ปชป. เข้าแสดงความคิดเห็น กมธ. ศึกษาแก้ไขเพิ่มเติม รธน.

30 มิ.ย.2563 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าแสดงความคิดเห็นในคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ห้องประชุม กรรมาธิการ 307 อาคารรัฐสภา

นายราเมศ กล่าวว่า ได้นำเสนอข้อมูลความคิดเห็นที่สำคัญถึงสภาพปัญหา และแนวทางที่สำคัญ การสะท้อนให้เห็นถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากที่สุด ดังนั้นหากมีการศึกษาเพื่อแก้หมวดที่ 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256

จุดหมายปลายทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากยิ่งขึ้น มีความชัดเจนคือเรื่องว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาจะเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มามีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างง่าย โดยใช้เสียงจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาเป็นเกณฑ์ในการลงมติ ทั้งวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3


แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 นอกจากจะใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ยังได้กำหนดให้มีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภา ในวาระ 3 ดังนั้นนอกจากจะต้องมีจำนวนสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1ใน 3 แล้ว ยังกำหนดให้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นไปด้วยความยากยิ่ง

นายราเมศกล่าวว่า การตั้งหลักที่สำคัญในเรื่องนี้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม และอีกหลายเรื่อง รวมถึงระบบการเลือกตั้งที่เห็นตรงกันว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติเป็นจำนวนมาก การคำนวณคะแนน สัดส่วนก็เป็นปัญหา ดังจะเห็นว่าจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อการเลือกตั้งแล้วเสร็จ แต่กลับไม่ทีท่าว่าจะใช้สูตรไหน เพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส. และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน

เมื่อมี ส.ส. เขต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็ควรคืนสิทธิในการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของประชาชน โดยให้มีระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เลือกคน และเลือกพรรค รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรคการเมือง เรื่องการป้องกันการทุจริตก็มีส่วนที่ต้องแก้ไขเช่น มาตรา 236 สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนที่กมธ.ฯ ควรรับฟัง

นายราเมศกล่าวว่าแต่ทุกประเด็นจะไม่สามารถแก้ได้เลย หากรัฐธรรมนูญยังมีลักษณะที่แก้ไขยาก ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นจาก มาตรา 256 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จึงได้มีการนำเสนอเป็นข้อมูลต่อ กมธ. วิสามัญชุดดังกล่าวพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาต่อไป

Written By
More from pp
ก้าวไกลต้องรู้จักถอย – ผักกาดหอม
ผักกาดหอม การเมือง กับ การเจรจาต่อรอง เป็นของคู่กัน นักวิชาการรุ่นใหม่บอกว่า ถ้าการเมืองมีการต่อรองคือการเมืองยุคเก่า ประชาชนไม่ได้อะไร มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ก็อาจจะจริงในส่วนเล็ก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
Read More
0 replies on “ปชป. เข้าแสดงความคิดเห็น กมธ. ศึกษาแก้ไขเพิ่มเติม รธน.”