ในโอกาสการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการระหว่าง วันที่ 25-26 มกราคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์นาย Khalid Madkhali ผู้ประกาศข่าวอาวุโสของสำนักข่าว Al Arabiya ของซาอุดีอาระเบีย เนื่องในโอกาสเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ดังนี้
คำถาม: การเยือนซาอุดีอาระเบียและการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ท่านเห็นว่าจะยังประโยชน์ด้านใดต่อประชาชนของทั้งสองประเทศบ้าง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะมุ่งสู่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยการฟื้นฟูความสัมพันธ์เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายจะสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยและซาอุดีอาระเบียสามารถร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีให้กลับมาใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิมในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน สังคม และประชาชน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศจากอุปทูตเป็นเอกอัครราชทูต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการติดต่อประสานงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศหลังจากนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีประเด็นความร่วมมือให้หารือร่วมกันอีกมาก
คำถาม: ในระหว่างการประชุมหารือกับมกุฏราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นอกจากเรื่องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติแล้ว ท่านได้หารือในหัวข้อใดบ้าง และมีความตกลงในด้านอื่นใด อีกบ้าง
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการหารือกันเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทั้งในกรอบทวิภาคีและในกรอบพหุภาคี โดยในกรอบทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับการสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนาประเทศของกันและกัน ได้แก่ นโยบาย Bio – Circular – Green (BCG) Economy ของไทย และวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งมีความสอดคล้องและสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังระบุเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และสาธารณสุข นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด รวมถึงได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผ่านความร่วมมือในด้านการศึกษา การท่องเที่ยวและกีฬา และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือในทุก ๆ ด้านต่อไป
ในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันการสนับสนุนกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับซาอุดีอาระเบียและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) รวมถึงภายใต้กรอบองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) ตลอดจนการเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Economic Cooperation: APEC) ของไทยในปีนี้ 2565 ซึ่งไทยได้กำหนดนโยบาย BCG Economy ให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยการเพิ่มมูลค่าในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุ และการท่องเที่ยวและบริการ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ BCG Economy ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในกรอบการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ด้วย
คำถาม: สาขาความร่วมมือ การค้าการลงทุน และโอกาสทางธุรกิจด้านใดบ้างที่จะเกิดจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอาระเบีย – ไทย
นายกรัฐมนตรีเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทยในด้านต่าง ๆ เช่น
1. ด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและซาอุดีอาระเบียสามารถเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคของกันและกัน รวมถึงไทยสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอาหารในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของซาอุดีอาระเบีย ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่า ซาอุดีอาระเบียมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน โดยซาอุดีอาระเบียน่าจะพิจารณาลงทุนในไทยในอนาคต ทั้งในรูปแบบพลังงานแบบดั้งเดิมและพลังงานสะอาด ซึ่งไทยก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเช่นเดียวกันกับซาอุดีอาระเบีย
2.ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับต้นของโลกและมีความเชี่ยวชาญ ในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวมายาวนาน และสามารถช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ชาวซาอุดีอาระเบียน่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ
3.ด้านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความพร้อมให้ความร่วมมือ
ในการสนับสนุนแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการสำคัญต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการส่งออกสินค้าสำหรับการตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ของไทยมายังซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
4.ด้านความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในฐานะ “ครัวโลก” และ “ศูนย์กลางทางการแพทย์” ซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนจากประเทศในตะวันออกกลางเช่นกัน
คำถาม: บทบาทของประเทศอ่าวอาหรับและประเทศอื่น ๆ ในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ คือ บาห์เรน ซึ่งเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดอย่างยิ่งของไทย โดยเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ (His Royal Highness Prince Khalifa bin Salman Al Khalifa) อดีตนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนผู้ล่วงลับ ทรงสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้นำไปสู่การหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างนายกรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรน และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร (Adel bin Ahmed Al-Jubeir) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (ตำแหน่งในขณะนั้น) ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอ่าวอาหรับอื่น ๆ รวมถึงพันธมิตรนอกภูมิภาคของซาอุดีอาระเบียอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ เป็นต้น และเชื่อว่าประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะยินดีกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้อย่างแน่นอน
คำถาม: จะมีการเยือนในระดับใด ตลอดจนประชุมหารือ และข้อตกลงใด ๆ อีกบ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมารฯ แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเยือนระดับสูงที่สำคัญระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อจักได้หารือถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทยในด้านต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป โดยการเยือนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติ เพื่อเปิดทางไปสู่ความร่วมมืออื่น ๆ ในอนาคต โดยในระยะเริ่มต้น กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งกลไกหารือทวิภาคี เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและวางแผนแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันหลังจากนี้ โดยเฉพาะการระบุสาขาความร่วมมือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองฝ่าย เชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจำนวนมาก และจะมีการจัดทำความตกลงในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอนาคตอันใกล้
อนึ่ง สำนักข่าว Al Arabiya ของซาอุดีอาระเบีย มีสำนักงานกลางอยู่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีช่องทางออกอากาศทั้งสถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งภาษาอาหรับ อังกฤษ อูรดู และฟาร์ซี เป็นสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงที่สุดในซาอุดีอาระเบีย และได้รับความนิยมในโลกอาหรับและภูมิภาคตะวันออกกลาง และการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ได้นำไปออกอากาศในวันที่ 26 มกราคม 2565 ช่วงเวลาสำคัญ เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด
พิธีกรที่สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีคือนาย Khalid Madkhali ผู้ประกาศข่าวอาวุโสและผู้ดำเนินรายการ Talk Show ด้านการเมืองช่อง Al Arabiya ซึ่งเป็นรายการที่ได้รับรางวัลรายการดีเลิศอันดับหนึ่ง