ข่าวดีในดงข่าวร้าย-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เจอข่าวร้ายทุกวันก็ไม่ไหว

            ทั้งที่ข่าวดีก็มีอยู่ทุกวันเหมือนกัน

  ฉะนั้นวันนี้มาว่ากันเรื่องข่าวดีกันครับ

            ไม่ใช่ดีธรรมดา

            แต่โคตรดี

            เรื่องของความคืบหน้าวัคซีนสัญชาติไทย เป็นการรายงานสถานการณ์น่ะครับ

            วานนี้ (๑๖ สิงหาคม) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แถลงข่าว ผลการทดสอบวัคซีน ChulaCOV-๑๙ ในอาสาสมัคร

หน้ากากอนามัยทรงเกาหลี กันฝุ่น กันไวรัส ทรงเกาหลี 3D หน้ากากอนามัย เกาหลี KF94 สินค้า1แพ็ค10ชิ้นสุดคุ้ม ส่งเร็วภายใน 24 ชม.

            โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลตามนี้ครับ

            การทดลองวัคซีน ChulaCOV-๑๙ ในระยะที่ ๑/๒ เมื่อวันที่  ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ที่เริ่มฉีดเข็มแรกในอาสาสมัครอายุ ๑๘-๕๕ ปี  จำนวน ๓๖ คน ซึ่งฉีดครบ ๒ เข็มแล้ว

            ผลพบว่าสามารถยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี จากการตรวจภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครถึงการสามารถยับยั้งการจับตัวของ RBD หรือโปรตีนที่กลุ่มหนาม หากจับได้แสดงว่าไวรัสโควิดไม่น่าจะเข้าเซลล์ได้ด้วย

            จากการเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ในการยับยั้งพบว่า วัคซีน  ChulaCOV-19 อยู่ที่ ๙๔% ไฟเซอร์ ๙๔% แอสตร้าเซนเนก้า  ๘๔% ซิโนแวค ๗๕%

            จากรายงานหากการยับยั้งเกิน ๗๐% ก็น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ

            สำหรับผลข้างเคียงที่ใครหลายคนกลัวกัน สรุปผลการทดลองเบื้องต้น จากอาสาสมัคร ๓๖ คน ยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงใดๆ

            มีเพียงผลข้างเคียงเล็กน้อยและดีขึ้นภายใน ๑-๓ วัน ส่วนใหญ่จะเจ็บแผลจากการฉีด อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ และจะปวดมากขึ้นในเข็มที่ ๒

            ส่วนการกระตุ้นภูมิ T-cell ที่สร้างแอนติบอดี เพื่อไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ได้ หลังฉีดเข็มที่ ๑ พบผลกระตุ้นภูมิใกล้เคียงกับไฟเซอร์

            แต่หลังฉีดเข็มที่ ๒ และวัดผลหลัง ๓ สัปดาห์ พบว่า T-cell ของ  ChulaCOV-19 อยู่ที่ ๔,๕๑๔ และของไฟเซอร์อยู่ที่ ๑,๗๔๒ แสดงถึงความสามารถในการยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี

            ผลต่อการยับยั้งข้ามสายพันธุ์ประเด็นนี้อธิบายในเชิงเทคนิคสักนิดหนึ่งครับ

            มีการตรวจในแล็บด้วยเทคนิค Pseudovirus จากตัวเลขที่ทำวิจัยจุดตัดที่สามารถป้องกันอาการของโรคโควิดได้ประสิทธิภาพ หากจุดตัดอยู่ที่ ๖๐ แสดงว่าความสามารถในการป้องกันก็จะอยู่ที่ ๖๐%  และจุดตัดเกิน ๑๘๕ แสดงว่าความสามารถในการป้องกันก็จะอยู่ที่  ๘๐%

            เมื่อตรวจสอบวัคซีนที่ใช้ทั้งไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม อัลฟา เบตา  แกมมา และเดลตา พบว่า วัคซีน ChulaCOV-19 มีจุดตัดเกิน  ๑๘๕

            รออะไรล่ะครับ ปรบมือซิ!

            แสดงว่าวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อได้ทั้ง ๔ สายพันธุ์

            แต่..อุปสรรคมีไว้พุ่งชน

            วัคซีนที่ ทดลองการผลิตยังเป็นการนำเข้าจากแคลิฟอร์เนีย แต่หากจะผลิตในประเทศที่โรงงานจังหวัดอยุธยา ก็จะต้องมีการทดสอบคุณภาพและมาตรฐานว่าเทียบเท่าจากที่ส่งมาจากแคลิฟอร์เนียหรือไม่

            หากเทียบเท่า ไทยก็จะมีทั้งวัคซีนที่นำเข้าและจากที่ผลิตในประเทศ

            และเรามีโรงงานของ ไบโอเนท-เอเชีย ที่มีความสามารถผลิตวัคซีน  mRNA ได้แล้ว และสามารถขยายกำลังการผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้

            มาถึงคำถามสำคัญ ที่คนไทยทุกคนอยากรู้

            วัคซีนของจุฬาฯ ใช้ได้เมื่อไหร่?

            “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” อธิบายตรงไปตรงมา ถ้า อย.ปรับกติกาที่คาดว่าจะออกข้อกำหนดการขึ้นทะเบียน รับรองการทดลองเฟส  2B ได้ ก็คาดว่าคนไทยจะได้วัคซีนของจุฬาฯ ประมาณ สงกรานต์ปีหน้า

            แต่ถ้าต้องทำการทดลองเฟส ๓ ระยะเวลาที่จะได้วัคซีนใช้ จะต้องยืดออกไปอีก

            ก็อยู่ที่ อย.ครับ

            งานนี้ถ้าสำเร็จเราจะมีทั้ง ไบโอเนท-เอเชีย และ สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นฐานการผลิตวัคซีน และจะเป็นหลักประกันว่า ตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป จะไม่มีคำว่า วัคซีนไม่พอ

            เท่านั้นยังไม่พอ

            เรายังมีวัคซีนจากใบยา

            เทคโนโลยีการผลิตต่างจาก mRNA อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นโมเลกุลโปรตีนจากพืช คือใส่ยีนเข้าไปในพืช แล้วใช้กระบวนการผลิตของพืช ผลิตโปรตีนที่เราต้องการ

            โปรตีนที่ได้จึงมีความบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นเทคโนโลยีที่มีมากว่า ๑๕ ปี เคยใช้รักษาโรคอีโบลา

            ผู้พัฒนาวัคซีนชนิดนี้คือ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ คนต้นคิดวัคซีนจากใบยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร ทั้งคู่ทำงานแบบสตาร์ทอัพ ในนามบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในความดูแลของ CU Enterprise

            โดยการวิจัยพัฒนา ดำเนินการโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จํากัด, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล

            ความคืบหน้าคือ ขณะนี้อยู่ในขั้นทดลองกับอาสาสมัครกลุ่มแรก จำนวน ๕๐ คน อายุ ๑๘-๖๐ ปี

            คาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี ๒๕๖๕

            ถัดมาคือ วัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวัคซีนเชื้อตาย “HXP-GPOVac” พัฒนาโดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สถาบัน PATH และ The  University of Texas at Austin

            สถานะ อยู่ระหว่างทดลองในอาสาสมัคร ในระยะที่ ๒ คาดว่าได้ฉีดไม่เกินกลางปีหน้าเช่นกัน

            และสุดท้าย วัคซีนไบโอเทค สวทช.  

            ทีมวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ออกมา ๓ ประเภท  คือ

            ๑.วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) หรือ วัคซีนอนุภาคไวรัสเสมือน เป็นเทคโนโลยีการสร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัส แต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุในโครงสร้างดังกล่าว  ด้วยเหตุผลดังกล่าววัคซีนรูปแบบนี้จึงปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปก์จากผิวของวัคซีนได้ด้วย

            ๒.วัคซีนประเภท Influenza-based คือการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปก์ของไวรัส SAR-CoV-2 หลังจากนำส่งเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ SARS-CoV-2 ได้ในเวลาเดียวกัน

            ๓.วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based คือ การปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อและสามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว และเพิ่มยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนสไปก์เพิ่มลงไปในสารพันธุกรรมของไวรัส เมื่อนำไวรัสชนิดนี้ฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนสไปก์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ซึ่งทีมได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาในหลอดทดลองและทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองและประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อการคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นจริงในเฟสต่างๆ

            มาถึงไฮไลต์

            วัคซีนทั้ง ๓ ประเภท มี ๒ ชนิดเป็นวัคซีนแบบพ่นจมูก

            คือวัคซีนชนิด Adenovirus ผ่านการทดสอบในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ แล้วพบว่า หนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วย   ยังมีน้ำหนักขึ้นสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามอย่างเห็นได้ชัด ผลการทดสอบความปลอดภัยไม่มีปัญหา

            และวัคซีนชนิด Influenza virus การทดสอบในหนูทดลอง โดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอยและฉีดเข้ากล้าม พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งในรูปแบบแอนติบอดี และ T-cell ได้สูง เช่นเดียวกัน

            จากนี้จะยื่นเอกสารต่อ อย.เพื่อขอทดสอบในมนุษย์

            หาก อย.อนุมัติเร็ว ก็เริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี ๒๕๖๔ และต่อเนื่องเฟส ๒ ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๕

            หากได้ผลดีจะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี ๒๕๖๕

            ครับ…บางส่วนอาจเข้าใจยากนิดหนึ่งเพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค  แต่โดยรวม เราจะมีวัคซีนโดยคนไทย ๔ ตัว ใช้กลางปีหน้า

            มานั่งคิดดู หากมีเหตุให้ “ลุงตู่” ต้องลงจากตำแหน่งไปก่อนกลางปีหน้า ก็ขอให้รัฐบาลใหม่รับรู้ว่า วัคซีนโดยคนไทยนั้นทำเขาวิจัยกันหัวหกก้นขวิดเป็นปีๆ แล้ว

            อย่าเคลมเป็นผลงานตัวเองซะล่ะ.


Written By
More from pp
“เสือวิจิตร” เสือหนุ่มห้วยขาแข้ง ตายในพื้นที่ อุทยานฯ แม่วงก์ คาดต่อสู้แย่งชิงอาณาเขต
14 มกราคม 2566 นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยถึงกรณีพบเสือโคร่งตายภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชรว่า
Read More
0 replies on “ข่าวดีในดงข่าวร้าย-ผักกาดหอม”