“บัตรคนจน” กับ “คนอิจฉา” – เปลว สีเงิน

แต่โถหนี่ วิเคราะห์เหตุแล้ว พบว่า........ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ "บัตรลุงตู่" นี่เอง เป็นหนึ่งในอีกหลายสาเหตุที่ "ตรึงขา" ม้าเพื่อไทยให้ต้องหยุดยืนขี้"

คลิกฟังบทความ…?

เปลว สีเงิน

“หมาหน้าคลับเฮาส์” หมู่นี้ดูจ๋องๆ ยังไงพิกลนะ!
ถ้าผมเป็น Tony woodsome คงต้องกระซิบถาม
ว่าแบบนี้ บ่งถึงสถานการณ์แนวรบทุกด้านใต้ธงนำแม่ลูกอ่อน แนวโน้มจะ “แลนด์สลบ” มากกว่า “แลนด์สไลด์” หรืออย่างไรกัน?
ถ้าหมาหน้าคอกไม่เลียประจบ ก็คงตอบว่า
“ท่านหัวหน้าช่างเลิศล้ำในปฐพี ในแผ่นดินนี้ ไม่มีอะไรที่ท่านหัวหน้าจะไม่หยั่งรู้”

เพราะสถานการณ์ขณะนี้ เพื่อไทยซึ่งเป็น “ม้าตีนต้น” วิ่งท้องโย้นำโด่งมาตัวเดียวแต่ไกล
แต่พอมาถึงตอนนี้ ม้าเพื่อไทย กลับหยุดยืนขี้ซะงั้น

ปล่อยให้ม้า “ตู่-รวมไทยฯ” ไล่ขึ้นมา แถมทำท่าจะแซงตอนเข้าโค้งวัดเบญจะฯ เอาด้วยซ้ำ!

แต่โถหนี่ วิเคราะห์เหตุแล้ว พบว่า……..
“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรลุงตู่” นี่เอง เป็นหนึ่งในอีกหลายสาเหตุที่ “ตรึงขา” ม้าเพื่อไทยให้ต้องหยุดยืนขี้”

วานซืน โถหนี่ จึงมาเป็นซีรีส์ ฟันโช๊ะ
“บัตรคนจนจะถูกเมิน เพราะประชาชนจะมีรายได้มากกว่า “บัตรคนจน” จ่ายแน่นอน”

นี่มันตรรกะ “องุ่นเปรี้ยว” ชัดๆ นี่นา ท่านโถหนี่!?

เดี๋ยว…ก่อนคุยกันต่อ ขอทำความเข้าใจซักนิด
ท่านเคยประกาศ “ประเทศไทยคนจนต้องหมดไป” ตั้งแต่สมัยท่านเป็นนายกฯ แล้วมิใช่หรือ?

แล้วยังมาเรียก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ชาวบ้านเรียกว่า “บัตรลุงตู่” เป็น “บัตรคนจน” อยู่อีกหรือนี่
ไม่ได้ยินนายกฯ ประยุทธ์ย้ำกับอบต.ทั่วประเทศวันก่อนหรือว่า “ประชาชนไม่ใช่ “รากหญ้า” ประชาชนคือ “ฐานราก” ของประเทศ” นั่นน่ะ

มีแต่ยุคโถหนี่เท่านั้นแหละ ที่นับชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสทางสังคมว่าเป็น “คนจน” แล้วตีราคาเขามีค่าแค่ “รากหญ้า” ไว้หลอกใช้

แต่ทัศนคติ “ลุงตู่-รวมไทยฯ” ไม่มองชาวบ้านเหล่านั้นเป็นรากหญ้า
ลุงตู่วางไว้ในตำแหน่ง “ฐานราก” ประเทศ

เมื่อเป็น “ฐานราก” ใครมาเป็นรัฐบาลควรต้อง “ดูแล” ตามฐานานุรูป
เพราะถ้าไม่ดูแล ……..
ปล่อยให้ฐานรากที่รับน้ำหนักในความเป็นองคาพยพสังคมชาติผุกร่อน ไร้เรี่ยวแรง
ส่วน “ล่าง-กลาง-บน” ก็จะพังครืนไปด้วยกันทั้งหมด!

อาจมีคนแย้ง
“คนจน ก็คือ “คนจน” คือรากหญ้า จะดัดจริตเรียกโน่น-เรียกนี่ไปเพื่ออะไร?”

ก็ได้ยินพูดกันจังทั้งในสภา-นอกสภาว่า “คนต้องเท่าเทียมกัน” มิใช่หรือ?
ในเมื่อเท่าเทียมกัน แล้วทำไมจึงแบ่งคนเป็น “คนรวย-คนจน-อีลิท-รากหญ้า” อยู่อีกล่ะ

ถ้าว่าง พวก “ใกล้กาว” ช่วยแถตรงนี้ให้ผมเข้าใจหน่อยก็ดี
เรื่องทัศนคติ มันก็เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดหรือไม่ผิดนั่นแหละ

ถ้ามีทัศนคติว่าเขาเป็น “รากหญ้า” ก็จะบริหารแบบคนใต้ตีน มีค่าไว้เหยียบหรือเหยียด

ถ้ามีทัศนคติเขาเป็น “ฐานราก” ประเทศ เพียงแต่อยู่ในฐานะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ก็จะบริหารแบบยก
ว่าคนส่วนนี้คือ “เสาเข็ม” สังคม แต่อยู่ในสภาพ “คนปิดทองหลังพระ”

นี่..มันเหมือน-มันต่างกันตรงนี้

ถ้าถามว่า คนจนหรือรากหญ้าส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่อยู่ตามชนบท มีค่าตรงไหน นับวันจะเป็น “ภาระสังคม” ต้องดูแลด้วยซ้ำ?

มองแคบๆ เฉพาะตัว ก็เห็นอย่างนั้น แต่ที่เห็นไม่ใช่ที่เป็นตาม “โครงสร้างสังคมชาติ”
มันเป็นโดย “จำเป็น”

เพราะแต่ละรัฐบาลที่ผ่านๆมา ไม่เคยมียุทธศาสตร์บริหารส่วนนี้ จึงปล่อยให้ก่อตัวเป็นลักษณะ “สังคมเมือง-สังคมชนบท” ซ้อนทับกันโดยไม่มีการบริหาร-จัดหารที่สมดุล

“คนเฒ่า-คนแก่-คนยาก-คนจน” ส่วนหนึ่ง ที่ยังชีวิตประจำวันอยู่ได้ทุกวันนี้
ก็ด้วย “บัตรลุงตู่” พอมีเงิน ซื้อหมากพลู ผักหญ้าพอได้กิน

เกิดคำถามว่า แล้วทำไมรัฐบาลต้องไป “อินัง-ขังขอบ” กับคน “ส่วนเกินสังคม” ล่ะ มันเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว ที่ลูกหลานต้องดูแลมิใช่หรือ?

นี่แหละ ตรงนี้แหละ “ตรงประเด็น” เผงเลย!
อยากให้ตอบก่อนว่า “ทำไมตามชนบท จึงมีแต่คนแก่เฝ้าบ้าน-เลี้ยงหลาน แล้วคนหนุ่มสาว ลูกเต้าที่โตๆ แล้วไปไหนกันหมด?”

คำตอบที่ได้ น่าจะไม่หนีร้อยละ ๘๐-๙๐%ว่า

“ไปทำงานในกรุงเทพฯ บ้าง ทำงานอยู่โรงงานบ้าง ไปเป็นแรงงานอยู่ต่างประเทศบ้าง ตามต่างจังหวัดบ้าง”

และคนเหล่านั้น…….
เมื่อมีครอบครัว พอมีลูกเต้า ก็ส่งมาให้พ่อแม่ ปู่ย่า-ตายายตามชนบทเลี้ยงแทน

ก็ลองคิดซิว่า คนเฒ่า-คนแก่เหล่านั้น เป็น “ส่วนเกินสังคม” หรือเป็น “ผู้แบกรับสังคม”?
นี่คือ “ห่วงโซ่” เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตสังคมไทยทุกวันนี้

“คนเฒ่า-คนแก่” คือคนสละโอกาสชีวิตงานตัวเอง เป็น “แนวหลัง” เฝ้าโยงให้ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัย “ทำงาน” ไปเป็น “นักรบแนวหน้า” ในตลาดธุรกิจอุตสาหกรรมประเทศ

วงจร “เศรษกิจ-ชีวิต-สังคมไทย” ต่างมีน้ำหนักแบกรับและต้องเกาะเกี่ยวกันอย่างนี้

ผมจึงบอกว่า ไม่มีส่วนไหนเป็น “ส่วนเกิน” ที่จะมองว่าเป็นรากหญ้าหรือคนจน เพราะมันซ้อนทับและเกาะเกี่ยวกันดังว่า

ที่พูดนี่ “โถหนี่” เก็ตหรือไม่เก็ตก็ไม่ทราบ
ถ้าไม่เก็ต เห็นทีจะต้องเปลี่ยนจากโถหนี่ เป็น “โถฉี่”!

หรือที่ผมพูด เข้าใจยากไป?
ก็ไม่เป็นไร ผมอ่านที่รองโฆษกสำนักนายกฯ “น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ” เธอพูดถึงกรณีนี้ เมื่อวาน

คือตามที่โถหนี่วิจารณ์เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เธอให้คำอธิบายเป็นวิทยาทานไว้ทั้งน่าฟัง ทั้งเข้าใจง่าย อ่านดูหน่อยมั้ยล่ะ

“ที่ว่า “ประชาชนจะเมินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นั้น นายทักษิณคงว้าเหว่ โดดเดี่ยว และขาดความอบอุ่น
แต่ก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้

แม้จะเจ็บปวดที่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นที่นิยม มีประสิทธิภาพ เข้าไปแก้ปัญหาได้ตรงจุด

และมีกลไกในการพัฒนาไปสู่การยกระดับสวัสดิการประชาชน ไม่ใช่เพียงมิติของรายได้เท่านั้น แต่คือหัวใจของสวัสดิการประชาชน

“แม้แต่ตัวนายทักษิณ ก็ไม่กล้าประกาศให้ชัดเจนว่า จะแนะนำให้พรรคเพื่อไทยยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่

ได้แต่ขี่ม้าเลียบค่ายและหาจังหวะช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย ทั้งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำมาหมดแล้ว

ทั้งดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยตามนโยบาย 5F สร้างกระแสนิยมในเวทีโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

โดยตั้งเป้าหมายปี ๒๕๖๖ ประเทศไทยจะมีรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ ๒.๔ ล้านล้านบาท ฟื้นตัว ๘๐% เป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่จับต้องได้”

เป็นไง….
ผมว่าเธอพูดเข้าท่านะ สมกับที่เป็นรองโฆษก “มือปืนข้างซ้าย” นายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่มีอยู่ประเด็น ที่โถหนี่ทำเป็นตลกเชิงยกตัวเอง เข้าตำรา เดอะ ด็อกขี้ โนบอดี้ ยก เทล ว่า

“คุณรู้ไหม ตอนรัฐประหาร ๔๙ เขาจะเปลี่ยนชื่อ OTOP นะ เพราะเขามองว่ามันคือ One Thaksin One Potjaman โอ้โห ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมยังคิดไม่ได้เลย มันเก่งจริงๆ ไม่รู้คิดได้ยังไง ทั้งๆ ที่จริงๆ มันคือ One Tambon One Product”

เออ…ก็เพิ่งได้ยินนี่แหละ
ว่ามีคนคิดเปลี่ยนชื่อ OTOP เพราะอิจฉาว่าจะหมายถึง One Thaksin One Potjaman

เคยได้ยินแต่คนเขาว่า OTOP ย่อมาจากคำว่า
One Thaksin One Prisoner!

เปลว สีเงิน

๙ มีนาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
๘ เดือน “ไปแล้ว-ไปเลย” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “ลานีญา” พาฝนชะฝุ่นกรุงคลุ้ง “อะฟลาท็อกซิน” จากข้าวเน่า เย็นวันวาน ตอนบ่ายแก่ แต่แป๊บเดียวเหือดเม็ด แดด “ผีตากผ้าอ้อม” สาดแทน...
Read More
0 replies on ““บัตรคนจน” กับ “คนอิจฉา” – เปลว สีเงิน”