กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ที่มีภาวะพึ่งพิง ได้รับการดูแลตาม Care Plan จำนวน 218,093 คน พร้อมตั้งเป้าหมายปี 2564 เร่งให้มีตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 95
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเป็นหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) เร่งขับเคลื่อนเพื่อรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา
รัฐบาลได้ขยายความครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและประชาชนทุกกลุ่มวัยที่มีภาวะพึ่งพิงให้เข้าถึงระบบการดูแลส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาและการเข้าถึงหน่วยบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบริการฟื้นฟูสุขภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เน้นบูรณาการด้านการจัดบริการทางด้านสาธารณสุขและสังคม โดยให้ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริการสาธารณสุขและสังคมมากขึ้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ปี 2563 พบว่า มีตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,722 ตำบล จากทั้งหมด 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 92
นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงยังได้รับการดูแลตาม Care Plan จำนวน 218,093 คน จากผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงทั้งหมด 245,907 คน คิดเป็นร้อยละ 88.69 ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมี ADL เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.03 และผู้สูงอายุ ที่ได้รับการดูแลตาม Care Plan เปลี่ยนกลุ่มจากติดเตียงเป็นติดบ้าน ร้อยละ 1.44 ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายและส่งผลให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงมีสุขภาพดีขึ้นและเข้าถึงระบบบริการเพิ่มมากขึ้นด้วย
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้สนับสนุนนโยบายโดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงานและการจัดทำหลักสูตรการอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) 70 ชั่วโมงและ 420 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรมและปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เป็น Care Manager จำนวน 13,615 คน Caregiver จำนวน 86,404 คน และได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันจัดทำหลักสูตรอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น
และในปีงบประมาณ 2564 กรมอนามัยได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดอบรมอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาคู่มือแนวทางและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะกลางในชุมชน (Intermediate Care in Community) เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายให้มีตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 95 และร้อยละ 85 ของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลตาม Care Plan” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด