การเมืองเรื่อง “ราคาน้ำมัน” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

การเมืองเรื่อง “ล้มรัฐบาล” วนอยู่กับตัณหา-โมหะของพวก “ปีศาจกระสัน” ล่มชาติ
ที่ไม่วนอยู่กับที่ ตอนนี้ คือ “ราคาน้ำมัน”
“น้ำมันดิบ” ตลาดโลก วนขึ้นสู่หลัก ๑๐๐ เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ประเทศที่ “นำเข้า” สุทธิ อย่างไทย กำสรวล
แต่ประเทศ “ส่งออก” สุทธิ อย่างมาเลย์ สรวลสรรหรรษา!

ผมเห็น ดร.โสภณ พรโชคชัย โพสต์เฟซวันก่อน ด้วยข้อความสื่อสารทำนองว่า
ดีเซลตามปั๊มของไทยลิตรละ ๒๙ -๓๐ บาท แพง

ไปนำเข้าดีเซลมาเลเซียดีกว่า ลิตรละ ๑๗ บาท มาขายลิตรละ ๒๐-๒๑ บาท
คนดีกรี “ดอกเตอร์” นำหน้าโพสต์อย่างนี้ พวกร้องเอาแต่ น้ำมันถูก..น้ำมันถูก อาจทึกทัก เออ..จริงด้วย ชนิดไม่สนเหตุปัจจัย อันเป็นที่มาของการถูก-แพง!

ก่อนจะคุย ผมจะยก “ราคาเปรียบเทียบ” น้ำมันหน้าปั๊มในประเทศกลุ่มอาเซียนมาให้ดูก่อน
ราคาน้ำมัน ณ วันที่ ๗ กุมภา.๖๕ หน้าปั๊มแต่ละประเทศ

-ไทย ดีเซล ๒๙.๙๔ บาท/ลิตร เบนซิน ๓๔.๕๕
-สิงคโปร์ ดีเซล ๕๖.๐๗ บาท/ลิตร เบนซิน ๖๖.๘๙

-ลาว ดีเซล ๓๔.๗๕ บาท/ลิตร เบนซิน ๔๔.๖๗
-ฟิลิปปินส์ ดีเซล ๓๒.๐๒ บาท/ลิตร เบนซิน ๓๘.๙๕

-เมียนมา ดีเซล ๓๑.๗๐ บาท/ลิตร เบนซิน ๓๒.๕๒
-กัมพูชา ดีเซล ๓๐.๘๘ บาท/ลิตร เบนซิน ๓๘.๑๙

-อินโดนีเซีย ดีเซล ๓๐.๕๗ บาท/ลิตร เบนซิน ๒๘.๙๓
-เวียดนาม ดีเซล ๒๗.๕๘ บาท/ลิตร เบนซิน ๓๔.๕๔

-มาเลเซีย ดีเซล ๑๗ บาท/ลิตร เบนซิน ๑๖.๒๑
-บรูไน ดีเซล ๗ บาท/ลิตร เบนซิน ๑๓.๐๓

จะเห็นว่า ที่ร้องกัน ถ้ามองตัวเลขประเทศอื่นด้วย จะไม่ร้อง เว้นแต่เจตนาหาเหตุด่ารัฐบาล โดยมองแค่ตัวเลขบ้านเรา
ที่ถูกกว่าเรา มีแค่เวียดนาม มาเลย์ฯ และบรูไน เมื่อรู้แล้ว ก็อยากบอก ดร.โสภณว่า

ที่ว่าไปนำเข้าจากบรูไน ลิตรละ ๗ บาท มาขายซัก ๑๕ บาท ไม่ถูกกว่านำเข้าจากมาเลย์ที่ลิตรละ ๑๗ บาทหรือ นั้น
ถ้าอยากระแทกแดกดัน อยากสร้างความขัดแย้งซ้ำเติมบ้านเมืองตามสันดานละก็
หาเรื่องฉลาดๆ กว่านี้มาโพสต์ จะทำให้คำว่าดอกเตอร์ดูไม่สถุลนะ

ใครๆ ก็อยากใช้น้ำมันราคาถูกทั้งนั้น แต่อย่างที่บอก การถูก-การแพง ต้องดูเหตุปัจจัยและดูเขา-ดูเรา ที่เป็น “ต้นทุนประเทศ” ประกอบด้วย

วันนี้ จะคุยกันประเด็นนี้ ก่อนอื่น ต้องเข้าใจให้ตรงข้อเท็จจริงก่อน คือ อย่าง ปตท., บางจาก, เชลล์, เอสโซ่, คาลเท็กซ์ แค่ผู้จัดหา-นำเข้า-ผลิต เท่านั้น

ผลิตออกมาแล้ว จะตั้งราคาขายเอง “หน้าโรงกลั่น” ตามใจชอบไม่ได้
ต้องให้ “กระทรวงพลังงาน” โดย “สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน” เป็นผู้กำหนดราคา “หน้าโรงกลั่น” ซึ่งเท่ากันหมด

ส่วนที่ขายปลีกตามปั๊ม……
ยี่ห้อไหนขายถูก-ขายแพง “ตามสบาย” ใช้กลไกตลาดเสรีเป็นตัวควบคุม

ตัวอย่าง ณ ๑๓ กุมภา.ราคาหน้าปั๊ม เป็นดังนี้
ดีเซล…
ปตท.-บางจาก ตามปั๊ม จะราคา ๒๙.๙๔ บาท/ลิตร
เชลล์ ตามปั๊ม ราคา ๓๑.๑๔ บาท/ลิตร
เอสโซ่ ตามปั๊ม ๓๐.๓๔ บาท/ลิตร เป็นต้น

เห็นมั้ย ราคาไม่เท่ากัน ใครอยากเติมยี่ห้อไหน เลือกได้ตามกลไกตลาด
น้ำมันของไทย กลั่นได้ “มาตรฐานโลก” โรงกลั่นปรับลดกำมะถันในน้ำมัน เพื่อสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ “มาตรฐาน ยูโร ๔-๕” โน่นแล้ว

ที่น้ำมันเราแพงกว่าบางประเทศ เช่น มาเลย์ เวียดนาม ส่วนหนึ่ง ก็เพราะ การกลั่นให้ได้มาตรฐานยูโร ๔-๕

“ต้นทุนการผลิต” ย่อมสูงกว่า การผลิตมาตรฐาน ยูโร ๒ ของมาเลย์หรือของเวียดนาม
ฉะนั้น รถในบ้านเรา ปล่อยสารมลพิษไอเสียต่ำมาก

ส่วนรถประเทศที่มาตรฐานยูโร ๒ …….
จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์, ไฮโดรคาร์บอนที่ไม่เผาไหม้ และออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งสร้างมลพิษภาวะและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมออกมามาก

นั่นคือ ในเมื่อเราต้องการบ้านเมืองปลอดมลพิษภาวะ ฝุ่นละอองต้องไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน
ก็ต้องเข้าใจในหลักการ “ราคาสะท้อนคุณภาพ”!

จะยึดแค่ “ราคาหน้าปั๊ม” ประเทศใด-ประเทศหนึ่ง มาสรุปว่า ที่เขาถูก แสดงว่าเขาดีกว่า ของเราที่แพง คือแย่กว่าเขา มันไม่ใช่อย่างนั้นไปทุกเรื่อง

หรือในอาชีพตีราคาอสังหาริมทรัพย์ของดร.โสภณ ใช้หลักการสุนัขเห่านี้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ในการประเมิน?
ไหนๆ คุยแล้ว ก็คุยให้สิ้นกระบวนความ ถึงโครงสร้างราคาน้ำมันระหว่างไทยกับมาเลย์

ไม่ใช่มาอุ้มบริษัทน้ำมันหรืออุ้มรัฐบาล ใครอยากด่า อยากวิจารณ์ ด่าไปเลยตามใจชอบ
แต่เมื่อจะด่า เพื่อไม่เป็นการด้อยค่าตัวเอง……
ควรด่าบนฐานข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตะแบงด่าแบบงี่เง่าหรือจงใจใช้ “ความจริงครึ่งเดียว” ปั้นประเด็นด่า ด้วยจุดมุ่งหมายซ่อนเร้น

ประเด็นแรก ไทยเรามีน้ำมันไม่พอใช้ ซ้ำที่มี กำมะถันมาก ไม่เหมาะกลั่นใช้กับเครื่องยนต์บ้านเรา จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ถึงขั้น “นำเข้าสุทธิ”
เงินจำนวนมากหมดไปกับการนำเข้าน้ำมันดิบ

การจูงใจให้ประหยัดพลังงาน ใช้ช้พลังงานทางเลือก เช่น ก๊าซ การส่งเสริมพลังงานทดแทน จึงเป็นกลไกนำมาใช้
ที่สำคัญ พัฒนาประเทศชาติจะหยุดนิ่งไม่ได้

การเอาเงินทุ่มไปเพื่อทำให้มีน้ำมันใช้ถูกๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงด้านพัฒนา ประเทศก็จะย่ำอยู่กับที่
ดังนั้น ราคาน้ำมันบ้านเรา นอกจาก “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน + ราคาหน้าโรงกลั่น” แล้ว
ในน้ำมัน ๑ ลิตร ตามปั๊ม จึงประกอบด้วย

-ราคาหน้าโรงกลั่น “ราคาเนื้อน้ำมัน” (อ้างอิงสิงคโปร์)
-ภาษี ส่วนที่รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันเพื่อนำไปเป็นรายได้พัฒนาประเทศ

ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
“ภาษีเทศบาล” เก็บเป็นเงินอุดหนุน, ดูแลพื้นที่ที่โรงกลั่นตั้งอยู่
VAT ๗% คิดเพิ่มจากราคาขายส่งและขายปลีก เหมือนสินค้าทั่วไป

-เงินกองทุน ประกอบด้วย
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เก็บสำรองไว้ตอนราคาน้ำมันผันผวน คือเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกสูงเกินไป ก็ใช้เงินส่วนนี้พยุงราคาขายปลีก อย่างตอนนี้ เป็นต้น

กองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ใช้ส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศ น้ำมันทุกชนิด เก็บเท่ากัน ๐.๑๐ บาท/ลิตร
และค่าการตลาด เป็นส่วนกำไรของธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกน้ำมัน ใครขายถูก-ขายแพง กำหนดกันเองได้ ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกใช้ตามใจชอบ

ทีนี้ มาดู ราคาน้ำมันตามปั๊มของมาเลเซีย ใน ๑ ลิตร จะประกอบด้วย ๒ ส่วนเท่านั้น คือ
๑.ราคาหน้าโรงกลั่น(อ้างอิงสิงคโปร์)
๒.ค่าการตลาด

ค่าการตลาดน้ำมันมาเลย์ฯ เป็นดังนี้
-ไม่มีค่าการตลาด
-ไม่เก็บภาษี
-ไม่เก็บเงินสมทบกองทุน ทั้งหมดนั้น “รัฐบาลอุดหนุนราคา” จึงขายได้ราคาถูก

เหตุที่ขายได้ถูก เพราะมาเลย์ฯ เป็นประเทศส่งออกทั้งน้ำมันทั้งก๊าซธรรมชาติ “สุทธิ”
รายได้มหาศาล ใช้พัฒนาประเทศได้สบาย ไม่ต้องเก็บภาษี ไม่ต้องเก็บเข้ากองทุน ยังเหลือเฟือ ไปอุดหนุนให้ “ขายปลีก” ราคาต่ำกว่าเป็นจริงอีกตะหาก

แต่ที่สำคัญ น้ำมันมาเลย์ มาตรฐานแค่ ยูโร ๒ ซึ่งต่างกับไทย เกรด “มาตรฐานโลก” ยูโร ๔-๕
ดร.โสภณ พอจะเข้าใจบ้างหรือยังล่ะ ถ้าเข้าใจแล้ว จะโพสต์ด่าหรือกระแนะ-กระแหนอะไรอีก ก็โพสต์ให้มันอยู่ในกรอบข้อมูลตามนี้นะ

สรุป ที่คุยมาทั้งหมด ก็คือว่า ในความเป็นจริง ราคาน้ำมัน “ในภาพรวม” ของไทย ไม่ได้แพงกว่าประเทศอื่น แม้กระทั่งในยุโรปและเอเชีย

ที่บางประเทศถูกกว่า เพราะเขาเป็นประเทศ “ส่งออกน้ำมันสุทธิ” อุดหนุนราคา และที่สำคัญ “เกรดน้ำมัน” ต่ำกว่ามาตรฐาน ยูโร ๔ ของไทย

ที่ว่าเราบวกค่าอะไรมิต่ออะไรลงไปนั้น ก็ลองดูประเทศอื่นบ้างซิ ว่าเขาเก็บภาษีกันขนาดไหน และรัฐบาลประเทศนั้นๆเขาให้บริการอะไรประชาชน

ตรงนี้ ผมอ่านที่คุณ “แหลมา แฉกลับ” เขาโพสต์เฟซ ลองอ่านดูนะ
……………………………..
แหลมา แฉกลับ!!!
Tuksin B. Shinkrubwat

เทียบให้ดูอัตราภาษีและสวัสดิการแบบคร่าวๆ ของแต่ละประเทศกับประเทศไทย ที่พวกชังชาติรังเกียจ ด้อยค่า บอกว่า “สวัสดิการรัฐโคตรห่วย”

เรื่องจริงๆ ที่เราปฎิเสธไม่ได้ คือ ของฟรีไม่มีในโลกนะครับ สวัสดิการที่ว่าดีๆ มันแลกมากับภาษีที่สูงขึ้นแค่ไหน ลองใช้สมองดูครับ

สวีเดน ภาษีเงินได้บุคคลสูงสุด ๖๑% แว็ต ๒๕%
-สวัสดิการที่น่าสนใจ คือ
-บริการสุขภาพ ๓๐๐-๙๐๐ บาท, ลาหยุดดูแลลูกได้ ๔๘๐ วัน

ญี่ปุ่น ภาษีเงินได้สูงสุด ๕๖% แว็ต ๑๐%
-ประกันสุขภาพ จ่ายค่ารักษา ๓๐%,ระบบการประกัน การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ

ออสเตรีย ภาษีเงินได้สูงสุด ๕๕% แว็ต ๒๐%
-เงินสงเคราะห์การเลี้ยงดูบุตร, การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ

ออสเตรเลีย ภาษีเงินได้สูงสุด ๔๕% ภาษี GST ๑๐%
-ช่วยอุดหนุนค่ายา, สวัสดิการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ

จีน ภาษีเงินได้สูงสุด ๔๕% แว็ต ๑๓%
-เบี้ยผู้สูงวัย ๕,๐๐๐ บาท, เงินบำนาญ ๙๕% ของเงินเดือน

นอร์เวย์ ภาษีเงินได้สูงสุด ๓๘% แว็ต ๒๕%
-รักษาพยาบาลฟรี มีค่าเดินทางให้, เรียนฟรีถึงมัธยมปลาย

ไทย ภาษีเงินได้สูงสุด ๓๕% แว็ต ๗%
-เรียนฟรี ๑๒ ปี, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รักษาฟรี, เบี้ยคนชราสูงสุด ๑,๐๐๐ บาท/เดือน
…………………..
เท่านี้แหละ ใครจะชัง จะเชียร์ จะด่า ให้อยู่ในฐานข้อมูล “ความเป็นคน” นี้นะ

 

 


Written By
More from plew
สัญญาน “นักโทษเทวดา” – เปลว สีเงิน
คลิกฟังบทความ…⬇️ เปลว สีเงิน เทศกาล “ไหว้พระจันทร์” นี่ มาถึงตอนไหน ผมไม่ต้องดูปฎิทินเลย แต่รู้ทันที! เพราะจะมี “ขนมไหว้พระจันทร์” มาเป็นสัญญานล่วงหน้าทุกปี
Read More
0 replies on “การเมืองเรื่อง “ราคาน้ำมัน” – เปลว สีเงิน”