เดรัจฉานยังชอบคำพูดที่ไพเราะ

ผักกาดหอม

อ่าน บทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คำหยาบ เสมอภาค  และลัทธิโรแมนติกนิยม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๒-๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ เหมือนหลุดไปอยู่อีกโลก
คำหยาบไม่ใช่ปัญหา
แต่อยู่ที่วิธีใช้
เชื่อว่าสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนเริ่มสอนลูก เมื่อลูกพูดได้คือ ไม่ให้ลูกพูดคำหยาบ
เด็กที่ได้รับการอบรม ไม่ให้พูดคำหยาบอย่างมีเหตุมีผล เด็กกลุ่มนี้จะรู้กาลเทศะ และรู้บริบทของการใช้คำหยาบ
ไม่หยาบคายพร่ำเพรื่อ

เด็กกลุ่มนี้บางคนไม่พูดคำหยาบเลย กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุภาพ จนผู้อื่นเกรงอกเกรงใจ
หากพ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอนเลย ลูกก็จะมีความหยาบโดยสันดาน เพราะพ่อแม่เองก็เป็นคนใช้คำหยาบคายจนเป็นปกติวิสัยนั่นเอง

ในเชิงจิตวิทยา พบเห็นบ้างเหมือนกันว่าการใช้คำหยาบ คือการระบายอารมณ์ที่ปะทุอยู่ข้างใน และมีคำแนะนำจากจิตแพทย์ว่า ควรพูดคำหยาบบ้างเพื่อปลดปล่อย
ลดสิ่งคั่งค้างในใจ
แต่นั่นไม่ใช่บริบทของการก้าวร้าวต่อผู้อื่น

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป
….“อ้าว งั้นเหรอ” ผมนึกในใจ คงจะรำพึงผิดคนไปเสียแล้ว เนื่องจากโตมาในโรงเรียนประจำชาย ผมจึงได้ยินและใช้คำเหล่านั้นมาจนไม่เคยรู้สึกว่าหยาบ ฉะนั้น จึงไม่ระคายเคืองหูกับคำพูดคุยของแกนนำบนเวทีเลย….

นิธิพูดถึงเพื่อนที่อายุใกล้เคียงกัน รำพึงเชิงถามจากต่างประเทศว่า ทำไมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวัยรุ่นไทยจึงต้องใช้คำหยาบอย่างนั้นวะ…..

ผมเองก็จบจากโรงเรียนชายล้วน ได้ยินและสัมผัสกับคำหยาบทุกวัน
แต่ในบริบท เพื่อนคุยกับเพื่อน
ตามประสาเด็กวัยรุ่นคุยกัน
หากนำภาษาเดียวกันนี้ไปใช้ที่อื่น บริบทอื่น จะกลายเป็นคนละเรื่องไปทันที ขณะที่ “นิธิ” กลับบอกว่า ไม่ระคายเคืองหูกับคำพูดคุยของแกนนำบนเวทีเลย

นี่คือความผิดปกติ ที่จะพูดคุยกันในวันนี้
ขอถาม “นิธิ” เราสามารถนำภาษาที่พูดกับเพื่อน ไปพูดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ได้หรือไม่
การพูดคำว่า “ไอ้เหี้ย” ในบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด กับผู้ใหญ่ในครอบครัว ระคายหูหรือไม่
ถ้าไม่ระคายหู?
ถามเพิ่มเติมว่า พูดคำเดียวกัน กับผู้ใหญ่ในครอบครัว  แต่เปลี่ยนเป็นพูดในที่สาธารณะ หรือเขียนในโซเชียล รู้สึกระคายหูหรือเปล่า

“นิธิ” ตีความคำพูดของแกนนำ ๓ นิ้วบนเวทีปราศรัยอย่างไร?
คำหยาบที่ใช้เป็นการสื่อสารกันเองระหว่างคนปราศรัยกับคนฟัง หรือ ใช้คำหยาบบนเวทีปราศรัยโจมตีบุคคลอื่นให้มวลชนฟัง
คำหยาบที่เกิดขึ้นในสองบริบทนี้มีความหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ที่จริงเวทีปราศรัยทางการเมืองแทบทุกเวที ล้วนมีคำหยาบด้วยกันทั้งนั้น
และส่วนใหญ่เป็นการใช้คำหยาบด่าบุคคลที่สามให้มวลชนฟัง
ขณะที่บนเวทีม็อบ ๓ นิ้วต่างออกไป

ด่านายกฯ ด่านักการเมือง ด้วยคำหยาบคาย อาจเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้บนเวทีปราศรัย ซึ่งไม่ควรสนับสนุน
แต่การใช้คำหยาบด่าสถาบัน ด่าพระมหากษัตริย์ ด่าพระบรมวงศานุวงศ์ บนเวทีปราศรัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ใช่เรื่องปกติ
ไม่ใช่เรื่องความเสมอภาคแน่นอน

การใช้คำหยาบคายไม่ว่ากับใครก็ตามไม่ใช่เรื่องที่ควรสนับสนุน
เพราะทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
คนกวาดถนนก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
“โคนันทวิศาล” ก็ชอบที่จะให้ผู้อื่นพูดไพเราะกับตนเอง

“เฮ้ย! เจ้าโคขี้โกง แกจงลากเกวียนออกไปจากที่นี่เร็วเข้า”
“ลูกเอ๋ย เจ้าจงลากเกวียนร้อยเล่มนี้ไปเถอะ พ่อพร้อมแล้ว”
ไม่ต้องบอกว่าประโยคไหนที่ทำให้ “โคนันทวิศาล”  ลากเกวียนทั้งร้อยเล่มเคลื่อนที่ไปไม่รอช้า
แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังชอบใจคำพูดที่ไพเราะเสนาะหู


เราจึงไม่ควรพูดคำหยาบคายไม่ว่ากับใครก็ตาม
“นิธิ” ยก บริบท ทางสังคมและวัฒนธรรม บอกว่า…

…เมื่อผมเป็นเด็กจนถึงหนุ่ม เขาลือกันหนาหูว่า พวกเจ้าทั้งหญิงและชายใช้คำหยาบในการพูดจามากและอย่างเป็นธรรมชาติด้วย สมัยหนึ่งก่อนหน้าที่ผมจะเข้าเรียน คณะในมหาวิทยาลัยที่ผมเข้าเรียน มีเจ้านับตั้งแต่หม่อมเจ้าลงมาถึงเชื้อพระวงศ์ระดับ ม.ร.ว.ลงมาเข้าเรียนกันมาก  ดังนั้น คนที่ลือเรื่องนี้ให้ฟังคือรุ่นพี่ระดับน้าๆ แม้ในโรงเรียนประถมที่ผมเคยเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียน “สหศึกษา”  ก็มี ม.ร.ว., ม.ล., หญิงอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นช่วงสงคราม โรงเรียนในเขตชั้นในกรุงเทพฯ ต้องปิดเรียนกันหมด จึงทำให้ผู้ลากมากดีต้องมาเรียนในโรงเรียนชานกรุง ผมก็ได้ยินเรื่องเจ้าพูดหยาบจากรุ่นพี่ๆ เหมือนกัน

ความเข้าใจของผมเกี่ยวกับเรื่องที่ผมถือว่าเป็นข้อเท็จจริงนี้ก็คือ ไม่ใช่คนในตระกูลเจ้าขาดการอบรมบ่มเพาะด้านการใช้ภาษา ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผมคิดว่าพวกเขาเก่งในการปรับเปลี่ยนภาษาเพื่อใช้กับคนที่มีสถานภาพต่างกันได้อย่างคล่องแคล่วกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่คงใช้ราชาศัพท์กราบทูลเจ้านายชั้นสูงได้อย่างลื่นไหลทั้งนั้น แต่เมื่อพูดกับคนที่มีสถานภาพต่ำกว่า ก็กลับมาใช้ภาษาธรรมดาซึ่งอาจมีคำที่คนทั่วไปเห็นว่า “หยาบ” ปนอยู่ด้วย และได้อย่างลื่นไหลเท่าๆ กัน….


บางส่วนใช่!
ยกตัวอย่าง “หม่อมเต่า” หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ท่านไม่ใช่คนพูดไพเราะ บรรดานักข่าวต่างรู้ดีว่าปากจัด แต่ท่านก็พูดในแวดวงเพื่อนฝูง คนรู้จัก
ไม่ได้เอาคำหยาบไปพูดในบริบทอื่น
จึงไม่เข้าใจว่า “นิธิ” ยกตัวอย่างนี้มาเพื่ออะไร

หรือจะสรุปว่า ในเมื่อเจ้าก็พูดหยาบ ทำไมบนเวทีปราศรัย ๓ นิ้วจะพูดหยาบไม่ได้…อย่างนั้นหรือเปล่า?
นี่ใช่มั้ยที่บอกว่า คำหยาบ เสมอภาค

“นิธิ” อายุก็เยอะแล้ว เห็นอะไรมาก็มาก เป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ รู้ที่มาและความต่อเนื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างดี
แต่กลับเมินเฉยต่อการกระทำของม็อบ ๓ นิ้ว หนำซ้ำยังตะแบงอธิบายเพื่อให้คำหยาบบนเวทีปราศรัย ๓ นิ้วกลายเป็นคำทั่วไป

……ถึงระดับนี้ “คำหยาบ” ทั้งหลาย แทบไม่เหลือความหมายตามตัวอักษรอีกแล้ว สัตว์เลื้อยคลานก็ไม่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน “แม่ง” ก็ไม่ได้หมายถึงแม่ของมึงหรือของมัน อวัยวะเพศชายก็ไม่ได้หมายถึงอวัยวะเพศชาย แม้พูดถึงเพศสัมพันธ์กับมารดาคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าอยากหรือเคยมีเพศสัมพันธ์จริง ฯลฯ

จุดมุ่งหมายเดิมของ “คำหยาบ” เพื่อล่วงละเมิดหรือด้อยค่าคนอื่น หายหรือเกือบหายไปโดยสิ้นเชิง….
ถ้าบริบทเพื่อนกับเพื่อน ก็ไม่แปลก
แต่ “นิธิ” ก็รู้ว่า ๓ นิ้วปราศรัยโจมตีสถาบันเกือบ  ๑๐๐% หลายครั้งพาดพิงไปถึงในหลวง ร.๙ แล้วจะตะแบงยืดยาวเพื่ออะไร

ถ้าคิดว่าคำหยาบใช้ได้กับทุกคน ทุกบริบท ก็ป่วยการที่จะพูดกับคนที่มีความรู้ระดับศาสตราจารย์ครับ
ช่างมันเถอะครับ แม่ง สัส นิธิ
โรแมนติกนิยมฉิบ…



Written By
More from pp
หยุดแจกเงินดิจิทัล!-ผักกาดหอม
ผักกาดหอม เกาหัวแกรกๆ ครับ…. ยิ่งนานวันนโยบายแจกเงินผลาญชาติ จะดูวุ่นวายยิ่งกว่าจับปูใส่กระด้ง ล่าสุดฟัง “ช่วยคลัง-จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” กับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล ๑ หมื่นบาท...
Read More
0 replies on “เดรัจฉานยังชอบคำพูดที่ไพเราะ”