ผักกาดหอม
หนักหนาสาหัสทีเดียว
เพราะจบชีวิตทางการเมืองไปแบบไม่มีวันหวนกลับ
ศาลฎีกา พิพากษา “ปารีณา ไกรคุปต์” มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ๑๐ ปี
และไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง และดำรงตำเเหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
คดีนี้ต่างจากคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุก “นาที รัชกิจประการ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย จากกรณีจงใจแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
โทษของ “นาที รัชกิจประการ” คือจำคุก ๑ เดือน รอลงอาญา ๑ ปี ปรับ ๔ พันบาท ฐานจงใจแจ้งทรัพย์สินเท็จ หลุดตำแหน่ง ส.ส.
แต่ที่ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต เพราะเหตุรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ กำหนดลักษณะต้องห้าม เคยถูกพิพากษาถึงที่สุดจากการทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.
ส่วนกรณีของ “ปารีณา ไกรคุปต์” มาจากคำร้องของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นร้องว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี เพื่อใช้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่และเกษตรกรรม อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม
ศาลชี้ให้เห็นว่า “ปารีณา ไกรคุปต์” ไม่ใช่คนจนและไม่ใช่บุคคลที่เป็นชาวไร่ในการประกอบอาชีพ
ดังนั้นการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.จำนวนมาก เป็นการทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน
แม้ “ปารีณา ไกรคุปต์” จะคืนที่ดินแล้ว ในปี ๒๕๖๒ ตามหลักแล้วควรต้องมอบคืนเลย ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็น ส.ส. จึงถือว่ามีเจตนาที่จะครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. ทำให้ประชาชนไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินในส่วนนี้ได้ ศาลจึงพิจารณาว่าเข้าข่ายการผิดจริยธรรมร้ายแรง
คดีนี้จึงถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับปราบนักการเมืองโกง
และนี่คือผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง
แต่กลับมีหลายคนไม่อยากให้เป็นแบบนั้น
หนึ่งในนั้นคือ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า มองไปอีกมุม
——————–
…รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ กำหนดให้กรณีนักการเมืองละเมิดจริงธรรมอย่างร้ายแรงไปให้ศาลฎีกาตัดสินและมีโทษประหารชีวิตทางการเมือง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
๑.มาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นเรื่องภายในองค์กร ต้องให้แต่ละองค์กรกำหนดและชี้ขาดกันเอง หน่วยงานอื่นๆ เขาก็ทำกันเอง ลงโทษกันเอง
๒.มาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเกณฑ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเหมาะสม จึงไม่ควรให้ศาลชี้ขาด ลงโทษ ศาลเกี่ยวข้องได้แบบรีวิวทบทวน เช่น ข้าราชการถูกลงโทษทางวินัย ก็อาจฟ้องศาลให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษได้ เป็นการตรวจสอบว่าคำสั่งลงโทษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แต่กรณีนักการเมืองกลับนำมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระออกมาปรับใช้ และยังให้ ป.ป.ช.มาชี้มูล ส่งให้ศาลฎีกาชี้ขาด
๓.โทษสูง การตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ไม่ควรมี นี่คือการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ประหารชีวิตทางการเมือง
“รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ เอามาใช้สองกรณี คือ ติดคุกเพราะคอร์รัปชัน และละเมิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งผู้ร่างเที่ยวเอาไปโฆษณาว่านี่คือ “รธน.ปราบโกง” แต่จริงๆ แล้วการโกงก็ยังมี และเพิ่มขึ้น ส่วนช่องทางนี้ก็เอาไว้เล่นงานนักการเมืองกันไปมา”
“ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกรณีศาลฎีกาตัดสินคุณปารีณา และเสนอว่าเราไม่ควรดีใจกับเรื่องแบบนี้ ตรงกันข้าม เราควรรณรงค์ชี้ปัญหาพิษภัย รธน.๖๐ และต่อสู้กับ “นิติสงคราม” ครับ”….
——————
ครับ…กลายเป็นนิติสงครามไปซะงั้น
การมาของ “มาตรฐานทางจริยธรรม” ไม่ใช่สักแต่จับยัด
แต่เพราะการเมืองไทยมีปัญหาด้านจริยธรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หากไม่ทำไรสักอย่าง ประเทศไทยไม่ต่างจากคนป่วย เราจะมีนักการเมืองขี้ฉ้อ จนไม่สามารถพัฒนาอะไรได้อีก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ กําหนดให้มี “มาตรฐานทางจริยธรรม” เป็นกลไกใหม่ที่โดดเด่น แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
และการกำหนดไม่ได้ทำลอยๆ ไม่สนใจว่า “มาตรฐานทางจริยธรรม” จะเกิดได้จริงเมื่อไหร่
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ จึงกําหนดหลักการและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาภายใน ๑ ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หากดําเนินการไม่เสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระจะต้องพ้นจากตําแหน่งไป
เห็นหรือยังครับว่า คนเขียนรัฐธรรมนูญจริงจังแค่ไหน
กลไกปราบโกงตามรัฐธรรมนูญคือ ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูกสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน
หากเห็นว่ามีความผิดก็จะเสนอต่อศาลฎีกา
หากมีคําพิพากษาว่าผิดจริง ต้องพ้นจากตําแหน่งและอาจถูก เพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งไม่เกิน ๑๐ ปีด้วย
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีกลไกปราบปรามการทุจริตในหลายระดับ
ตั้งแต่การเข้าสู่อํานาจทางการเมือง
และกระบวนการตรวจสอบและการลงโทษเมื่อเข้าสู่อํานาจ
อํานาจตรวจสอบและกําหนดขั้นตอนการลงโทษเหล่านี้ เป็นอํานาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นหลัก โดยมีหนึ่งในเครื่องมือที่สําคัญ คือ “มาตรฐานทางจริยธรรม” นั่นเอง
เจตนารมณ์ของแนวคิดนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของประเทศไทย นั่นคือ การเมืองที่คอร์รัปชัน ไม่สามารถจัดการได้โดยกฎหมายปกติ
มี ๒ มาตราในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ บัญญัติถึง มาตรฐานทางจริยธรรม
มาตรา ๗๖ วรรคสาม “รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลัก ในการกําหนดประมวลจริยธรรมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ํากว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว”
มาตรา ๒๑๙ “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
ในการจัดทํามาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกําหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
ก่อนนี้เถียงกันว่ารัฐธรรนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้ปราบโกงจริง เป็นแค่รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ
วันนี้เห็นแล้วว่าเล่นงานนักการเมืองได้จริง และเป็นนักการเมืองฝั่งรัฐบาลเสียด้วย แต่ “ปิยบุตร” เอาไปเบี่ยงเบนประเด็นดิสเครดิต ด้อยค่ารัฐธรรมนูญว่า “เป็นพิษ” เพราะการผูกใจเจ็บอย่างไร้เหตุผล
ถ้าจะบอกว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีเพื่อ นิติสงคราม ขอให้รู้ว่าเอาไว้รบกันคนโกง
แบบนี้ไม่ควรดีใจหรือ?
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า