นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช เผย ปปง.ประกาศคุ้มครองสิทธิ หลังจากที่เจ้าตัว และ ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องให้กับเลขา ปปง เลขที่ สอ 456 บัดนี้คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ ดังนั้น ผู้เสียหายทุกคน เน้นว่าทุกคนต้องไปยื่นขอคุ้มครองสิทธิภายใน 30 วัน ตามรายละเอียดดังนี้
ตามที่ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 3 รายคดี ได้แก่ ราย นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก ราย นายจิตรภณ นิศารัตน์ กับพวก และราย นางสาวณิชาภา อภิเพชรวาณิช กับพวก มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมติ นั้น
สำนักงาน ปปง. ได้เปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในรายคดีดังกล่าว โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย สามารถยื่นคำร้องฯ พร้อมแนบหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหาย เช่น สำเนาหลักฐานการแจ้งความ สำเนาคำสั่งหรือคำพิพากษา หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้ได้รับความเสียหาย และเอกสารทุกฉบับต้องรับรองสำเนาถูกต้อง
กำหนดยื่นคำร้องฯ ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2564 โดยผู้เสียหายสามารถยื่นเอกสารได้ทางช่องทางดังต่อไปนี้
สามารถยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (จ่าหน้าซองที่ สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โดยวงเล็บมุมซองด้านบนว่า “ส่งแบบคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ คดีราย ……………………………”)
เว้นแต่ กรณีมีเหตุอันควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ได้แก่ อยู่ต่างประเทศ, เจ็บป่วยจนไม่สามารถดำเนินการได้ และมีใบรับรองแพทย์มาแสดง, เสียชีวิต หรืออยู่ระหว่างการตั้งผู้จัดการมรดก, เหตุอันควรในกรณีอื่นๆ (ถ้ามี) โดยต้องยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาอันสมควรนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวที่ไม่อาจยื่นคำร้องนั้นได้สิ้นสุดลง
กรณีที่เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน หากพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว ท่านจะต้องนำส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ (ทั้งนี้ ระยะเวลานำส่งเอกสารเพิ่มเติมดังกล่าวต้องอยู่ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ผู้ประสงค์จะยื่นคำร้องฯ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำร้องเพื่อขอให้ศาลนำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 33)
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้องฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของสำนักงาน ปปง. อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน ปปง. ได้ทางเว็บไซต์และ Facebook สำนักงาน ปปง. หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามสายด่วน 1710 (วันและเวลาราชการ)
“ผมพร้อมเคียงข้างไปกับผู้เสียหายทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสู้และผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นายสามารถกล่าว
การขอคุ้มครองสิทธิ เป็นเพียงความสำเร็จแรกเท่านั้น ยังต้องรอกระบวนการยุติธรรมโดยให้ศาลเป็นผู้สั่ง ผมว่าถึงเวลาที่รัฐบาลคงต้องลงมาปฏิรูปให้ความยุติธรรมนั้นถึงมือประชาชนผู้เสียหายอย่างรวดเร็วและทันที
เวลาจับโจรปล้นร้านทอง ปล้นธนาคาร ได้ทรัพย์สินของกลางก็คืนให้ร้านทอง ให้ธนาคารเลย แต่พอแชร์ลูกโซ่ โกงไปกลับต้องรอศาลสั่ง ทั้งที่หลักฐานชัดเจน แต่เงินก็ยังคืนให้ไม่ได้ทันที
ดังนั้นผมขอหยิบคำพูดนึงของ จี เค เชสเตอร์ตัน มาเป็นกำลังใจให้กับผู้เสียหายจากการถูกฉ้อโกงประชาชนว่า
“นักรบไม่ได้ต่อสู้ เพราะเขาเกลียดชังศัตรูเบื้องหน้า แต่เขาสู้เพราะรักสิ่งที่อยู่ข้างหลัง”
ผมสู้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่โดนโกงมามากกว่า5แสนคน แล้วจะสู้ต่อไป ทุกก้าวที่ทำ ผมมั่นใจว่าผมและทุกๆท่านกำลังทำเพื่อคนข้างหลัง ดังนั้นผู้เสียหายคดีประสิทธิ์ ขอให้รีบเตรียมพยานหลักฐานไปยื่นที่ปปง ก่อนวันที่ 12 ตุลาคม 2564 นะครับ
ดีใจกับความสำเร็จก้าวแรก ขออนุญาตนำภาพแสดงให้ถึงพลังบริสุทธิ์ที่ทำเพื่อคนอื่น ผมต้องขอชื่นชมทุกคนในภาพที่ทำเพื้อคนอื่น จึงมีผลให้ ปปง ประกาศคุ้มครองสิทธิ ในวันนี้
แชร์ลูกโซ่ เหมือน คลื่นกระทบฝั่งที่ไม่มีวันจบ ตราบใดยังเดินด้วยกฏหมายเดิมที่มีอยู่ ฝากท่านนายกฯต้องกล้าทำเหมือนพลเอกเปรม ครับ