม่อนและชาใบหม่อนเจาะกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ จึงฝากติดตามผลิตภัณฑ์จากทางเพจเฟซบุ๊กกลุ่มเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดงบัง” นางหนูเพชร กล่าวทิ้งทาย

ด้านนายปรีชา ลาภารัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เราได้สนับสนุนในเรื่องของเงินทุนและการประสานงานให้กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการทำงาน ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ และผลักดันให้สมาชิกมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง รวมถึงการสร้างทายาทเพื่อสืบสานอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงให้ยั่งยืนคู่ชุมชนต่อไปด้วย

ในขณะที่ นายวีรชาติ ประสิทธิแสง ผู้อำนวยการส่งเสริมสหกรณ์ 3 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิมีความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กลุ่มเกษตรกร ด้วยการให้การสนับสนุนทุกช่องทาง มุ่งหวังให้กลุ่มมีรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้เศรษฐกิจครัวเรือนขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในอนาคตก็วางแผนจะสนับสนุนการพัฒนาในเรื่องบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย และพัฒนาการตลาดออนไลน์ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์

Written By
More from pp
สำรวจแมงกะพรุนพิษ ทะเลอ่าวไทยตะวันออก
27 ก.ค.63 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยฝั่งตะวันออก รับแจ้งจากผู้สื่อข่าวประจำ จ.ระยอง ว่ามีผู้ได้รับพิษแมงกะพรุน บริเวณหน้าหาดแหลมสน ปากแม่น้ำประแส...
Read More
0 replies on ““เส้นไหมและผ้าไหมควบบ้านดงบัง จากเส้นไหมพื้นบ้าน “สู่มาตรฐานระดับประเทศ ””