23 กันยายน 2564-“รมช.มนัญญา “ ประกาศตามล่า “มาเฟียโรงนม” โดยจะเข้าไปรื้อ มติ ครม. ปี 2562 ที่ให้แค่ อ.ส.ค.เป็นคู่สัญญาซื้อขาย ส่วนกรมปศุสัตว์ มีหน้าที่แบ่งโควตาให้เอกชน 70 ราย ตั้งคำถาม ทำไม ไม่ให้ สหกรณ์โคนมทั่วประเทศ มีสิทธิ์เข้าร่วม โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อเคลียร์ปัญหา
หลังจากนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาเปิดเผย ในเรื่องของผู้ประกอบการ นมโรงเรียน ไม่ยอมส่งนมให้เด็กจาก 17 โรงเรียนในจังหวัดระยอง ซึ่งในข้อมูลบ่งบอกถึงความไม่โปร่งใสในโควตาของผู้ประกอบการ นมโรงเรียน ที่ทำให้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เสียหาย เพราะเป็นผู้อนุญาตในการสัปทานการซื้อขาย
ล่าสุดวันนี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้ออกมาเปิดเผยเพิ่มเติม ในเรื่องผู้อยู่เบื้องหลังโควตาการได้มาซึ่งสัปทาน มีมาเฟียโรงนม
“เรื่องนี้ได้รายงานนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีให้ทำการตรวจสอบ วันนี้ได้แจ้งให้กับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เตรียมเอกสารทั้งหมด วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 เวลาบ่ายโมง ที่กระทรวง
เรื่องนี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ไม่ได้ทำตามลำพัง เพราะเรื่องนี้เป็นมติ ครม.ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งไม่เข้าใจว่ามติครม. ทำไมมติครม.ออกมาแบบนี้ เราไม่เข้าใจ ทำไมจะต้องมีสัญญากับ อ.ส.ค. ทำไมไม่ทำสัญญาโดยตรงกันเลย ทำไมเอา อ.ส.ค. มาเป็นหัว
คงเข้าใจว่า อ.ส.ค. เป็นนมที่มีคุณภาพ คุณก็ต้องซื้อจากนมที่มีคุณภาพ สหกรณ์หนองโพมีสิทธิ์ สหกรณ์ต่างๆ สามารถเสนอนมโรงเรียนได้ ไม่ใช่มากำหนดว่า จะต้องเป็นอันนี้ เป็นเจ้านี้ และผู้ยื่นเข้าไปขอจากกรมปศุสัตว์เคยเข้าไปตรวจไหม 70 บริษัทเคยเข้าไปตรวจไหม”
รมช.เกษตร กล่าวต่อว่า “เรื่องนี้จะต้องมีกรมปศุสัตว์มาเข้าร่วมประชุมด้วยว่า การเปลี่ยนแปลง มติ ครม. ทำไมถึงมีการเปลี่ยนแปลง ทำไม อ.ส.ค. ต้องเป็นคู่สัญญา และทำไม ถึงต้องมาทำเชื่อม ให้มาเป็นบริษัทต่างๆ ด้วย การแบ่งโควตาเป็นกรมปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์คือ การแบ่งโควตา
และกรมปศุสัตว์ ไปตรวจสอบดูไหมว่า การแบ่งโควตา ที่จะได้มาซึ่งเสนอมาแบบนี้ คืองบประมาณนี้ให้กับเกษตรกร อันดับ 1 คือ เด็กจะต้องมีนม ที่มีคุณภาพ และช่วยเหลือ เกษตรกรที่เลี้ยงโคนม ซึ่งบอกนมล้น นู่นนี่ อะไรต่างๆ แต่เวลาแบ่งโควตา เคยเข้าไปลงลึกถึงตรงนั้นไหม
และเคยไปดูไหมว่าคุณภาพของนมที่มาให้กับเด็ก มันเป็นคุณภาพนมขนาดไหน และผลิตอย่างไร มีการเลี้ยงโคขนาดไหน และในกล่องนั้นมีคุณภาพ มีโปรตีน มีไขมันเท่าไหร่ ถ้าทำการตรวจสอบจริงๆ คือ จะต้องล้างกันทั้งระบบเลย
ได้ข่าวว่ามาเฟียเยอะ มาเฟียนม มาเฟียโรงนม มติมันมีการเปลี่ยนแปลงปี 2562 และมติครม.นี่นะ อยากจะรู้นักว่า การเข้าช่วงเวลา การทำช่วงกันนี่ ทำไมต้องผ่านมติครม. บริษัทไหนรับ ที่เขาทำๆ กัน ทั่วๆ ไป บริษัท ในสัญญาเวลาเขาเขียน จะแยกออกมา
อย่างบริษัทรับเหมา สัญญามันต้องเขียนมาบอกเลยว่า สามารถที่จะไปรับช่วงได้นู่นนี่ แต่อันนี้มันเป็น อ.ส.ค. มติครม.ออกมาปี 2562 ว่า อ.ส.ค. ซึ่งเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ระดับประเทศไทยไม่ผสมนมผง
แต่วันนี้ อ.ส.ค. เป็นแค่ผู้ทำตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการนมโรงเรียน มันออกมาเป็นว่า มี อ.ส.ค. ทำสัญญาเดียวในประเทศไทย กรมปศุสัตว์ที่มีตำแหน่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการนมโรงเรียน จะมามอบให้กับ บริษัทไหนเป็นผู้ประกอบการซื้อขาย อ.ส.ค. ก็มีหน้าที่แค่ว่าขายหัวให้เฉยๆ ประเภทรายหัว เหมือนเอาหัวของ อ.ส.ค. ไป แต่ไปทำสัญญากับใครก็ได้ แล้วแต่ กรมปศุสัตว์จะเป็นผู้ไปใส่ในสัญญานั้น”
นางสาวมนัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเกิดมีการฟ้องร้องเมื่อไหร่ โรงเรียนไหนฟ้องร้องจะต้องฟ้องร้องคู่สัญญา แล้วก็ไปฟ้องร้อง อ.ส.ค. ด้วย ซึ่งมันเป็นภาระหน้าที่ มาเกี่ยวข้องกันไหม อ.ส.ค. มีส่วนได้เสียอะไรกับตรงนี้ เป็นแค่หัวเฉยๆ ทีนี้เรื่องมันต้องแตกออกมา จริงๆ แล้วโรงเรียนจะต้องเป็นคนที่มีผู้ที่อยากจะได้นม
สหกรณ์ไหน เจ้าไหนที่มีคุณภาพ โรงเรียนต้องมีสิทธิ์ ไม่ใช่ให้คนจัดสรรบงการ ดูการจัดสรรนมปีนี้ 30 บริษัท ปีหน้า 40 บริษัท อีกปีหนึ่งขึ้นไป 60 บริษัท และไอ้บริษัทที่งอกออกมา ก็เป็นบริษัทเก่าๆ หรือวนเวียนอย่างนี้ คือเราก็ไม่ได้ว่าใครนะ แต่เราพูดในทางที่ถูกต้อง
“กระทรวงศึกษาธิการ ก็ต้องเข้ามาเคลียร์ คือเราต้องคุยกับ กระทรวงศึกษาฯ ด้วย ว่ากระทรวงศึกษาฯ ต้องการแบบไหน กระทรวงศึกษาฯ ไปคุยกับโรงเรียนให้มีการฟ้องร้องนมบูด โรงเรียนนั้นๆ จากใครล่ะ คราวนี้ภาพใหญ่ มันจะกลายเป็นภาพเล็ก
และถ้ามันจะเกิดขึ้น เราไม่ได้ยึดติดว่าเราคุมหน่วยงานนี้ และต้องมาซื้อของเรา แต่เราให้กระทรวงศึกษาฯ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่ามีปัญหานม โรงเรียนหนึ่งมีปัญหา กว่าจะได้เรื่องได้ราว โรงเรียนต้องไปหากระทรวงศึกษาฯ ต้องไปชี้แจงใคร ว่ามีใครมีความผิด จะต้องไปหา อ.ส.ค. และ ต้องย้อนกลับมา บริษัทที่ทำสัญญา
ถามว่ากว่าเด็กจะได้กินนม นมบูดไปถึงไหนแล้ว จริงๆ แล้วกระทรวงศึกษาฯ ต้องเข้ามาดูด้วยเรื่องนี้ ที่เกี่ยวพันคือกระทรวงศึกษาฯ ต้องเข้ามาดู ว่าจะต้องการนมแบบไหน ให้กับเด็ก ให้เด็กเป็นผู้เลือกได้ไหม
ทุกวันนี้นมเอาไปทิ้ง อยู่ที่ไหนต่อไหน เด็กนักเรียนไม่ได้ดื่มนมที่อร่อย ไม่ได้ดื่มนมที่ ตามความต้องการ มันหมดสมัยในการยัดเยียดให้เด็กรับโน่นรับนี่ แล้วต้องถามเด็กว่า เด็กต้องการอะไร เริ่มจากความต้องการดื่มนมนี่แหละ คือสิ่งที่ถูกต้อง” รมช.เกษตร ฯ กล่าว