สงครามนิวเคลียร์???-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วายป่วงซิครับ

อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย จะขยายตัวกลายไปเป็นความขัดแย้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์ตามมา

“โอกาสของความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิด ขณะนี้กลับมาอยู่ในขอบเขตของความเป็นไปได้แล้ว”

ที่มาของเรื่องคือ เลขาฯ ยูเอ็น อ้างถึงการที่รัสเซียสั่งยกระดับการแจ้งเตือนกองกำลังนิวเคลียร์ในประเทศ ว่าเป็นพัฒนาการที่น่าหวาดกลัว

แต่เลขาฯ ยูเอ็นก็พูดไม่ชัดว่าใครจะใช้ อาวุธนิวเคลียร์ กับใคร

ที่แน่ๆ รัสเซียไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับยูเครน เพราะยูเครนไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ไว้ตอบโต้แม้แต่ลูกเดียว

สงครามนิวเคลียร์ จะเกิดได้กรณีเดียวคือ นาโต  อเมริกา เปิดสงครามเต็มรูปแบบกับรัสเซีย

ใครกดปุ่มก่อนใช่ว่าจะได้เปรียบ เพราะยิงสวนกันเมื่อไหร่ หายนะทั้งคู่

มนุษย์ทั่วโลกก็จะดำดิ่งสู่ความตายไปด้วย

ข้อมูลในปี ๒๐๑๒ พบว่ารัสเซียอาจมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองมากที่สุดคือ ๖,๒๕๗ ลูก

จีน ประมาณ ๓๕๐ ลูก

ฝรั่งเศส ๓๐๐ ลูก

อังกฤษ ๒๑๕ ลูก

ปากีสถาน ๑๐๐-๑๒๐ ลูก

อินเดีย ๙๐-๑๐๐ ลูก

อิสราเอล ๘๐ ลูก

เกาหลีเหนือ น้อยกว่า ๑๐ ลูก

บทเรียนจากการใช้ระเบิดนิวเคลียร์คือ ฮิโรชิมา นางาซากิ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวญี่ปุ่นตายไปถึง ๔ แสนคน

ที่ฮิโรชิมา ๒๕๘,๓๑๐ คน

และนางาซากิ ๑๔๕,๙๘๔ คน

นำมาสู่ทฤษฎีที่ว่า หากไม่มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว  สงครามโลกครั้งใหม่จะปะทุได้ง่ายขึ้น

อีกความหมายหนึ่งก็คือ การมีอาวุธนิวเคลียร์ คือการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓

แต่วันนี้ เลขาฯ ยูเอ็น เห็นต่าง

และพูดในทำนอง รัสเซีย เป็นฝ่ายเริ่ม

โลกมีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์

เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ มีผลผูกพันทางกฎหมาย ห้ามพัฒนา ทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง  ถ่ายโอน ใช้ หรือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์

ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันในสนธิสัญญาดังกล่าวจำนวน ๕๙ ประเทศด้วยกัน ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา, ออสเตรีย, บังกลาเทศ, เบลีซ, เบนิน, โบลิเวีย,  บอตสวานา, กัมพูชา, ชิลี, คอโมรอส, หมู่เกาะคุก,  คอสตาริกา, คิวบา, โดมินิกัน, เอกวาดอร์, เอลซัลวาดอร์,  ฟิจิ, แกมเบีย, กินี-บิสเซา, กายอานา, นครรัฐวาติกัน,  ฮอนดูรัส, ไอร์แลนด์, จาเมกา, คาซัคสถาน, คิริบาตี, ลาว,  เลโซโท, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, มอลตา, เม็กซิโก, มองโกเลีย,  นามิเบีย, นาอูรู, นิวซีแลนด์, นิการากัว, ไนจีเรีย, นีอูเอ,  ปาเลา, ปาเลสไตน์, ปานามา, ปารากวัย, เปรู, ฟิลิปปินส์,  เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, ซามัว, ซานมารีโน, เซเชลส์, แอฟริกาใต้, ไทย, ตรินิแดดและโตเบโก, ตูวาลู, อุรุกวัย, วานูอาตู,  เวเนซุเอลา, เวียดนาม

แต่…ประเทศที่ร่วมให้สัตยาบัน ไม่มีประเทศไหนครอบครองระเบิดนิวเคลียร์สักลูก

ยังมีสนธิสัญญาอีกฉบับ คือ สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ the Non-Proliferation Treaty  (NPT)

วัตถุประสงค์คือ ไม่ส่งต่อความรู้เรื่องนิวเคลียร์ให้รัฐอื่น

สนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง

และสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ

สนธิสัญญาที่ว่านี้มีรัฐผู้ลงนามมากถึง ๑๘๙ ประเทศ  รวมทั้งบรรดาประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองด้วย

มีประเด็นน่าสนใจคือ ในปี ๒๕๓๙ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้ให้ความเห็นในเรื่องความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ไว้ว่า การใช้หรือขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการรุกรานเป็นการขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรับใช้ในการขัดกันทางอาวุธ

และหลักการของกฎหมายมนุษยธรรม

แต่หากการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นการตอบโต้ซึ่งไปตามหลักการกฎหมายมนุษยธรรม และไม่ขัดกับข้อผูกมัดทางสนธิสัญญาระหว่างประเทศของรัฐ

และอาจไม่ถือว่าขัดกับหลักกฎหมาย

สรุปคือใครยิงก่อนผิด

ใครตอบโต้ไม่ผิด

แต่ฉิบหายทั้งคู่

ทีนี้ไปดูข้อเท็จจริง ก่อนนี้ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน สั่งการให้กองกำลังป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์  เตรียมพร้อมในระดับสูงสุด

เมื่อเริ่มสงคราม ปูติน ประเมินว่า รัสเซีย อาจถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์

จึงสั่งเตรียมพร้อม

อีกด้านหนึ่ง รัสเซีย เริ่มยิงจรวดถล่มศูนย์ปฏิบัติการทางทหาร ในเมืองลวิฟ ทางตะวันตกของยูเครน ห่างจากพรมแดนของโปแลนด์ไม่ถึง ๒๕ กิโลเมตร เพื่อสกัดการลำเลียงอาวุธจากโปแลนด์เข้ายูเครน

ปฏิกิริยาจาก อเมริกาคือ พร้อมปกป้อง “ทุกตารางนิ้ว” ของชาติสมาชิกนาโต

ขณะที่ ปูติน เตือนชัดเจนไปแล้วเช่นกัน ประเทศไหนส่งอาวุธให้ยูเครน ประเทศนั้นคือศัตรูของรัสเซีย

ทั้งหมดนี้อาจมองได้ว่า เป็นเพียงลีลา หวังผลด้านจิตวิทยา มากกว่าที่จะขยายพื้นที่สงครามกันจริงๆ

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์

พิจารณาจาก ประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครน  กระตุ้น นาโต ใช้มาตรการปิดน่านฟ้าเหนือยูเครน มาหลายรอบ

นาโต เฉย!

การที่น่านฟ้ายูเครนเปิด รัสเซีย ยังสามารถส่งเครื่องบินรบ เข้าไปปฏิบัติการในยูเครนได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่ นาโต สั่งปิด ก็หมายความว่า นาโต เข้าสู่สมรภูมิรบทางอากาศกับรัสเซียโดยตรง นั่นเป็นเหตุให้ นาโต เมินเฉยเรื่องนี้

สรุปก็คือ นาโต ไม่พร้อมจะรบกับรัสเซีย เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมานั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้

นาโต ทำได้เพียง ส่งเงิน และอาวุธแก่ยูเครน

จำกัดพื้นที่สงครามไว้เฉพาะในยูเครน

ต่อให้รัสเซียยิงจรวดหลงไปตกในแผ่นดินโปแลนด์

สิ่งที่จะตามมาคือ นาโต ไม่เปิดฉากยิงสวนกลับแน่นอน

แต่จะเป็นการเจรจา

ฉะนั้น เรื่องสงครามนิวเคลียร์เลิกพูดถึง

ยากที่จะเกิด


Written By
More from pp
DITP ปรับกลยุทธ์ทำงานรับมือโควิด-19 ใช้ออนไลน์จัดอบรมสัมมนา เจรจาธุรกิจ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ปรับกลยุทธ์การทำงานจากสถานการณ์โควิด-19 ใช้ระบบออนไลน์จัดอบรม สัมมนา ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live พร้อมปรับแผนการจัดงานแสดงสินค้า การเจรจาธุรกิจออนไลน์ นำร่องอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พ.ค....
Read More
0 replies on “สงครามนิวเคลียร์???-ผักกาดหอม”