ผักกาดหอม
ว่าไปก็น่าประหลาดใจ
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้รับเสียงสรรเสริญว่ามาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มักมีหน้าตาสู้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถูกสาปแช่งว่าเป็นเผด็จการกดหัวประชาชนไม่ได้
เทียบตำแหน่งต่อตำแหน่งในรัฐบาล คสช. กับรัฐบาลทักษิณาฐา รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.ดูดีมีสง่ามากกว่าโขทีเดียว
ยกตัวอย่างรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล คสช.ช่วงปีท้ายๆ มี “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” มานั่งทำงานอยู่
ขณะที่ รัฐบาลทักษิณาฐามี “พิชิต ชื่นบาน” หลุดเข้ามาท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า…แบบนี้ก็ได้ด้วยหรือ?
การเป็นรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน” จึงถูกตั้งคำถามว่า ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่
ตีความกันแบบไหนคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน” ถึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ดูรัฐบาลก็ต้องอ่านคำปรารภให้เข้าใจก่อน เพราะนี่คือเจตนารมณ์ของกฎหมายสูงสุด
ศุภมัสดุ… การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอํานาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อํานาจตามอําเภอใจ…
หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์ ไม่ให้คนโกง คนไร้คุณธรรม จริยธรรม มีอำนาจบริหารประเทศ
การกำหนดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีจึงเน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง
มาตรา ๑๖๐ ได้กำหนดคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีไว้ดังนี้
มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘
ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘๖ หรือมาตรา ๑๘๗ มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
คนเป็นรัฐมนตรีได้ต้องมีคุณสมบัติครบทุกข้อ ไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่ง
มีคำอธิบายว่าคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน” นั่นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยเฉพาะ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๗) บัญญัติว่า เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
นั่นคือ “พิชิต ชื่นบาน” พ้นจากโทษจำคุกคดีถุงขนมมาแล้วเกิน ๑๐ ปี จึงสามารถเป็นรัฐมนตรีได้
แต่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ได้ตีความข้อนี้ด้วยหรือไม่
ในอดีตเพราะการตีความกฎหมายเช่นนี้เอง ทำให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักการเมืองคอร์รัปชันมาต่อเนื่องยาวนาน
ทั้งที่การคอร์รัปชันคือการก่ออาชญากรรมร้ายแรง แต่สำหรับประเทศไทยดูเหมือนคดีมโนสาเร่ ชกต่อยกันในวงเหล้า หรือจูงหมาไปขี้หน้าบ้านคนอื่น
จบแล้วก็จบกันไป!
การตระหนักในภัยคอร์รัปชันแทบจะไม่มี
คนโกงพ้นโทษออกมายังเป็นที่นับหน้าถือตาแทบจะทุกวงการ
นี่คือมะเร็งร้ายที่กำลังกัดกินประเทศไทย แต่คนส่วนใหญ่รวมทั้งนักการเมือง เจตนามองข้ามไป เพราะสังคมต่างตอบแทนนั้นมันซึมลึกระดับดีเอ็นเอ
ประเด็น “พิชิต ชื่นบาน” มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ พิสูจน์ได้โดยคำพิพากษาศาลฎีกา ความแพ่ง ระหว่าง นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ เป็นผู้กล่าวหา นายพิชิต หรือพิชิฏ ชื่นบาน ที่ ๑ นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ ที่ ๒ นายธนา ตันศิริ ที่ ๓ เป็นผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง ละเมิดอำนาจศาล
“…การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓ มอบให้ ม.ล.ฐิติพงศ์ เพื่อนำไปแบ่งกันกับเจ้าหน้าที่ในแผนกมีจำนวนมากถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามมีเจตนาที่จูงใจให้ ม.ล.ฐิติพงศ์ และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.๑/๒๕๕๐ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม
จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑(๑), ๓๓ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ
จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ ๖ เดือน ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ หรือความผิดอื่นต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน นั้น ให้ผู้กล่าวหาไปดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป…”
แน่นอนครับ “พิชิต ชื่นบาน” มีคุณสมบัติตรงตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๗)
แล้วมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
ในคำพิพากษามีอยู่หลายคำให้พิสูจน์
จูงใจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่
ประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล
ละเมิดอำนาจศาล
เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทาย
ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล ยุติธรรม
จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ทั้งหมดนี้คืออะไร
เป็นการการันตีว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อย่างนั้นหรือ?