เข้าหน้าฝนแล้ว หลายๆ คนอาจไม่ชอบเท่าไร โดยเฉพาะในสังคมเมือง ฝนตกทีไร ปัญหาที่ตามมา การจราจรติดขัด รถติด เดินทางไม่สะดวก ตากผ้าไม่แห้ง และอีกปัญหาที่ตามมาคือ โรคติดต่อที่มากับหน้าฝนนั่นเอง ซึ่งเป็นฤดูที่มีการระบาดและแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ
พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ให้ข้อมูลว่า ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเรื่องสุขภาพ เนื่องจากความชื้นในอากาศที่สูงขึ้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมักจะแพร่ระบาดได้ง่าย และมีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกันหลายโรค ได้แก่
1. ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส Influenzae มักมีอาการปวดศีรษะ ไอแห้ง น้ำมูก ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
2. โควิด 19 มักมีไข้สูง น้ำมูก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาจมีการสูญเสียการได้กลิ่นรับรสในบางราย ถึงแม้ปัจจุบันจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่ก็อันตรายได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว
3. ปอดอักเสบ หรือปอดบวม เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย อาจมีอาการสับสน มึนงงในผู้สูงอายุ
4. RSV อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่ลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่างได้ มักมีอาการไอ มีน้ำมูกเล็กน้อย ไม่มีไข้ แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ อาจมีอาการรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม หอบหืดกำเริบ หรือภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจขาดเลือด หัวใจวายจากน้ำท่วมปอดได้
5. ไข้เลือดออก มีไข้สูงตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามแขน ขา หลังไข้ลดจะมีอาการซึม เหงื่อออก บางรายอาจมีภาวะเลือดออก ความดันโลหิตต่ำ ช็อค ทำให้เสียชีวิตได้
ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการได้มากน้อยแตกต่างกัน บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย บางคนอาการหนักถึงขั้นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือมีโรคแทรกซ้อนเพิ่มเติม ดังนั้นเราจึงควรดูแลสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สารอาหารครบถ้วน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการไปที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด ก็จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม หลายโรคสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือถึงแม้จะติดเชื้อก็จะทำให้ลดการป่วยหนัก หรือโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ ดังนั้นนอกจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เสริมภูมิคุ้มกันเป็นประจำ ก็ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตามกำหนดและคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการ โดยเฉพาะวัย 50 ปีขึ้นไป หรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นต้น การป้องกันเป็นทางเลือกที่ดีและทำได้ง่ายกว่าการรักษานะคะ