นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดว่า “ลุ่มน้ำยังเป็นพื้นที่ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก สาเหตุเกิดจากช่วงต้นของลำน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะกว้างและลาดชันมาก ส่วนช่วงท้ายก่อนบรรจบกับลำน้ำชี ในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะแคบลงและคดเคี้ยว จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประจำเกือบทุกปี เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน”
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยัง ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ E.54, E.70 และ E.92 ปริมาณน้ำในลำน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ย 5.50 เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 10 แห่งในพื้นที่มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 40 ล้าน ลบ.ม. ยังมีช่องว่างไว้รองรับน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 60 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ยังได้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยในลุ่มน้ำยัง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีการกำหนดพื้นที่เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซากและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมไปถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ, รถขุด, Sheet Pile, กระสอบทราย,กล่องเกเบี้ยน และเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ให้เพียงพอและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา การกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อยู่ประจำจุดเสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสอบอาคารชลประทาน พนังกั้นน้ำและประตูระบายน้ำอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้สั่งการให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน