เมื่อวันที่ 13 พ.ย.63 เวลา 16.05 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุม ASEAN Business and Investment Summit (ASEAN BIS) 2020 ผ่านการประชุมรูปแบบผสมระหว่างการประชุมที่กรุงฮานอย
และการจัดการประชุมทางไกลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมการประชุมได้ ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Development and Inclusive Growth”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง” เป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันผลักดัน เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความก้าวหน้า ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในปัจจุบัน ประเทศใดที่มีภาครัฐ ผู้ประกอบการ และแรงงานที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว
ก็จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายใต้ชีวิตวิถีปกติใหม่มากกว่าที่อื่น ดังนั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ
นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิด “สามใหม่” (Three New) เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการปรับตัวและดำเนินธุรกิจภายใต้วิถีปกติใหม่ 3 ประการ ดังนี้
- ส่งเสริมการพัฒนา “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” รักษาสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเท่าเทียมทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยมี “BCG Model” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
- แสวงหา “พลังเศรษฐกิจใหม่” โดยใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ในอาเซียน
ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมแบบ “พี่สองน้อง” เช่น เพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัล ทั้งธุรกิจและการตลาดออนไลน์ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน - สร้าง “ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่” ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
ที่ประชาชนและภาคธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งไทยมีโครงการ “ASEAN Digital Hub”
ที่ช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในอาเซียน รวมถึงโครงการ “Digital Park Thailand”
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมการบูรณาการด้านดิจิทัลในภูมิภาคเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างทั่วถึงเพื่อการเป็น “ดิจิทัลอาเซียน” อย่างแท้จริง พร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงของการทำธุรกรรมทางการค้าดิจิทัลในอาเซียนอย่างครบวงจร เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการประกอบธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการในอาเซียนและคู่ค้าในต่างประเทศ รวมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวคิด “สามใหม่” ที่ได้นำเสนอไปนั้นจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประชาคมอาเซียน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง