“ครัวต้นแบบ” เพื่อสงฆ์ไทยห่างไกลโรค

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสนอแนวทางสร้าง “ครัวต้นแบบ” พร้อมสื่อหลากหลาย ให้ความรู้ด้านโภชนาการและความปลอดภัยของอาหารสำหรับถวายพระสงฆ์ แนะศาสนิกชนทำบุญด้วยการสร้างโรงครัวที่ถูกสุขลักษณะเพื่อสงฆ์สุขภาพดี ห่างไกลโรค

การใส่บาตรและถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์เป็นการทำบุญที่ศาสนิกชนชาวไทยนิยม โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ ญาติโยมต่างนำเอาข้าวปลาอาหารมาถวายที่วัด หรือปรุงอาหารกันที่โรงครัวของวัด ซึ่งนอกจากพระสงฆ์จะได้ฉันแล้ว ชาววัดและชาวบ้านต่างก็ได้รับประทานอาหาร อิ่มทั้งกายและใจ แต่หลายครั้ง ความตั้งใจในบุญก็อาจทำให้เกิดโทษได้

“การศึกษาอาหารจากครัวของวัดและอาหารที่ตักบาตรทั่วไป เราพบความเสี่ยงสูงในการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในอาหารที่ถวายพระสงฆ์ ส่วนครัวในวัดนั้น จากวิธีการเก็บอาหารรักษาและการสัมผัสอาหารของผู้ปฏิบัติงาน มีความเสี่ยงที่ทำให้อาหารไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจส่งผลให้พระสงฆ์อาพาธจากโรคอาหารเป็นพิษได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์ หัวหน้าภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการศึกษาลักษณะปัญหาทางด้านความปลอดภัยอาหารในพระสงฆ์

“สุขาภิบาลอาหารในครัวของวัดหลายแห่งยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย อีกทั้งพระสงฆ์ แม่ครัวและญาติโยมที่มาช่วยงานครัวส่วนใหญ่ขาดความตระหนักเรื่องโภชนาการและความปลอดภัยอาหาร ที่จะส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ในระยะยาว ผู้มาถวายอาหารหรือผู้ที่เตรียมปรุงอาหารในโรงครัวของวัดอาจยังใส่ใจเรื่องความสะอาดไม่มากพอ มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนข้ามระหว่างอาหารดิบกับอาหารปรุงสุก

เช่น สถานที่เตรียมวัตถุดิบและปรุงประกอบอาหารยังอยู่บริเวณเดียวกัน ไม่แยกพื้นที่การใช้งาน ที่ชัดเจน การเตรียมวัตถุดิบและการเก็บวัตถุดิบไม่เหมาะสม วางวัตถุดิบหรือภาชนะอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารไว้บนพื้นโดยตรงหรือในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงการปกปิดอาหารปรุงสุกขณะพักก่อนนำไปถวายพระมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมได้ เป็นต้น” ผศ.ดร.ทิพยเนตร กล่าวถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพของพระสงฆ์โดยตรง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พัฒนา “คน” สร้าง “ครัวต้นแบบของวัด”

จากผลการศึกษาความปลอดภัยด้านอาหาร ผศ.ดร.ทิพยเนตร ร่วมกับ ศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช (หัวหน้าโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคฯ) ริเริ่มโครงการครัวสงฆ์ต้นแบบ เพื่อสงฆ์โภชนาการดี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยร่วมมือกับสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในการพัฒนาครัวมจร. เป็นพื้นที่วิจัยและพัฒนาครัวต้นแบบ

“สิ่งที่สำคัญในการสร้างครัวต้นแบบคือคน” ผศ.ดร.ทิพยเนตร กล่าวเน้น “การพัฒนาคนเพื่อสร้างครัวต้นแบบต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้กับพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องถึงข้อดีและประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำครัวต้นแบบ จากนั้น ก็เริ่มอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการและความปลอดภัยอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนระหว่างการปฏิบัติงาน แนะนำผู้ปฏิบัติงานให้ล้างมือให้สะอาดตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ตรวจความสะอาดมือด้วยชุดทดสอบ SI-2 และฝึกตรวจการปนเปื้อนวัตถุดิบเบื้องต้นด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว เช่น สารบอแรกซ์ ฟอร์มาลิน สารฟอกขาว เป็นต้น”

หลังการอบรม โครงการฯ จัดให้มีการสอบวัดความรู้ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ “แม่ครัวในครัว มจร. มีความเข้าใจและตระหนักในความปลอดภัยทางด้านอาหารดีขึ้น” ผศ.ดร.ทิพยเนตร กล่าว

นอกจากนี้ โครงการยังพาผู้ที่เกี่ยวข้องกับครัวของวัดไปดูงานครัวที่ได้มาตรฐานสากลด้วย อาทิ ครัวการบินไทย ฝ่ายโภชนาการของโรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และโรงพยาบาลราชวิถี

“เราอยากให้ผู้เกี่ยวข้องมีประสบการณ์ตรง ได้เห็นลักษณะต้นแบบครัวมาตราฐานในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเกิดไอเดียและต่อยอดในการพัฒนาครัวที่ทำอาหารถวายพระสงฆ์ให้ได้มาตรฐาน เห็นการปฏิบัติตัวในครัวตามหลักสุขาภิบาลอาหารควรเป็นอย่างไร เห็นแนวทางการจัดเมนูอาหารเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์ รวมถึงสร้างความตระหนักและความสำคัญของเครื่องแต่งกายในการประกอบอาหารในครัว ต้องมีการใส่หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย ถุงมือและเสื่อผ้าที่สะอาดสำหรับการประกอบอาหารในครัว แยกจากชุดที่ใส่จากบ้าน เป็นต้น”

สิ่งต้องมี ต้องเป็น ของครัวต้นแบบ

ผศ.ดร.ทิพยเนตร ได้ร่วมพัฒนาครัวของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ให้เป็นครัวต้นแบบและได้รับการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งครัวต้นแบบควรมีลักษณะสำคัญ ดังต่อไปนี้

• มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอในการปฏิบัติงาน เพราะหากครัวเล็กไปจะทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ง่าย คนทำงานลำบากและอาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานได้
• ครัวที่ดีต้องเป็นครัวระบบปิด ไม่ใช่ระบบเปิดที่ใครต่อใครก็สามารถเข้า-ออกได้ตลอดเวลา พื้นที่ครัวควรเป็นพื้นที่เฉพาะของผู้ปฏิบัติงานในการเตรียมปรุงประกอบอาหารแล้วเท่านั้น
• ครัวควรมีทางเข้าทางออกของวัตถุดิบและอาหารปรุงสุกคนละทางกัน (one way) เริ่มจากบริเวณที่สกปรกไปสะอาดขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการย้อนกลับเด็ดขาด และแยกพื้นที่การทำงานชัดเจนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม
• แม่ครัวและผู้ที่ปฏิบัติงานในครัวที่ทำงานประจำในวัดควรรับการอบรมสุขาภิบาลอาหารและขึ้นทะเบียนเป็นผู้สัมผัสอาหาร
• คนที่จะเข้ามาช่วยงานหรือใช้พื้นที่ครัวของวัดปรุงประกอบอาหารถวายพระสงฆ์เป็นครั้งคราว ควรผ่านการอบรบสุขาภิบาลอาหารเบื้องต้นและใส่เครื่องแต่งกายที่ทางวัดจัดไว้ให้ เช่น ชุดสำหรับทำงานครัว (ถ้ามี) ผ้ากันเปื้อน หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม ถุงมือ เป็นต้น
• วัตถุดิบอาหารและอุปกรณ์การทำครัวต่างๆ จัดเก็บเป็นระบบ มีระเบียบและแยกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนข้ามจากอาหารดิบสู่อาหารปรุงสุก และจากสัตว์พาหะนำโรค เช่น อ่างล้างวัตถุดิบกับอ่างล้างจานต้องไม่ใช้รวมกันและอยู่แยกบริเวณกัน บริเวณเก็บอาหารดิบและอาหารสุกควรแยกจากกัน เขียงและมีดที่ใช้สำหรับอาหารสุกแยกจากเขียงและมีดที่ใช้กับอาหารดิบ วางอาหารและภาชนะสูงจากพื้น อย่างน้อย 60 ซม ตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร มีการป้องกันสัตว์พาหะนำโรคมาสัมผัสอาหารปรุงสุก ภาชนะ วัตถุดิบ เป็นต้น
• ควรผ่านการรับรองความปลอดภัยอาหารจากกระทรวงสาธารณสุข และมีทีมตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารภายในวัด เพื่อคอยเฝ้าระวังและพัฒนาครัวและการปฏิบัติงานของผู้เกี่ยวข้องในครัว


ครัวสงฆ์มั่นใจ ต้านภัยโควิด

ครัวต้นแบบเน้นความปลอดภัยและความสะอาดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ผศ.ดร.ทิพยเนตร ได้เพิ่มเติมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการแพร่ระบาด

“โครงการได้จัดทำคลิปวิดีทัศน์และสื่ออินโฟกราฟฟิก “ครัวสงฆ์มั่นใจ ต้านภัยโควิด” สำหรับครัวต้นแบบเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 เช่น การเตรียมน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรด์สำหรับฆ่าเชื้อโควิด-19 การให้ความรู้วิธีการทำความสะอาดไข่ก่อนนำไปเก็บหรือประกอบอาหาร ขั้นตอนการจัดเก็บวัตถุดิบและภาชนะพร้อมใช้ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 การจัดเก็บขยะให้ปลอดภัยจากโควิด-19 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสื่อถวายความรู้พระสงฆ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตนขณะฉันอาหาร การล้างบาตรและภาชนะและวิธีล้างมือของพระสงฆ์ 9 ขั้นตอน ให้ปลอดภัยจากโควิด-19”

ร่วมมือสร้างและทำให้เกิดครัวที่ถูกสุขลักษณะตามแนวทาง “ครัวต้นแบบ”

ผศ.ดร.ทิพยเนตร เสนอแนวคิดว่า นอกจากการถวายอาหารเพื่อทำบุญแล้ว การถวายปัจจัยพัฒนาโครงสร้างอาคารครัวและอุปกรณ์ใช้สอยภายในครัวให้ได้มาตรฐาน หรือร่วมมือสร้างและทำให้เกิดครัวที่ถูกสุขลักษณะตามแนวทาง “ครัวต้นแบบ” ตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากล น่าจะเป็นการสร้างบุญกุศลอย่างยิ่่งได้เช่นกัน เพราะเป็นการส่งเสริมความปลอดภัยต่อสุขภาพของพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนิกชนให้ลดเสี่ยงจากการอาพาธด้วยโรคอาหารเป็นพิษ สามารถเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มศักยภาพ

“ถ้าวัดไหนไม่มีผู้ที่ดูแลหรือระบบการบริหารจัดการ มีเฉพาะครัว อย่างน้อยก็จัดให้มีอ่างล้างมือบริเวณทางเข้าครัว มีหมวกคลุมผมและหน้ากากอนามัยให้ใส่ก่อนเข้าครัวเตรียมอาหารถวายพระสงฆ์ และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ใช้โอกาสนี้ในการเริ่มต้นการปรับพฤติกรรมฆารวาสที่เกี่ยวข้องกับครัว เริ่มต้นเพียงสามอย่างนี้ – ล้างมือ ใส่หมวก สวมหน้ากาก ก็ช่วยสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหารเบื้องต้นให้พระสงฆ์ได้ เราจะได้ทำบุญแล้วได้บุญอย่างแท้จริง”

สนใจข้อมูลเรื่อง “ครัวต้นแบบ” และสื่อต่างๆ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์สงฆ์ไทยไกลโรค www.sonkthaiglairok.com

[แพ็คสุดคุ้ม] Pantene แพนทีนโกลด์ สูตรผมเด้งมีน้ำหนัก แชมพู 530 มล+ครีมนวด 530 มล Pantene Gold Perfection Weighty Bounce
 

Written By
More from pp
“ธนกร” ชม “บิ๊กตู่” ทำหน้าที่สมศักดิ์ศรีผู้นำไทย ในฐานะประธาน ส่งผลให้ เอเปก 2022 สร้างความประทับใจผู้นำและสื่อมวลชนทั่วโลก
“ธนกร” ชม “บิ๊กตู่” ทำหน้าที่สมศักดิ์ศรีผู้นำไทย ในฐานะประธาน ส่งผลให้ เอเปก 2022 สร้างความประทับใจผู้นำและสื่อมวลชนทั่วโลก ยกย่องเป็นหนึ่งในการประชุมที่ดีที่สุดอีกครั้ง อัดฝ่ายค้านมั่วแต่ด้อยค่าทั้งที่ประเทศได้ประโยชน์มากมาย
Read More
0 replies on ““ครัวต้นแบบ” เพื่อสงฆ์ไทยห่างไกลโรค”