ปทุมธานีโมเดล ต้นแบบศูนย์กักแยกตัว ตัดวงจรโควิด-19 ลดภาระหมอ ลดเสี่ยงชุมชน

จากสถานการณ์โควิด-19 ของไทย พบว่ามาตรการการแยกตัวของผู้เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการกักตัวให้ห่างจากครอบครัว “ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ตัดวงจรโควิด-19” (Isolation Facility)  ที่ จ.ปทุมธานี จึงถูกตั้งขึ้นจากการระดมความคิดของคนในหลายสาขาอาชีพ ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ นักปกครอง วิศวกร สถาปนิก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จับมือเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) และภาคประชาสังคม ชูยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ตัดวงจรโควิด-19 เพื่อแยกประชาชนที่เป็นกลุ่มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง โควิด-19

แต่ไม่มีสถานที่กักตัวที่ดีพอ ให้มีที่พักแยกจากครอบครัวและชุมชน ลดความเสี่ยงของชุมชนที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ที่พักฯ เริ่มที่ปทุมธานีครั้งนี้ เพราะเรามองว่า การเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ทุกคนควรได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปัจเจก จนถึง ระดับชุมชน สังคม

ซึ่งศูนย์ฯ นี้ไม่ได้นำผู้ติดเชื้อมาพักอาศัย จึงไม่ใช่สถานพยาบาล แต่เป็นที่พักอาศัยระหว่างกักแยก ถือเป็นกระบวนการต้นน้ำที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวหรือชุมชน ดังนั้น ต้นน้ำก็ยังรวมถึงชุมชนสังคมด้วย ส่วนกลางน้ำ คือ โรงพยาบาล (hospital) และปลายน้ำ คือ การจัดตั้งโรงพยาบาลพิเศษโรงพยาบาลสนาม (cohort hospital)

ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ ต้องผ่านการคัดกรองจากจ.ปทุมธานี สามารถเข้าใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมมีเครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหารครบ 3 มื้อ และสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ โดยใช้อินเทอร์เน็ตฟรี หากไม่พบอาการติดเชื้อหลัง 14 วัน จะถูกส่งตัวกลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่หากผู้ใดพบอาการที่มีแนวโน้มว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ก็จะถูกส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ และ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน TIJ กล่าวว่า ถ้าเราจัดการต้นน้ำได้เร็ว ก็ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อในชุมชน การระบุตัวได้เร็ว (early identification ) การกักแยกตัวเร็วตั้งแต่ระยะสังเกตอาการ (early isolation) การส่งต่อรักษาได้เร็ว (early treatment)  โอกาสหายเร็ว การทำงานของศูนย์ฯ จะเน้นความปลอดภัยตามมาตรฐานสาธารณสุขทุกประการ

ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานกับผู้นำท้องถิ่น สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ เช่น หากมีผู้ที่เข้าข่ายต้องกักตัวในชุมชนก็จะสามารถเข้ามาพักยังศูนย์ฯ ได้ อีกทั้งชุมชนยังจะได้มีรายได้จากการจ้างงานเป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ ด้วย


Written By
More from pp
ดร.นฤมลเตือนรับมือดอกเบี้ยโลกขาขึ้น คาด ”กนง.” ทยอยขยับให้ทุกฝ่ายปรับตัว
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัว ชี้ให้เห็นถึงทิศทางดอกเบี้ยของโลกซึ่งวานนี้ (8 ก.ย.) ธนาคารกลางยุโรป (ECB)...
Read More
0 replies on “ปทุมธานีโมเดล ต้นแบบศูนย์กักแยกตัว ตัดวงจรโควิด-19 ลดภาระหมอ ลดเสี่ยงชุมชน”