ผักกาดหอม
เผื่อใจเอาไว้บ้างนะครับ
ไทยอาจไม่รอดพ้นจากการระบาดของ “โอไมครอน”
เหมือนที่ “เดลตา” เข้ามาช่วงกลางปี
“ดร.เหลียง โฮ นัม” แห่งโรงพยาบาลเมาท์ อลิซาเบธ โนเวนา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสิงคโปร์ บอกกับสื่อตะวันตกว่า “โอไมครอน” มีแนวโน้มระบาดไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
“โอไมครอนจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลา ๓-๖ เดือนข้างหน้า”
“ดร.เหลียง” ยังบอกว่า “แม้บริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งสามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
แต่ก็ยังต้องใช้เวลาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอีกราว ๓-๖ เดือน กว่าจะยืนยันได้ว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้”
สถานการณ์จนถึงวานนี้ (๒ ธันวาคม) การแพร่ระบาดมากกว่า ๒๐ ประเทศใน ๕ ทวีป อาทิ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอสซาวานา โมซัมบิก ซิมบักเว นามิเบีย มาลาวี เอสวาตีนี เลโวโท
และยังมีประเทศในทวีปอื่นๆ อย่าง สหรัฐ บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ตุรกี เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อินเดีย
สำหรับสหรัฐ เกาหลีใต้ อินเดีย เป็นประเทศล่าสุดที่พบรายงานพบผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน”
สหรัฐ พบผู้ติดเชื้อรายแรก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้โดยตรง
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น
กำลังฟื้นตัวจากอาการป่วยเล็กน้อย
เกาหลีใต้ พบรวดเดียว ๕ คน จากสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เดินทางกลับจากไนจีเรีย พร้อมสมาชิกครอบครัวอีก ๒ คน และเพื่อนอีก ๑ คน เมื่อสัปดาห์ก่อน
รัฐบาลเกาหลีใต้ สั่งกักตัวนักเดินทางทุกคนที่เข้าประเทศเป็นเวลา ๑๐ วันอีกครั้ง
และอินเดีย พบ ๒ รายแรก ในรัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของประเทศ
อินเดียมีแผนเปิดรับเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป แต่ต้องพับแผนงานไปแล้ว
ก็เป็นไปตามคำเตือนของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีก
WHO เตือนว่า หากในระดับประเทศ และระดับบุคคล ไม่ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของ “เดลตา” ก็จะไม่สามารถหยุด “โอไมครอน” ได้เช่นกัน
แต่ WHO ก็ให้ความเห็นที่น่าสนใจคือ การห้ามเดินทาง ไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดข้ามประเทศของ “โอไมครอน” ได้
แต่กลับสร้างภาระให้กับการใช้ชีวิตและการดำรงชีพ
นี่คือสิ่งที่ยากสำหรับรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องบริหารจัดการ
อย่างไทย ขณะนี้มีเรื่องให้กังวลจากกลุ่มผู้ที่เดินทางจากทวีปแอฟริกาจำนวน ๗๘๒ คน
มาจากกลุ่มเสี่ยงสูงจาก ๘ ประเทศ บอตสวานา, เอสวาตีนี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว) ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างวันที่ ๑๕-๒๗ พฤศจิกายน และจะมาอีกในวันที่ ๕ ธันวาคม รวมทั้งสิ้น ๓๓๐ ราย
กลุ่มนี้ยังตกค้างในประเทศไทยอีก ๒๕๒ คน
ติดตามได้แล้วเพียง ๑๑ คน
กลุ่มเสี่ยงต่ำจากประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา เดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน จำนวน ๔๕๒ ราย
ก็ถือว่าไทยอยู่ในความเสี่ยง
แต่ใช่ว่าต้องตื่นตระหนกจนลนลาน
ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น เผื่อใจไว้ “โอไมครอน” อาจจะเข้ามาแทนที่ “เดลตา” ในอีกไม่ช้า
แล้วภาครัฐเตรียมรับมือไว้บ้างหรือยัง เพราะนี่คือสิ่งที่ประชาชนอยากรู้
“สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ตอบกระทู้ในสภา
“ควบคุมไม่ง่าย แต่สามารถรับมือได้”
“ยังตอบไม่ได้ว่าต้องปิดประเทศหรือไม่ รวมถึงต้องไม่ผลีผลามตัดสินใจ แต่รัฐบาลไม่ประมาท เพราะยอมรับว่าไม่สามารถปิดกั้นโรคระบาดได้ ๑๐๐% แต่มาตรการที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ อยู่ในระดับน่าพอใจ”
ก็คงประมาณนั้นครับ เพราะเรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับ “โอไมครอน” ไม่มาก
แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจในคำชี้แจงของรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขคือ…
“ช่องทางธรรมชาติน่ากลัวที่สุด แต่นายกฯ สั่งการไปยังฝ่ายความมั่นคง หากพบผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ปล่อยปละจะดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่
ผมแปลกใจทุกครั้งที่จับคนลักลอบเข้าประเทศ จับได้แต่คนที่หนีเข้าประเทศ แต่จับคนนำพา หรือผู้ให้การพักพิงไม่ได้ โดยนายกฯ สั่งแล้วให้จัดการเด็ดขาด เพราะเป็นช่องทางที่เสี่ยงต่อการเล็ดรอดของไวรัสโอไมครอนมากกว่าทางอากาศ”
ท่านรัฐมนตรีแปลกใจ แล้วชาวบ้านล่ะครับ
จะหูตาแหกกันแค่ไหน
วันก่อนเขียนไปว่าให้ระวังหากระบาดในอินเดีย ก็ระวังจะลามเข้าเมียนมา แล้วมันจะมาไทย ตามเส้นทางเดียวกับ “เดลตา”
แต่ในเมื่อวันนี้ “โอไมครอน” ยังไม่มา ก็ยังพอมีเวลาขันนอตเจ้าหน้าที่
หากทุกอย่างยังซ้ำรอยเดิมก็ไม่อยากจะคิด
จับได้แค่คนต่างด้าวลักลอบเข้ามา แต่คนนำพารอดทุกครั้ง มันเป็นเรื่องผิดวิสัย
ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มันจะรอดไปได้อย่างไร
ฉะนั้นมาตรการที่จะนำมาดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้ต้องชัดเจน อย่างน้อยๆ ช่วงนี้ต้องตรวจสอบระดับปฏิบัติงานกันอย่างเข้มข้น
วัวหายล้อมคอกไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา
เพราะหาก “โอไมครอน” หลุดมาได้ก็หมดโอกาสแก้ตัว
หากระบาดจริงขอให้เป็นกรณีเดียวคือ เหตุสุดวิสัย ป้องกันเต็มที่แล้วแต่พลาด
แต่ไม่ใช่พลาดเพราะคนไม่กี่คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
ย้ำอีกทีในภาพรวมไม่ควรตื่นตระหนก
ณ เวลานี้ ถึงจะมีข้อมูลเกี่ยวกับ “โอไมครอน” ไม่มากนัก แต่การอยู่ร่วมกับโควิดคือภาคบังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
แม้ WHO จะเตือนถึงการระบาดที่รวดเร็ว
แต่ WHO ก็มีข้อมูลพอให้คลายความวิตกไปได้บ้าง
นั่นคือ อาการป่วยของผู้ติดสายพันธุ์ “โอไมครอน” เท่าที่มีการยืนยันเข้ามาตอนนี้ คือ เล็กน้อย
หรือแทบไม่แสดงอาการเลย
และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า “โอไมครอน” ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ทั้งในด้านการลดอัตราการป่วยเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
ถึงกระนั้นก็ตาม “โอไมครอน” ติดง่ายกว่า “เดลตา”
และติดได้แม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม
เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอให้เราไม่ตื่นตระหนก และการ์ดไม่ตกในเวลาเดียวกัน
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า