มาตรการล็อกดาวน์ และคำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบไปในทางเดียวกันไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ปรากฏชัดแล้วว่า
อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้น้อยกว่า 1% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด และทั่วโลกกำลังติดหล่มความกลัว
มูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนำเสนอข้อมูลอีกด้านของโควิด-19 ที่ถูกเพิกเฉยจากสังคมและสื่อมวลชน แต่เป็นข้อมูลทางวิชาการที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีจำนวนน้อยกว่า 1% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้มีสุขภาพไม่แข็งแรงโดยมีโรคประจำตัวอยู่แล้วข้อมูลตัวเลขที่กล่าวนี้ มีปรากฎอยู่ในรายงานสถานการณ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) ได้มีการกล่าวถึงการมีผลบวกลวงจากการวิเคราะห์อีกด้วยว่า ในกลุ่มประชากรที่มีอัตราการระบาดของโรค 1% อาจได้ผลทดสอบที่เป็นผลบวกลวงถึง 70%
ในขณะเดียวกัน รายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยดูเหมือนจะสูงมาก และหลายกรณีมาจากอาการร่วมอื่นๆ
ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (The Centers for Disease Control and Prevention : CDC) รายงานถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโควิด-19 ว่า ผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยหรือสาเหตุการตายอื่นๆ ร่วมด้วย บางโรคเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม
ดังนั้น หมายความว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 จะสูงเกินความเป็นจริง เพราะ CDC พบว่า จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ระบุว่ามีสาเหตุจากโควิด-19 ในสหรัฐฯนั้น มีถึง 94% ที่มีอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วยอีก 2.6 อาการ และมีเพียง 6% ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรง ซึ่งรายงานนี้สอดคล้องกับรายงานในอีกหลายประเทศในยุโรป
ด้วยเหตุนี้เอง เหล่านักวิชาการทั่วโลกจึงรวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ “ความเห็นที่สอง” หรือ Second Opinion อันเป็นขบวนการปกติที่คนไข้ควรกระทำเวลาเข้าพบแพทย์ เพราะแพทย์แต่ละคนอาจมีความเชี่ยวชาญและระดับประสบการณ์ที่ต่างกัน
หนึ่งในนั้นคือ คำประกาศ เดอะ เกรตแบร์ริงตัน (The Great Barrington Declaration) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ลงนามที่เมืองเกรตแบร์ริงตัน โดย ดร.มาร์ติน คูลดอร์ฟ (Dr.Martin Kulldorff) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักชีวสถิติ และนักระบาดวิทยา ผู้มีความเชี่ยวชาญในการสืบหาและสังเกตการณ์ด้านการระบาดของโรคติดเชื้อ รวมถึงประเมินความปลอดภัยของวัคซีน ร่วมกับ ดร.สุเนตรา กุปตา (Dr. Sunetra Gupta) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดและนักระบาดวิทยาผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยากับการพัฒนาวัคซีน และ ดร.เจย์ ภัตตชารยา (Dr. Jay Bhattacharya) นายแพทย์ นักระบาดวิทยา และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแพทย์แสตนฟอร์ด
โดยใจความสำคัญๆ นั้น คือผลการะทบของการล็อกดาวน์นั้น ไม่จำกัดเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่ยังกระทบด้านสังคมและสุขภาพจิตของประชาชนด้วย เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งน้อยลง และสุขภาพจิตของผู้คนแย่ลง ซึ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากอัตราปกติในหลายปีข้างหน้า โดยที่ประชาชนในวัยทำงานและสมาชิกรุ่นใหม่ของสังคม จะต้องแบกรับภาระตรงนี้
ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือการนิยามคำว่า “เคส” “การติดเชื้อ” และ “ผลเป็นบวก” ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์และแพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า มีการใช้อย่างผิดๆ และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตระหนกที่กระจายไปทั่วโลก
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นิตยสาร Disaster Medicine and Public Health Preparedness (Vol 14, No. 3) ได้ตีพิมพ์บทความทางวิชาการเรื่อง “Health Lessons Learned From Biases in Coronavirus Mortality Overestimation” ซึ่งยังปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ National Institute of Health (NIH) ของอเมริกา อีกด้วย
ผู้เขียน โรนัลด์ บี บราวน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตื่นกลัวจนล็อกดาวน์นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เกิดข้อผิดพลาดและสับสนในการตีความศัพท์เฉพาะ และนำไปสู่การวางจุดทศนิยมผิดในรายงานของ NIH
สิ่งที่ดูเล็กน้อยนี้ไม่น่าจะมีอะไร ถ้านายแพทย์ Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ ใช้รายงานฉบับนี้อ้างอิงเรื่องความรุนแรงของเชื้อโคโรนาไวรัสตัวนี้ แต่แทนที่คุณหมอจะอธิบายถึง ความแตกต่างของอัตราเสียชีวิตรายโรค หรืออัตราป่วยตายของโรคๆ หนึ่ง (case fatality rate) และ อัตราเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ซึ่งต่างกันเพราะ case fatality rate วัดที่ความรุนแรงของโรค ในขณะที่ infection fatality rate วัดที่การแพร่กระจายของโรค คุณหมอกลับรวมสองสิ่งเข้าด้วยกันและเรียกรวมๆ ว่า “อัตราการเสียชีวิต” (fatality rate)
ผู้เขียนวิเคราะห์อีกว่า การที่คุณหมออ้างว่า อัตราการเสียชีวิตจะสูงถึง 3% ของประชากร เพราะคุณหมอรวม “เคส” ที่ไม่แสดงอาการเข้าไปด้วย ในวันนี้ ข้อมูลก็ชัดเจนแล้วว่า เป็นวิธีการที่ผิด ซึ่งจำนวนขนาดนั้นทำให้แต่ละฝ่ายเชื่อว่า ไม่มียาปัจจุบันตัวใดที่ได้ผล และนำไปสู่การล็อกดาวน์ แต่ “เคส” ไม่ใช่ การเสียชีวิต และที่สำคัญ “เคส” ในความหมายที่แท้จริงนั้นหมายถึง ผู้ที่มีอาการป่วย ไม่ใช่แค่ตรวจพบเชื้อ เรื่องยิ่งสับสันเข้าไปอีก
เมื่อแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ใช้คำว่า “เคส” ในความหมายของ การตรวจพบเชื้อทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ คำที่ถูกต้องในกรณีนี้ คือ “การติดเชื้อ” สิ่งสำคัญในตอนนี้…คือการเปลี่ยนวิธีใช้คำว่า “เคส” และวิธีการนับจำนวน “เคส”
ในปัจจุบัน ความรุนแรงของโรคโควิด-19 นั้นเฉพาะกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงอายุ โดย 40% ของการเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มอายุที่ใกล้เคียงกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์ เมื่อหันมามองประเทศไทย
ณ เวลานี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 67 ราย ทั่วประเทศ คิดเป็นจำนวนเศษเสี้ยวไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมด 69 ล้านคน และเป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่
มูลนิธิฯ มีความห่วงใยต่อวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบเดิมว่า จะนำความเสียหายใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนจนทำลายรากฐานชีวิตและเศรษฐกิจของชาติ อีกทั้งสถานการณ์การระบาดยังไม่มีวี่แววว่าจะนำความปกติสุขมาสู่ประชาชนได้เมื่อใด แม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 5 วันในช่วงเทศกาลปีใหม่จำนวน 392 ราย อัตราผู้ฆ่าตัวตาย ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตประมาณ 4,419 ราย ในปี 2563 ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 22% จีดีพีของประเทศไทยหล่นจาก +2.4% เป็น – 7.9% ช่วงล็อกดาวน์ การท่องเที่ยวของไทยที่ทำรายได้ปีละ 3.08 ล้านล้านบาท ประเทศได้สูญเสียรายได้ไป 47 พันล้านดอลลาร์ และความเสียหายทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีกมากมายจนไม่อาจประเมินได้ กล่าวได้ว่าเสียหายยิ่งกว่าเกิดสงครามโลก
สำหรับในประเด็นเรื่องเชื้อไวรัสก่อความเสียหายต่อเนื้อเยื่อปอดของคนไข้นั้น จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษา ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีอาการเพียงเล็กน้อยจนถึงปานกลาง มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีอาการรุนแรง โดยส่วนใหญ่รอดชีวิต และแม้ว่าปอดของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีความเสียหายและส่งผลต่อการหายใจ
แต่จากการติดตามผลหลังออกจากโรงพยาบาล ทุกคนมีการฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ภายใน 3-6 อาทิตย์ ไปจนถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย และความพยายามฟื้นฟูตนเองของคนไข้
อย่างไรก็ตาม ได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้โดยคณะแพทย์ในประเทศจีน เป็นการติดตามผลการทำงานของปอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส Sars และ Mers ซึ่งมีการทำลายปอดในลักษณะคล้ายกัน พบว่า ผ่านไป 15 ปี ผลการซีที แสกน (CT Scan) แสดงให้การทำงานของปอดที่ดีขึ้น คนไข้ใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และเนื้อเยื่อที่เสียหายแทบจะมองไม่เห็นเลย
ผลการศึกษานี้ เป็นข้อมูลที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกใช้อ้างอิง เนื่องจากประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ Sars และ Mers เป็นอันดับต้นของโลก ประธานมูลนิธิฯ อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้ตั้งคณะทำงานของมูลนิธิเพื่อค้นคว้าข้อมูลอีกด้าน ที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง
โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ เพื่อส่งให้รัฐบาลประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหา ข้อมูลดังกล่าวหากไม่ใช่ตั้งใจค้นหาหรือตั้งคำถามว่า แนวทางที่โลกกำลังดำเนินต่อกรณีนี้ ถูกต้องหรือไม่ก็ยากที่จะพบ เพราะส่วนใหญ่เป็นข้อมูลวิชาการ
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ เห็นว่าเพราะการตั้งโจทย์แก้ปัญหาในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงที่แท้จริงของโรค จึงได้ทำการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ท่าน เพื่อพิจารณาปรับวิธีการแก้ไขปัญหานี้ อีกทั้งนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อให้ท่านพิจารณา