สวนสมเด็จย่า กับกรมศิลปากร และมรดกโลก

ดำรง พุฒตาล

นอกจากผมจะเป็นคน “กรุงเก่า” ลูกอยุธยาแท้ๆ แล้ว ปัจจุบันผมยังเป็นทีปรึกษาคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ กำกับ ควบคุมดูแลนครประวัติศาสร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งแต่งตั้งโดย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านเป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559

โดยตำแหน่งและหน้าที่ของผม จึงทำให้ผมต้องตกที่นั่งลำบาก คือต้องคอยตอบคำถามและถูกต่อว่าต่อขาน จากชาวจังหวัดอยุธยาเกี่ยวกับเรื่องความไม่ค่อยเรียบร้อย ความไม่สวยงามหรือความรกรุงรัง ของ ‘สวนสมเด็จย่า’ มาโดยตลอด

สวนสมเด็จย่าพระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นในจำนวนทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษและยิ่งใหญ่กว่าสวนสมเด็จย่าอีก 12 แห่ง

กล่าวคือสวนสมเด็จย่าอยุธยามีเนื้อที่ทั้งหมด 450 ไร่ และตั้งอยู่ในบริเวณ “มรดกโลก” ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ภายในสวนแห่งนี้เป็นสวนเดียวที่แวดล้อมโบราณสถาน วัดร้าง เป็นจำนวนมาก

จึงควรที่จะต้องดูแลอนุรักษ์ประคับประคองประคบประหงมให้ดีที่สุดอย่างสุดกำลัง

ปัญหาที่คนอยุธยาสงสัยและสับสนวุ่นวายใจ อยากจะรู้ให้แน่ชัดว่า หน่วยงานใด เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการและงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการ สวนสมเด็จย่าอยุธยาแห่งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด? หรือเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา? หรือว่ากรมศิลปากร

ถ้าจะให้ผมตอบจากประสบการณ์ตรงที่ผมได้สัมผัสและมีประสบการณ์กับสวนสมเด็จย่าแห่งนี้ ผมกล้าฟันธงลงไปได้เลยว่า “กรมศิลปากร” จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารดูแลจัดการอย่างแน่นอน

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อเวลาผมกลับไปบ้านผมที่อยุธยาซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับสวนสมเด็จย่าฯ แค่เพียงผมออกกจากประตูบ้าน เดินข้ามถนนอู่ทองไปสัก10 ก้าว ผมก็จะเข้าไปอยู่ในสวนสมเด็จย่าทันที และจะเดินผ่านวัดร้าง ชื่อวัดเจ้าปราบ ผ่านโรงเก็บดีบุก สมัยกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจ มีวัดอุโบสถ วัดเจดีย์ใหญ่ วัดหลวงชีกรุด วัดเจ้าพราหมณ์ วัดมหาสมัน วัดวังชัย ซึ่งพระเทียรราชาเคยบวชที่วัดนี้

ก็ในเมื่อสวนสมเด็จย่า สวนนี้เต็มไปด้วยวัดร้างและโบราณสถานเต็มบริเวณพื้นที่ 450 ไร่ แล้วหน่วยงานใดเล่า จะเหมาะสมเท่ากรมศิลปากรที่ควรเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบและกำกับดูแลสวนนี้เป็นที่สุด เพราะฉะนั้นขอให้เลิกคิดกันเสียทีว่าเทศบาลอยุธยาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

ผมได้เคยพบกับคุณอิทธิพล คุณปลื้ม ตอนที่เพิ่งได้เป็น รมว.กระทรวงวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่กระทรวงท่าน ได้บอกกับผมว่า “พี่ดำรงมีอะไรเกี่ยวกับกระทรวงก็ช่วยบอกผมเลยได้นะครับ” ซึ่งถึงตอนนี้ผมคงขออนุญาตบอกท่านว่า สวนสมเด็จย่าในจังหวัดอยุธยาซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากรนั้น เต็มไปด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ เจดีย์ ศิลปวัตถุ และวัดร้างเป็นจำนวนนับได้เป็นสิบๆ วัด แถมยังตั้งอยู่ในเขตมรดกโลก น่าจะได้มีการดูแลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ไม่ใช่บางครั้งก็เรียบเตียนสวยงาม แต่บางครั้งก็มีวัชพืชต้นไม้ขึ้นรกรุงรัง วันดีคืนดีถ้าได้เงินงบประมาณมาก็ปลูกต้นไม้เสริมเข้าไป ปลูกแล้วก็ปลูกเลย ต้นไม้ต้องดูแลตัวเอง ก็แห้งตายอยู่คาสวนแล้วก็ปลูกใหม่

“ผมขอย้ำว่า การดูแลรักษาและปรับปรุงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ” ไม่ใช่มีงบประมาณลงมาเกือบ 34 ล้านบาท ตามป้ายประกาศงานปรับปรุงภูมิทัศน์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสวนสมเด็จย่าอยุธยา ก็ทำกันซักครั้งหนึ่ง เป็นงานวัสดุพืชพันธ์ ขุดลอกคลอง รื้อถอน ซ่อมแซมพื้น ซ่อมแซมศาลา งานสะพาน และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง (เริ่ม 31 มีนาคม 2561 สิ้นสุด 25 มีนาคม2562)

แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ปีนี้ ผมเข้าไปเดินออกกำลังกายก็จะเดินอยู่ได้บนถนนที่มีรถวิ่ง ส่วนถนนลึกๆ ภายในสวนหญ้าขึ้น รกรุงรัง น่ากลัวงูเงี้ยวเขี้ยวขอครับ

ในช่วงนั้นผมอยากให้คุณประทีป เพ็งตะโก ซึ่งเคยเป็น ผอ.สำนักศิลปากรที่3 ที่อยุธยาในอดีต ได้มาดู มาตรวจสวนสมเด็จย่าฯ ในฐานะที่วันนี้ท่านเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ผมได้ทราบมานานแล้วว่า UNESCO ผู้ประกาศให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกนั้น เขาก็ฮึ่มๆ จะเอาเรื่องเอาราว หรือจะปลดอยุธยาออกจากการเป็นมรดกโลก เพราะเราขาดการดูแลรักษาอย่างจริงจังตามข้อกำหนดหรือกติกาของมรดกโลก

สมัยที่อยุธยาได้เป็นมรดกโลกยุคแรกๆ ได้มีข่าวลงใน “นสพ.แนวหน้า”  ในลักษณะข่าวว่า UNESCO ไม่ค่อยพอใจและกล่าวตำหนิเรื่องการดูแลและจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จนเหมือนกับว่าจะถอดถอนและยกเลิกให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาออกจากการเป็นมรดกโลก

สมัยนั้นผมยังหนุ่มๆ อยู่มีเลือดรักบ้านเกิดรุนแรงและจริงจัง จึงได้กล่าวตำหนิวิพากษ์วิจารย์การทำงานสำนักงานศิลปากรที่ 3 ของกรมศิลปากรประจำอยุธยาผ่านรายการสุขสันต์วันเสาร์ที่ช่อง 5 ว่า ต้องรับผิดชอบถ้าเราต้องหลุดจาก “การเป็นมรดกโลก” สมัยนั้น คุณบวรเวท รุ่งรุจี ท่านเป็นผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 ได้ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ผ่าน นสพ. แนวหน้าในวันต่อมาว่า “คุณดำรงเป็นคนอยุธยาจะมัวแต่ไปพูดวิพากษ์วิจารย์อยู่ข้างนอกทำไม ควรจะกลับมาดูแลและช่วยเหลือบ้านเกิดเมืองนอนของคุณน่าจะดีกว่า”

เวลาได้ผ่านมาแล้วเป็นสิบๆ ปี วันนี้ผมได้กลับมาบ้านเกิดแล้วครับ (ความจริงไปๆมาๆ) เรื่องคงจะยังไม่จบง่ายๆ ก็เห็นจะต้องว่ากันต่อ ถ้าคุณเป็น “คนยุดยา” ก็ช่วยส่งข่าวแชร์ต่อๆ กันไปให้ญาติมิตรเพื่อนฝูงชาวกรุงเก่าด้วยให้ได้ “ช่วยคิดช่วยทำ” เพื่อถิ่นกำเนิดของพวกเราด้วย ผมจึงอยากฟังความคิดเห็นของท่านทั้งหลาย..


0 replies on “สวนสมเด็จย่า กับกรมศิลปากร และมรดกโลก”