ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถตู้หมายเลขทะเบียน นค-8905 ชลบุรี ชนกับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-6454 อุบลราชธานี บริเวณถนนวารินชำราบ – เดชอุดม กม.14 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และผู้บาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิด เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และ สำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจาก สำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) ว่า รถตู้หมายเลขทะเบียน นค-8905 ชลบุรี ที่ผู้ประสบภัยโดยสารมานั้น ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 190001/M007150321 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 2 ตุลาคม 2562 สิ้นสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2563 โดยให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร จำนวน 300,000 บาทต่อหนึ่งคน กรณีความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย จำนวน 80,000 บาทต่อหนึ่งคน กรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน จำนวน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
ในส่วนของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 83-6454 อุบลราชธานี ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 07205-62303/กธ/6134981 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 นอกจากนี้พบว่ารถบรรทุกดังกล่าวมีประกันภัยภาคสมัครใจ ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 12570-62213/กธ/021592-10 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 2 เมษายน 2562 สิ้นสุดวันที่ 2 เมษายน 2563 โดยให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก สำหรับความเสียหายต่อชีวิต ร่ายกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. 300,000 บาทต่อคน รวมแล้วไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง และความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อตัวรถ 1,100,000 บาท สำหรับความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย (ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ผู้ขับขี่ 1 คน จำนวน 50,000 บาท ผู้โดยสาร 2 คน จำนวน 50,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 50,000 บาทต่อคน การประกันตัวผู้ขับขี่ 500,000 บาทต่อครั้ง
จึงได้สั่งการให้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานีประสานกับบริษัทประกันภัยดังกล่าวเพื่อเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บและทายาทผู้สูญเสียโดยเร็ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกับทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย ซึ่งบริษัทประกันภัยจะเร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี ได้แจ้งสิทธิค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยให้กับโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้เร่งติดตามให้มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิดังกล่าวโดยเร็ว
ในเบื้องต้นจากกรณีเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้โดยสารรถตู้จำนวน 6 ราย จะได้รับเงินเยียวยาจากประกันภัยภาคบังคับ(พ.ร.บ.) รายละ 300,000 บาท ส่วนผู้ขับขี่รถตู้ที่เสียชีวิต จะได้รับการเยียวยาเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท เนื่องจากต้องรอผลคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท ส่วนผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นผู้โดยสาร จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 80,000 บาท ตามสิทธิของประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และในกรณีที่พิสูจน์แล้วพบว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถบรรทุก ทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคสมัครใจอีกไม่เกินรายละ 300,000 บาท และ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริงอีกไม่เกินรายละ 300,000 บาท ส่วนผู้ขับขี่รถตู้ที่เสียชีวิตหากพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายประมาททายาทจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพิ่มอีก 265,000 บาท นอกจากนี้ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบอุบัติเหตุมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุประเภทอื่นๆ ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น รวมทั้ง เตรียมสภาพร่างกายให้มีความพร้อมในระหว่างการใช้รถใช้ถนนและหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัย จะได้เข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย