๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ – ที่ สนามกีฬาเทศบาลตำบลหนองแค จังหวัดสระบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรม “คนสระบุรี ร่วมใจ เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ อสม. และหน่วยงานระดับอำเภอ และปล่อยคาราวาน อสม. รณรงค์ให้คนในชุมชนสำรวจ และกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และอสม. เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๓,๐๐๐ คน
นายอนุทิน กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความน่ากลัว เรายังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคนี้ และเป็นโรคที่รุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เลย พาหะของโรคคือยุงลาย ก็ถึงคราวที่ต้องเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง ด้วยการกำจัดแหล่งลูกน้ำ โดยเราต้องหวังพึงพาพลังของพี่น้อง อสม.ในการให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงวิธีการดูแลตนเอง และครอบครัว ให้ปลอดภัยจากยุงลาย พร้อมกับมีการปล่อยคาราวาน อสม. ๑๓ อำเภอ เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันรณรงค์ถ่ายทอดความรู้เรื่องไข้เลือดออกและกระตุ้นเตือนคนในชุมชนให้ช่วยกันสำรวจและจัดการสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและรอบบ้าน โรงเรียน วัด รวมถึงสวนสาธารณะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจัง ด้วยการกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุกๆ ๗ วัน และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยใช้มาตรการ ๓ เก็บ ป้องกัน ๓ โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ ป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพื่อลดการระบาดในพื้นที่ และคนในชุมชนจะได้ไม่มีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก
สำหรับ อสม.นั้น เรายกระดับให้เป็นหมอคนที่ ๑ ในนโยบาย ๓ หมอ ซึ่งท่านจะเป็นหมอประจำบ้าน นอกจากนั้น ยังเปิดอบรม เพื่อให้ท่านเป็นผู้ช่วยพยาบาล งานของทุกท่านมีความเสี่ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังไม่หมดไป สิ่งที่ต้องย้ำเตือนท่านคือขอให้ท่านมารับบริการวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม ๓ เมื่อรับเข็ม ๓ ถึง ๓ เดือนแล้ว ก็สามารถมารับเข็ม ๔ ได้ วัคซีน มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีโรคประจำตัว เป็นกลุ่ม ๖๐๘ ท่านห้ามละเลยเด็ดขาด ตนได้กำชับให้นายแพทย์ สสจ.ดูแลเรื่องนี้แล้ว เช่นกันเมื่อติดโควิด-19 เราก็มั่นใจว่า ระบบการรักษาของเรามีประสิทธิภาพมากพอ และเรามีความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ เราสำรองยาไว้ อาทิ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิ ก ไปจนถึงยาตำรับไทย เป็นต้น
“วันนี้ อสม.ได้ค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเติมจากเดิม ๕๐๐ บาท เมื่อบวกกับค่าตอบแทนเดิม ท่านจะมีค่าตอบแทนรวมที่ ๑,๕๐๐ บาท แต่เมื่อโควิด-19 หมดสิ้นไป ค่าตอบแทนท่านจะลดไป ๕๐๐ บาท สำหรับผมเอง และกระทรวงสาธารณสุขมองว่า ต้องหาวิธีที่ทำให้ท่านได้ ๑,๕๐๐ บาทตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับความทุ่มเทพยายามในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งส่วนนี้ คนชื่ออนุทิน คิดไว้เสมอ และพยายามหาทางออกให้ท่านได้ในสิ่งที่ควรได้ มีคนมาบอกว่า เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า แต่ผมเห็นต่าง อย่าลืมว่าเงินให้ อสม. อสม.ก็ใช้จ่ายในประเทศ เงินไม่หายไปไหน หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย ก็ย่อมเป็นเรื่องดี เรื่องนี้ ผมเชื่อว่า ผมคุยได้ แต่ขออย่างเดียว เมื่อมีเงินเข้ามาแล้ว ขอให้ทุกท่านกินของไทย ใช้ของไทย เพราะผมเชื่อว่า ไทยทำ ไทยใช้ ประเทศไทยเจริญแน่นอน เราต้องให้เงินอยู่ในประเทศเรา ไม่หายไปไหน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ๒๕๖๕ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม – ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ พบผู้ป่วย ๒,๒๒๐ ราย เสียชีวิต ๓ ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน รวมถึงให้ความรู้นักเรียนเรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จึงขอให้สังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีไข้สูง ๒-๓ วัน รับประทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ปวดเมื่อย ตาแดง หรือมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง ตามแขนขาหรือข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรซื้อยาแอสไพรินและยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเองเพราะจะทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารจนเสียชีวิตได้