31 พ.ค.63 เวลา 15.20 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ชี้แจง พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อการลงทุนและดูแลประชาชน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบของประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทั้งประชาชนทั่วไป เกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง เด็กและเยาวชน กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ คนพิการ ซึ่งการช่วยเหลือเงิน 5,000 บาท เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดรายได้ของประชาชน ขออย่าเพียงแต่ดูแค่ ร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการตามการบริหารราชการตามปกติ ตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งการดูแล เยียวยา ชดเชย รวมทั้งมาตรการลดผลกระทบทั้งมาตรการการเงิน การคลัง งบประมาณ รวมทั้ง ขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากภาคธุรกิจ เพียงคาดหวังให้ช่วยเหลือดูแลการประกอบการ ดูแลลูกจ้างพนักงานเพื่อไม่ให้เกิดการว่างงานเท่านั้น ขอยืนยันว่า วันนี้ทุกกลุ่มคนในประเทศต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการการดูแลช่วยเหลือของรัฐบาลประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่
1) การลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า-ประปา ค่าโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต ค่าเชื้อเพลิง การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น
2) การเพิ่มสภาพคล่อง อาทิ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา การชะลอเลื่อนการชำระภาษี การเลื่อนส่งเงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3) การเยียวยาทุกคน เช่น กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเยียวยาเด็กที่ครัวเรือนยากจน การช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นค่าอาหารแก่นักเรียนยากจนกว่า 7.5 แสนคนตามกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ศธ. ตชด. ทั่วประเทศ ดูแลเด็กนอกระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งรัดการจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบ Big Data เพื่อการบริหารในอนาคตด้วย ซึ่งประชาชนต้องร่วมมือด้วย
4) การชะลอหนี้สินเดิม อาทิ การพักเงินต้น การปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ยผ่านธนาคารต่าง ๆ ทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลอยู่ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถสั่งการ
5) การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มเติม การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะมีกองทุนจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้เสีย เอ็นพีแอลหรือมีศักยภาพน้อย แต่คำนึงถึงการใช้เงิน เพราะทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินของพี่น้องประชาชน
นายกรัฐมนตรีชี้แจง รัฐบาลเตรียมมาตรการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่ง 400,000 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด 19 จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก โดย
1) สนับสนุนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศให้เดินต่อ ทั้งกลุ่มกิจการที่มีศักยภาพ SMEs วิสาหกิจรายเล็ก ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป ภาคการส่งออกทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง
2) เน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย เสริมภูมิคุ้มกันของประเทศให้ดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังยินดีให้มีการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใสในการใช้เงินกู้ เพราะเป็นเงินแผ่นดินมีการเบิกจ่ายเช่นเดียวกับเงินงบประมาณปกติ ดังนั้น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบการใช้เงินกู้เช่นเดียวกับการใช้เงินแผ่นดินได้ นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะจัดให้มีเว็บไซต์ติดตามความก้าวหน้าแสดงผลประโยชน์และผลลัพธ์แต่ละโครงการ กระทรวงการคลังรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้เป็นการหารือของสมาชิกรัฐสภา
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นานาชาติยกย่องความสำเร็จของไทยในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข ทหาร พลเรือน ประชาชน อาสาสมัครจิตอาสา รัฐบาลทำหน้าที่อำนวยการและอำนวยความสะดวก จัดหาสิ่งของสิ่งตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ ที่สำคัญเพราะเป็นการทำงานร่วมกันของคนทั้งแผ่นดินและได้ความร่วมมือจากต่างประเทศ อาทิ การวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีน การนำคนไทยกลับบ้าน
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ โดยหลายประเทศมองสถานการณ์ที่มีความสงบเรียบร้อย ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ผู้ประกอบการประเทศต่าง ๆ เตรียมย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยมากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร/อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เกษตรและอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อการกระจายรายได้และการจ้างงานภายในประเทศเป็นจำนวนมากในระยะต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้เชื่อมั่นและไว้วางใจรัฐบาล ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารขอยืนยันจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยข้อมูลที่รอบด้าน การประยุกต์หลักวิชาการอย่างเหมาะสม ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการ คณะที่ปรึกษาที่ตั้งขึ้น ด้วยเจตนาดี ความพยายาม การปฏิบัติตามกฎหมายและความสร้างสรรค์ พร้อมขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้ร่วมอภิปราย ให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับในวันนี้