ศูนย์รวมของชาติ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เข้าสู่วันแห่งความรัก

แต่บรรยากาศทางการเมืองของนักการเมือง ดูเจี๊ยวจ๊าว แย่งกันพูด แย่งกันทำ คิดกันไปคนละทาง ยังหาความรักแทบจะไม่ได้

ความขัดแย้งยังคงเดิม เพิ่มเติมคือพกความแค้นมาด้วย

หลายพรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันคึกคัก มาจากการประเมินว่าอาจมีการยุบสภาในอีกไม่นาน

ถึงจะไม่มียุบสภา รัฐบาลอยู่ครบวาระ ก็เหลือเวลาแค่  ๑ ปีจะมีการเลือกตั้งใหม่ ฉะนั้นหลายพรรคจึงเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ

เปิดนโยบายพรรค

เปิดตัวผู้สมัคร

เสร็จแล้วก็แบ่งข้างด่ากันรายวัน

ทำให้อดคิดถึงคำว่า “ปฏิรูปการเมือง” ไม่ได้

เคยได้ยินบ่อย ชาวสามนิ้วบอกว่า ถ้าการเมืองดีทุกอย่างจะดีหมด

การเมืองดีในความหมายของชาวสามนิ้ว ไม่มีอะไรซับซ้อนนัก แค่ฝ่ายตัวเองได้เป็นรัฐบาลก็ถือว่าการเมืองดีแล้ว

นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง

การเมืองไม่ได้หมายความถึงรัฐบาล

แต่การเมืองคือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน ประชาชน ฉะนั้นการเมืองที่ดี อย่างน้อยๆ ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบต่อการเลือกผู้แทนราษฎรด้วย

เมื่อประชาชนรับผิดชอบน้อย เราจะได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพต่ำเข้าสภา

การเมืองไม่มีทางดีขึ้นมาได้

วานนี้ (๑๓ กุมภาพันธ์) “ท่านใหม่” ม.จ.จุลเจิม ยุคล  โพสต์เฟซบุ๊กไว้ สะเทือนการเมืองไปพอสมควรเลยทีเดียว

…อยากจะถามคนไทยทั้งประเทศว่า ทุกคนพร้อมที่ปกป้องสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างถูกต้องและสมควร หรือยัง

ทางออกประเทศไทยมีทางเดียว ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ด้วยการสร้างการปกครองเสียใหม่ ตามแนวทางรัชกาลที่ ๗ ที่ได้ทรงวางแนวทางไว้เท่านั้น จึงจะเกิดสมดุลอำนาจในทางปกครอง

การเมืองที่ยึดติดระบอบเผด็จการต่อเนื่องยาวนานมา  ๘๘ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนโง่เขลา ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวอำนาจกฎหมายปิดปากและอำนาจกองทัพ จึงทำให้ปวงชนชาวไทยตกอยู่ในอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ ที่บังคับให้คนหลงเชื่อว่าประเทศไทยมีการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งๆ ที่ลิดรอนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์จนหมดสิ้น

คณะกบฏที่ยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ วางแผนระยะยาวเพื่อให้หมดสิ้นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ให้ผู้สืบทอดอำนาจทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อราชวงศ์ว่างลง

นั่นก็หมายความว่า คณะเผด็จการต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์สิ้นสุดลงไปโดยปริยาย เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่ไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกา ซึ่งไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์

คนไทยที่เคารพครับ ประเทศไทยแต่เดิมมานั้น พระมหากษัตริย์หาแผ่นดินให้เราอยู่ รวมตัวกันเข้ามาเป็นชาวแผ่นดินสยาม

เมื่อเราคิดจะที่ทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทำไมไม่เปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๗

แต่ปัจจุบันนี้คณะบุคคลที่บริหารประเทศได้พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะตัดสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไปจากการปกครองประเทศ ตามหลักการเดิมของกบฏคณะราษฎร ๒๔๗๕

เรื่องนี้ประชาชนไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าคณะบุคคลที่สืบทอดอำนาจกันต่อๆ มา ปิดบังข้อเท็จจริงมาโดยตลอด  พยายามกีดกันประชาชนให้ห่างสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยเอามาตรา ๑๑๒ มาเป็นเครื่องมือ ทั้งๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ไม่ทรงเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้

ในทางตรงกันข้ามผู้นำรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย พยายามที่จะสร้างภาพความจงรักภักดี ด้วยการจัดงานเฉลิมฉลองอลังการให้ชาวโลกและชาวไทยเห็นว่าผู้นำประเทศจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

เพื่อแสดงให้สังคมโลกยอมรับคบค้าสมาคมด้วย ว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตบตาชาวโลกและชาวไทยมาโดยตลอด ๘๘ ปี จึงเป็นที่มาของคำว่า “ลิงหลอกเจ้า”

เสียดายครับ ที่คนในประเทศมีการศึกษาสูงจนทำให้  “ต่อมแห่งความกตัญญูเสื่อม” ยังจะมีหน้าบังอาจประกาศยืนยันที่จะเดินหน้าประเทศไทย ด้วยนโยบายเนรคุณสถาบันพระมหากษัตริย์ จนลืมคำทัดทานร้องขอ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ หรืออย่างไร..?

จึงอยากจะถามคนไทยทั้งประเทศว่า ทุกคนพร้อมที่ปกป้องสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างถูกต้องและสมควรที่จะเป็นดังเช่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หรือยังครับพี่น้องไทย….??

หากทุกท่านพร้อมที่จะรวบรวมความกล้า ด้วยพลังแห่งความกตัญญู ต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขอจงได้โปรดรีบสลัดความเขลา ความกลัว ลุกขึ้นมาพร้อมใจกันบอกกับผู้ถืออำนาจในขณะนี้ ให้รีบเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ให้เป็นไปตามแนวทางของรัชกาลที่ ๗ กันเถอะครับก่อนที่เราจะตายจากโลกนี้ ไปอย่างมีคุณค่าของความเป็นไทย…

ครับ…ก็มีทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้งครับ

การสร้างการปกครอง ตามแนวทางรัชกาลที่ ๗ ที่ได้ทรงวางแนวทางไว้ อาจเป็นข้อถกเถียงไม่จบไม่สิ้น แล้วจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน?

ถ้ายึดจาก พระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ

ข้อความย่อหน้าที่ ๒ หน้า ๕ ที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

ตรงนี้จะชัดเจนที่สุด

ทั้งรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลจากการรัฐประหาร โดนหมด

แต่การเมืองไทยยังมีปัญหาให้ต้องขบคิดเพิ่มเติม

ยกตัวอย่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างถล่มทลายคือรัฐบาลทักษิณ กลับกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการรัฐสภา เกิดการคอร์รัปชันกันอย่างมโหฬาร

ขณะที่รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร กลับเป็นรัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับสูงทั้งในและต่างประเทศ

ฉะนั้นความผิดพลาดตลอด ๘๘ ปีที่ประชาธิปไตยไทยไปไม่ถึงไหนมาจากอะไรกันแน่

เพราะคณะราษฎรมิได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่แรก แต่สถานการณ์บีบบังคับให้ทำใช่หรือไม่

คณะราษฎร รู้ดีว่า พระมหากษัตริย์ยังเป็นที่เคารพรักของประชาชนคนไทยตลอดมา หลังการยึดอำนาจ จึงส่งคนไปกราบบังคมทูลให้ ร.๗ เสด็จฯ กลับมาประทับที่กรุงเทพฯ หลังเสด็จฯ ไปทรงรักษาพระเนตรที่อังกฤษ

สิ่งที่คณะราษฎรทำไม่ต่างจากใช้พระมหากษัตริย์ เป็นตัวประกัน

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่เป็นไปตามทฤษฎีการปกครองของตะวันตกมาตั้งแต่แรก

ความผิดเพี้ยนจึงเกิดขึ้นเรื่อยมา

ก่อนปี ๒๕๐๐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกจ้องทำลาย และใช้เป็นเหตุผลในการช่วงชิงอำนาจกันเองระหว่างคณะราษฎร ดังปรากฏหลักฐาน ยุคจอมพล ป. พยายามบีบมิให้  ร.๙. เสด็จฯ ไปทรงพบประชาชน ด้วยการสั่งตัดงบประมาณ เพราะเหตุผลประชาชนรักในหลวง

หรือแม้กระทั่งการรื้อฟื้นคดีสวรรคต ร.๘ ก็ยังโยงไปถึงการชิงอำนาจกันเองของ คณะราษฎร ๒ ขั้ว

ฉะนั้นประเทศไทยจึงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไม่ตั้งใจมาตั้งแต่แรก

แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบประเทศอังกฤษ เป็นแบบไหน?

ทั้งไทยและอังกฤษใช้หลัก “the king can do no  wrong” เหมือนกัน

แต่สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นเพียง  “สัญลักษณ์” ของชาติเท่านั้น

ขณะไทยเป็นมากกว่านั้น

เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็น “ศูนย์รวมของชาติ”



Written By
More from pp
เห็นประชาชนเป็นขอทาน-ผักกาดหอม
ผักกาดหอม กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง คงเละเป็นขี้เลน จากนโยบายแจกหัวละหมื่น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าจะพาเศรษฐกิจชาติสู่ความวิบัติในอนาคตข้างหน้า ตอนนี้เริ่มกลายเป็นมหกรรมแฉผู้อยู่เบื้องหลังกันแล้ว แต่มันก็แยกกันไม่ออก เพราะนโยบายไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ มันมาจากความคิดของคน
Read More
0 replies on “ศูนย์รวมของชาติ-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();