ผักกาดหอม
ยังไม่จบ
“ธนาธร” เอาวัคซีนโควิดมาเล่นการเมืองต่อ
—————–
…….ต่อให้ดิสเครดิตหรือเอาคดีความมาก่อกวนมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ข้อสงสัยที่ผมตั้งไว้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
ทำไมรัฐต้องรับหน้าแทนบริษัทเอกชนมากขนาดนี้ ยอมรับแล้วหรือไม่ว่าเราให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทเอกชนนี้จริงๆ?
ถ้าอยากจบเรื่องนี้ก็ต้องชี้แจงด้วยเอกสาร-หลักฐานให้กระจ่าง โดยผมขอให้เปิดเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น
๑.สัญญาจ้างผลิตระหว่าง Astra Zeneca กับ Siam Bioscince ว่าตกลงแล้วจะรับผลิตกี่โดส ราคาต้นทุนการผลิตของบริษัทเท่าไหร่ ราคาขายให้ AstraZeneca เท่าไหร่ มีรายละเอียดในสัญญาอย่างไรบ้าง
๒.สัญญารับงบประมาณระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติกับ Siam Bioscience ว่ามีรายละเอียดเงื่อนไขอย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ และเอาไปใช้ทำอะไร ตรงตามที่เคยแถลงไว้หรือไม่
๓.บันทึกการประชุมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางเงื่อนไข คุณสมบัติ และรายละเอียดของเอกชนที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าการเลือกสนับสนุน Siam Bioscience เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามหลักการ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ยิ่งเปิดเผยมากยิ่งโปร่งใส
ขอยืนยันอีกครั้งว่าผมเห็นด้วยทุกประการที่รัฐหรือเอกชนไทยจะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีน แต่ผมตั้งคำถามถึงกระบวนการคัดเลือกเอกชน การใช้ประเด็นเรื่องวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมือง และวิธีการบริหารจัดการที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยง ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนช้าและครอบคลุมประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า หากยึดตามไทม์ไลน์ของรัฐบาล กว่าเราจะกลับทำมาหากินได้ตามปกติ ไม่ต้องเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ ก็อย่างน้อยปี ๒๕๖๕ ซึ่งประชาชนรอไม่ไหว!
#วัคซีนพระราชทาน………
—————
“ธนาธร” ใช้คำว่า “ถ้าอยากจบเรื่องนี้!
นี่คือนิสัยสันดานของ “ธนาธร”
ไม่ต่างจากที่ “ทักษิณ” พูดว่า “ฉะนั้นอย่าหวังจะได้เห็นความสงบสุขเกิดขึ้นกับประเทศเลย”
มันเป็นบริบทเดียวกัน
ถามว่ามีใครดิสเครดิต “ธนาธร” บ้าง?
ก็ไม่มี…
มีแต่คนอยากเอา “ธนาธร” เข้าคุก
เพราะท่าทีการตั้งคำถามของ “ธนาธร” ไม่ได้ต้องการรายละเอียด
แถวบ้านผมเค้าเรียกว่าถามหาเรื่อง ชี้แจงไปก็เท่านั้น มันไม่ฟัง
คำอธิบายของ หมอยง ภู่วรวรรณ ชัดมากถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์
เราพูดถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วันนั้นในโลกนี้ไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนเจ้าไหนจะเสร็จ และออกมาใช้ได้ก่อนกัน
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ เป็นวันที่กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี (ปูนซิเมนต์ไทย) และ Astra Zeneca ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปี ๒๕๖๔
แต่ก่อนนั้นเกิดปัญหาขึ้นมากมายในการดีลหาวัคซีน
หมอยงบอกว่า
….ในการจองแต่ละครั้งต้องมีการวางมัดจำ
และการวางมัดจำนี้ถ้าวัคซีนผลิตไม่สำเร็จ เงินจำนวนนี้ก็จะไม่ได้คืน
แม้กระทั่งการวางมัดจำกับบริษัท Astra Zeneca ก็ไม่สามารถใช้เงินหลวงไปวางมัดจำได้ จึงจำเป็นต้องใช้เงินของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ไปวางมัดจำ เพราะในช่วงดังกล่าวไม่มีหลักค้ำประกันได้เลยว่าจะได้วัคซีนตัวไหน….
ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
การจองวัคซีนเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และขณะนั้นก็ยังไม่มีบริษัทไหนผลิตวัคซีนสำเร็จ สามารถนำมาฉีดให้ประชาชนได้
ขณะที่ไทยมีข้อจำกัดคือ กฎหมายไม่เอื้อให้ทำการจองวัคซีนล่วงหน้า โดยที่ไม่รู้ว่าวัคซีนจะใช้ได้หรือไม่ได้
มีความพยายามกลับไปสร้างกลไกทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อให้เราสามารถจองวัคซีนล่วงหน้าได้
“ทอน” รู้หรือเปล่าเบื้องหลังงานนี้…งานช้าง!
กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานทางด้านกฎหมายของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ต้องสุมหัวกัน
พยายามหาช่องทาง หากฎระเบียบให้มารองรับเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้
เพราะไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อน
กลไกนี้ไม่ได้แก้กฎหมาย แต่เป็นการหาช่องการอ้างอิง ตามกลไกพระราชบัญญัติ ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๑
มาตรา ๑๘ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความรับผิดชอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกประกาศกำหนดในการจัดหาวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินได้
อาศัยช่องนี้ปลดล็อก ดำเนินการการหาวัคซีน ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็น แล้วให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกำหนดในนามของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ
คนชี้ช่องก็คือ “วิษณุ เครืองาม” เจ้าของฉายา “ไฮเตอร์ เซอร์วิส” นั่นแหละครับ
นั่นเป็นที่มาทำให้ไทยสามารถจองซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัท Astra Zeneca ได้โดยถูกต้อง ไม่มีปัญหาการใช้งบประมาณตามมาทีหลัง
หรือ “ทอน” อยากตรวจสอบเรื่องนี้ต่อ
คุ้ยข้อมูลให้พรรคก้าวไกลไปซักฟอกรัฐบาลในสภาฯ ต่อก็ได้นะ
เบื้องหลัง มัดจำ จอง วัคซีน บริษัท Astra Zeneca คือความพยายามของคนที่ใช้มือพายเรือเข้าฝั่งให้สำเร็จ
กว่าจะมาเป็นการจองซื้อมีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทย โดยปลอดจากพวกใช้ตีนราน้ำได้สำเร็จ
การถ่ายทอดก็ต้องหาบริษัทที่จะมารับถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต้องมีความพร้อมที่สุด มีความสามารถที่สุด ทาง Astra Zeneca ได้ทบทวนบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยหลายบริษัท
ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์เพียงเจ้าเดียว
แต่มีสยามไบโอไซเอนซ์เพียงเจ้าเดียว ที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบของ Viral vector vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้
“ธนาธร” สงสัยหรือเปล่าว่า ทำไมเป็นเอสซีจี
เพราะเอสซีจี กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีความสัมพันธ์กันในเชิงการวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยี (technology innovation research) มาเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว
ทีนี้ถาม “ทอน” กลับบ้าง ไทยซัมมิททำอะไรให้สังคมไทยบ้าง
เราเห็นแต่ละปี ซีพี ปตท. ไทยเบฟ เอสซีจี มิตรผล โตโยต้า ฮอนด้า กลุ่มเซ็ลทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย แบงก์กรุงเทพ บางจาก และอีกมากมายก่ายกองเอ่ยชื่อไม่หมด ล้วนมีกิจกรรมด้านสังคมต่อเนื่องจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
ไทยซัมมิททำอะไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ช่วยตอบที
ที่จริงก็ไม่อยากแส่ตรวจสอบครับ เพราะเป็นบริษัทเอกชน
แค่อยากรู้ว่าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ธุรกิจหมื่นล้านที่เจ้าของเป็นนักการเมือง ทำประโยชน์อะไรให้สังคมบ้างเท่านั้นเอง.