ผักกาดหอม
ถูกต้องแล้วครับ…
“ด้อมส้ม” จะได้เลิกว้าวุ่นซะที
วานนี้ (๑๕ กันยายน) “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดทางให้ตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
“พิธา” แจ้งทางเฟซบุ๊กครับ
“…เรียนสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกท่าน และพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ
แม้วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลต้องเดินหน้าสู่การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ ที่มีเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ ๑ แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จำเป็นต้องเป็น สส. ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านอันดับ ๑ และปัจจุบันผมยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ผมจึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในระยะเวลาอันใกล้
ขณะเดียวกัน ผมได้หารือกับคณะกรรมการบริหารและ สส. ของพรรคก้าวไกลแล้วเห็นว่า บทบาท ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบรัฐสภา และสมควรเป็นบทบาทที่รับผิดชอบโดยหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านหลักในสภาฯ ซึ่งตอนนี้คือพรรคก้าวไกล ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จะเปรียบเสมือนหัวเรือที่กำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาฯ ของฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ยังตกหล่นจากนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ เพื่อเปิดทางให้พรรคเลือก สส. ที่สามารถทำหน้าที่ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในสภาฯ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนที่ผม
ผมขอยืนยันกับทุกท่านว่า ไม่ว่าสถานะของผมจะเป็นอย่างไร ผมไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังคงทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลและพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังและสุดความสามารถเพื่อขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาร่วมกัน
แล้วในวันที่ ๒๔ กันยายนนี้ ผมขอเชิญสมาชิกพรรคก้าวไกลมาพบกันอีกครั้งครับ ในงาน ‘ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน’ ณ อาคารกีฬาเวสน์ ๑ เขตดินแดง กรุงเทพฯ เพื่อมุ่งหน้าสู่การสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งของพวกเราไปด้วยกัน
ด้วยความเคารพในอำนาจของประชาชน…”
รับทราบครับ!
ก็เป็นไปตามที่เคยปราศรัยก่อนหน้านี้ “พิธา” บอกว่าไม่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๑
แต่ก็ถือว่าพรรคก้าวไกลเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง สภาผู้แทนราษฎรต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน
แต่มีประเด็นที่ต่อเนื่องคือ “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา” จะต้องลาออกจากเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๑
เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๖ ที่บัญญัติเอาไว้ดังนี้
“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”
ว้าวุ่นสิทีนี้ ต้องเอาตำแหน่งรองประธานสภาฯ แลกกับผู้นำฝ่ายค้าน
เดิมทีพรรคก้าวไกลไม่สนใจตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ทำราวกับว่าตำแหน่งนี้เป็นส่วนเกินทางการเมือง
เพราะตำแหน่งรองประธานสภาฯ สามารถตอบสนองการเสนอกฎหมายเข้าสภาได้
สุดท้ายคงตกผลึกว่า หากประธานสภาไม่เอาด้วย จะยัดไส้ร่างกฎหมายเข้าระเบียบวาระการประชุมไม่ได้
ก็ ม.๑๑๒ นี่แหละครับ ที่พรรคก้าวไกล หมายจะแก้ให้ได้
แต่พวกหัวหมอมันเยอะครับ นำเสนอแบบศรีธนญชัย ไม่สนใจกฎเกณฑ์ที่พึงปฏิบัติ
“สมชัย ศรีสุทธิยากร” เป็นถึงอดีต กกต. แต่เสนอให้พรรคก้าวไกล เล่นเกมโกง!
“…พิธา ลาออกจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งทั้งชุด ประชุมสมาชิกพรรค เลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารใหม่ ภายใน ๖๐ วัน แต่ยังมีกรรมการบริหารรักษาการอยู่
ที่ประชุมร่วม สส. กับกรรมการบริหารพรรค ลงมติไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ลงมติขับ หมออ๋อง ออกจากพรรค เนื่องจากขัดมติที่ขอให้ลาออกจากรองประธานสภา
หมออ๋อง หาพรรคใหม่ใน ๓๐ วัน เช่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม ทำให้ยังคงมีสมาชิกภาพเป็น สส. และคงตำแหน่งรองประธานสภาได้
ก้าวไกล เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา
สรุป ได้ทั้ง รองประธานสภา และ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา จำนวน สส.ฝ่ายค้านเท่าเดิม พรรคเป็นธรรมมี สส.เพิ่มขึ้นอีกคน
ใครวางแผนให้เนอะ มือยิ่งกว่าชั้นเซียนเหยียบเมฆ…”
คงว่างมาก!
กลับไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๖ ให้แตกก่อน
ใช้คำว่า “และ” ไม่ใช่ “หรือ”
ฉะนั้น ผู้นำฝ่ายค้าน ต้องมาจากพรรคฝ่ายค้านที่มี สส.มากที่สุด “และ” สมาชิกไม่ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรี ประธาน รองประธานสภาฯ
“และ” หมายถึงทั้งสอง ไม่ใช่อย่างหนึ่งอย่างใด
ส่วน “หรือ” คืออย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ใน ๒ อย่างนี้
ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไม่ใช่ส่วนเกินทางการเมือง
อังกฤษ ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เขาก็มีผู้นำฝ่ายค้าน
ไทยเรามีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
มีผู้นำฝ่ายค้านมาแล้ว ๘ คน มีสถิติที่น่าทึ่งคือครึ่งหนึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์
๑.หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์
๒.ประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทย
๓.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่
๔.บรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย
๕.ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์
๖.บัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์
๗.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์
๘.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย
อย่าคิดว่าตำแหน่งนี้ไม่สำคัญ เพราะมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
มาตรา ๑๕๕ ผู้นำฝ่ายค้าน ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา (ประชุมลับ) เพื่อหารือร่วมกับ ครม. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ
มาตรา ๒๗๐ วรรคสี่ ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใดเป็นกฎหมายปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ หรือไม่ ในกรณีที่ ครม. และ สมาชิกรัฐสภา เห็นไม่ตรงกัน
มาตรา ๒๐๓ และ ๒๑๗ ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้อำนาจหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่ได้ชื่อว่าฉบับประชาชนเสียด้วยซ้ำ
ถือเป็นตำแหน่งที่มาจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศเช่นกัน
ถือว่า “พิธา” กลัดกระดุมเม็ดแรกถูกแล้ว
รอดูเม็ดต่อไป จะมีหมกเม็ดตามที่พวกว้าวุ่นเสนอหรือไม่