ยอดติดเชื้อรายใหม่ 4,971 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 33 ราย “บิ๊กตู่” ย้ำให้ความสำคัญเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน แต่ยังไม่ใช่ยาแรงปิดประเทศ ขอ ปชช.ดูแลตัวเองร่วมมือฉีดวัคซีน “สาธิต” มั่นใจแผนรับมือที่วางไว้ เตือนลักลอบเข้าเมืองชายแดนอันตราย จนท.ต้องเอาจริง “สธ.”เร่งติดตาม 782 นักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงแอฟริกามาตรวจเชื้อซ้ำ “ภูเก็ต” ฉลุยทำ RT-PCR นทท. 130 คนจากแอฟริกาไร้เชื้อโควิด
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,971 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,599 ราย ค้นหาเชิงรุก 163 ราย เรือนจำ 198 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,402 ราย อยู่ระหว่างรักษา 73,726 ราย อาการหนัก 1,355 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 346 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 33 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 17 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21 ราย มีโรคเรื้อรัง 7 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ในกทม. 3 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,125,729 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,031,156 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 20,847 ราย
ทั้งนี้ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กทม. 778 ราย, นครศรีธรรมราช 329 ราย, สงขลา 302 ราย, เชียงใหม่ 208 ราย, สุราษฎร์ธานี 196 ราย, สมุทรปราการ 140 ราย, ชลบุรี 139 ราย, ปัตตานี 138 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 133 ราย, ขอนแก่นและยะลา จังหวัดละ 102 ราย
ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม เพิ่มเติม 521,693 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 93,753,156 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 263,733,301 ราย เสียชีวิตสะสม 5,241,849 ราย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการติดตามเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนว่า เรื่องนี้ตนเป็นคนแจ้งเตือนเอง หลังจากได้รับทราบข่าวจากเว็บไซต์ต่างประเทศ เป็นสิ่งที่น่าชมเชยที่หน่วยงานของไทยเมื่อรับนโยบายไปแล้วก็ตอบสนองโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข, ศบค., ครม. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงต้องขออภัยในกรณีที่คิดว่าหลายอย่างเราจะทำได้ แต่เมื่อมีเชื้อใหม่อุบัติขึ้นมา เราก็ต้องมีมาตรการขึ้นมารองรับ
“วันนี้เราก็ยังไม่ได้ข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อตัวเดิมเราก็ต้องระวังอยู่ เพราะคิดว่าคงต้องระวังกันทั้งโลก สำคัญคือจะทำอย่างไรเราจะต้องระมัดระวังตัวเองกันให้มากที่สุด เข้าใจดีถึงความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องการอิสระ ต้องการเดินทาง ต้องการความสนุกสนาน แต่ถ้าเราไม่ช่วยกัน ไม่ว่าโรคอะไรเราก็ต้านทานไม่ได้ ถ้าเราไม่มีวินัยของเราเอง จึงต้องขอร้อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้ามารับการฉีดวัคซีน อย่าไปกังวลว่าเมื่อมีเชื้อตัวใหม่เข้ามาแล้วไม่ฉีดจะรอวัคซีนใหม่ ขณะที่เชื้อเก่ายังอยู่ เราต้องระวังทุกเชื้อที่เกิดขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ถามถึงการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมผับบาร์ คาราโอเกะ นายกฯ กล่าวว่า อาจจะต้องมีขยับออกไปบ้าง ก็ต้องขออภัย ตนบอกแล้วอยากให้นึกถึงคนอื่นด้วย เห็นใจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวถือว่าสำคัญที่สุด แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็จะล้มเหลวทั้งหมด และรัฐบาลก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงจำเป็น ซึ่งเรื่องการเยียวยาก็จะนำเข้า ครม. ในเร็วๆ นี้
ซักถึงการติดตามตัวนักท่องเที่ยวมาจาก 8 ประเทศกลุ่มเสียงแอฟริกา 252 คน เพื่อให้เข้ารับการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR นายกฯ กล่าวว่า กำลังติดตามอยู่ คนที่อยู่ในพื้นที่ ถ้ารู้ก็ให้ช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่
นายกฯลั่นยังไม่ถึงขั้นปิดปท.
ถามว่า การแพร่ระบาดในหลายประเทศรอบประเทศไทยในขณะนี้จะทำให้เราจำเป็นจะต้องใช้ยาแรงหรือถึงขั้นปิดประเทศหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังๆตอนนี้มีการคัดกรอบแบบ RT-PCR อยู่แล้ว และมีการกักตัวไว้ชั่วคราว จนกว่าจะทราบผล RT-PCR ส่วนตรวจแบบ ATK ต้องยกเลิกไปก่อน ถือว่ายังไม่ปลอดภัยในขณะนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ลำบากกันขึ้นมานิดหน่อย แต่เราก็ต้องมองทั้ง 2 ทาง ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยไปด้วย นี่คือความยากง่ายในการทำงาน
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ พอใจภาพรวมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยยอดรวมการให้บริการวัคซีนสะสมอยู่ที่ 93,929,601 โดส ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้ให้มีการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 นี้
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.สตูล พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถึงเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา และการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เพราะเป็นห่วงเรื่องเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงว่า สถานการณ์กลายพันธุ์โอไมครอน รัฐบาลได้สั่งให้ สธ., ก.มหาดไทย, ก.ท่องเที่ยวฯ, ก.คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและติดตามนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกาที่เข้ามาไทยตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 64 ให้ได้ทุกคนและประกบตัวเพื่อเชิญนักท่องเที่ยวเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 เป็นต้นมา ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศแอฟริกาเข้าประเทศไทยอีกเลย
นายพิพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ขอขยายเวลาในพื้นที่บลูโซน จากเวลา 21.00 น. เป็นเวลา 23.00 น. และการเปิดผับ บาร์ หรือคาราโอเกะ พยายามเสนอใน ศบค.และหารือกับ สธ.ว่าเรามีวิธีผ่อนปรนอย่างไร และจะเปิดเป็นโซนได้อย่างไรในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว
จากนั้น นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงมาตรการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และความพร้อมด้านวัคซีนและดูแลประชาชน ซึ่งนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ชี้แจงว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ควบคุมไม่ง่าย แต่สามารถรับมือได้ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โคไมครอนยังไม่ชัดเจน ทราบแค่ว่าอาการคล้ายกับสายพันธุ์เดลตา และวันที่ 2 ธ.ค. ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย ดังนั้นยังตอบไม่ได้ว่าต้องปิดประเทศหรือไม่ รวมถึงต้องไม่ผลีผลามตัดสินใจ แต่รัฐบาลไม่ประมาท เพราะยอมรับว่าไม่สามารถปิดกั้นโรคระบาดได้ 100% แต่มาตรการที่รัฐบาลและ สธ.ดำเนินการอยู่ในระดับน่าพอใจ
“ช่องทางธรรมชาติน่ากลัวที่สุด แต่นายกฯ สั่งการไปยังฝ่ายความมั่นคง หากพบผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ปล่อยปละจะดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ผมแปลกใจทุกครั้งที่จับคนลักลอบเข้าประเทศ จับได้แต่คนที่หนีเข้าประเทศ แต่จับคนนำพาหรือผู้ให้การพักพิงไม่ได้ โดยนายกฯ สั่งแล้วให้จัดการเด็ดขาด เพราะเป็นช่องทางที่เสี่ยงต่อการเล็ดลอดของไวรัสโอไมครอนมากกว่าทางอากาศ” รมช.สธ.กล่าว
สธ.ตาม782นทท.กลุ่มเสี่ยง
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงผลการเฝ้าระวังติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า เบื้องต้นประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน คือ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอตสวานา โมซัมบิก ซิมบับเว นามิเบีย มาลาวี เอสวาตินี เลโซโท และยังมีประเทศในทวีปอื่นๆ อย่าง บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ตุรกี เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยงสูงจากทวีปแอฟริกาผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 15-27 พ.ย.64 และวันที่ 5 ธ.ค.64 แบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ เดินทางเข้ามาวันที่ 15-30 พ.ย.2564 มีจำนวน 252 คน ในกลุ่มแซนด์บ็อกซ์ และกลุ่มเสี่ยงต่ำที่เดินทางเข้ามาวันที่ 15 พ.ย.-5 ธ.ค.64 จากประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา 452 คน ซึ่งเป็นทั้งกลุ่มแซนด์บ็อกซ์ และสถานที่กักกัน โดยรวมทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 782 คน
“หลายคนกังวลกลุ่มเดินทางเหล่านี้ไปที่ไหนบ้าง ขอเรียนว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อนมาต้องมีการตรวจเชื้อเป็นลบก่อน และเมื่อมาถึงวันแรกก็ต้องผลเป็นลบ หากเป็นบวกต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) ส่วนคนที่อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบเวลา 7 วัน ก่อนจะไปพื้นที่อื่นก็ต้องตรวจ ATK ว่าไม่พบเชื้อ อย่างน้อยๆ ตรวจ 3 ครั้งก่อนมาและมาถึงประเทศเรา อย่างไรก็ตาม เราแจ้งเพิ่มเติมว่าสำหรับผู้ที่มาจาก 8 ประเทศ นับตั้งแต่วันเข้าประเทศจนถึง 14 วัน จะขอตรวจ RT-PCR ก่อนอีกครั้งประมาณวันที่ 12 หรือ 13 ของการเข้าประเทศ แต่คนเหล่านี้เขาได้ฉีดวัคซีนมาแล้ว ก็ลดความเสี่ยงไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นขอให้อย่าวิตกกังวลเกินไป โดยไปคณะทำงานของกรมควบคุมโรคจะมีการประชุมว่ามีการติดตามติดต่อแล้วจำนวนเท่าไร อย่างไร เนื่องจากต้องยืนยันข้อมูลอีกครั้ง” นพ.เฉวตสรรกล่าว
ผอ.กองควบคุมโรคกล่าวว่า มาตรการในส่วน 8 ประเทศนั้น ไม่ได้ให้ขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2564 แต่คนที่ขอก่อนอาจมีบ้าง แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 จะไม่มีแล้ว และคนที่เดินทางเข้ามาก็เข้าสู่มาตรการควบคุมกักตัวจนครบ 14 วัน ส่วนจุดที่เป็นการติดตามคนที่เดินทางมาก่อนหน้านั้น หากเดินทางมาตั้งแต่ต้นเดือนผ่านเวลา 14 วัน ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ แม้เชื้อโควิด-19 จะบอกว่าระยะฟักตัวอาจอยู่ 2-14 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ที่พบจะเป็น 5-7 วัน มีอาการเริ่มป่วย หากเกิน 7 วันไปแล้ว ก็ค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมีได้ แต่ไม่ควรกังวลเกินไป เพราะเรามีมาตรการวัคซีน มาตรการป้องกันส่วนบุคคล หากยกการ์ดสูงก็ช่วยได้
จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ พ.ต.อ.ธเนศ สุขชัย ผกก.ตม.จังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวกรณีนักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกาใต้ 130 คน เดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ต กับการติดตามตัวควบคุมโรคโควิด-19 โดย นพ.กู้ศักดิ์กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในภูเก็ตได้รับการทำ RT-PCR 100%แน่นอน ไม่หลุดรอด ทำที่สนามบินภูเก็ต ไม่ได้ไปทำที่โรงแรม และใน 130 คนนี้ไม่มีการพบเชื้อ รวมทั้งตอนนี้ทั้ง 130 คน เหลืออยู่ในภูเก็ต 57 คน สามารถตามตัวได้แล้ว 17 คน ที่เหลือรอทางโรงแรมตอบกลับมา.