โรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่หลายคนเป็นแล้ว มักจะไม่ค่อยมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มเป็นในระยะแรกๆ แต่ปล่อยไว้จนลุกลามและส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน จึงค่อยมาพบแพทย์ เพียงเพราะกลัวว่าต้องผ่าตัด
นพ.อนนต์ ใจอ่อนน้อม ศัลยแพทย์ทั่วไป ประจำโรงพยาบาลเวชธานี ได้กล่าวว่าการรักษาริดสีดวงทวาร ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลว่ารุนแรงแค่ไหน นพ.อนนต์อธิบายว่า โรคริดสีดวงทวาร เกิดจากเส้นเลือดฝอยโป่งพอง จนเกิดก้อนเนื้อบวมบริเวณปากทวารหนัก ซึ่งมีสาเหตุจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เล่นมือถือหรืออ่านหนังสือขณะขับถ่าย เบ่งอุจจาระรุนแรงบ่อย หากยังไม่ปรับพฤติกรรม อาจทำให้เส้นเลือดฝอยโป่งพองมากขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคริดสีดวงทวารมักจะเกิดกับคนในช่วงอายุ 40 – 60 ปีขึ้นไป เป็นได้ทั้งชายและหญิง
สำหรับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการที่เป็นอยู่ คือโรคริดสีดวงหรือไม่ แพทย์จะมีวิธีตรวจ 5 วิธีดังนี้
- ตรวจขอบทวารหนัก โดยปกติอาจจะเห็นริดสีดวงทวารหนักยื่นออกมา
- ตรวจทวารหนักด้วยมือ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยแยกแยะทวารหนักออกจากโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวารหนัก โดยเฉพาะก้อนเนื้อ หรือแผลบริเวณทวารหนัก
- ตรวจด้วยการส่องดูทวารหนัก ทำให้พบหัวริดสีดวงภายในได้อย่างชัดเจน
- ตรวจด้วยการส่องดูทวารหนังโดยกล้อง Proctoscope เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมาก และพบว่ามีประวัติขับถ่ายผิดปกติเรื้อรัง
- ส่งตรวจด้วยสวนสีX-ray ลำไส้ใหญ่ Barium enema หรือการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ Colonoscope แพทย์จะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการไม่ชัดเจน หรือ มีอาการโรคอื่นร่วมด้วย รวมทั้งใช้ตรวจในผู้ป่วยสูงอายุ
สำหรับวิธีการรักษา แพทย์จะแบ่งตามระยะริดสีดวงทวารคือ ระยะที่ 1 – 2 อาการยังไม่รุนแรงมากการรักษาอาจจะไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาระบายอ่อนๆ ควบคู่กับการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กินอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนระยะที่ 3 – 4 อาการมีความรุนแรงขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ในปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัดแบบเลเซอร์ โดยใช้เข็มเลเซอร์เจาะเข้าไปที่ติ่งเนื้อริดสีดวงทวาร เพื่อเลเซอร์ให้ติ่งเนื้อฝ่อลง ใช้เวลาเพียง 15 – 20 นาที ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แผลหายเร็วกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ยิ่งมารักษาเร็วการรักษาก็จะง่าย ได้ผลดี ไม่ยุ่งยาก
นอกจากนี้การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเลเซอร์ก็ง่ายกว่า เพียงนั่งแช่น้ำอุ่นเพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น ใช้เวลาประมาณ 3 – 4 วัน อาการก็กลับมาป็นปกติ
นพ.อนนต์ ใจอ่อนน้อม ศัลยแพทย์ทั่วไป ประจำโรงพยาบาลเวชธานี