นอนกรนไม่ใช่แค่เสียงรบกวน แต่คือสัญญาณสุขภาพเสื่อม

หลายคนอาจคิดว่า “การนอนกรน” เป็นเพียงปัญหากวนใจเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลร้ายแรง แต่ความจริงแล้ว เสียงกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะ “หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือแม้แต่โรคหลอดเลือดสมอง

แพทย์หญิงณัชชา อินทรกำแหง อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท ชำนาญการด้านการนอนหลับ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า การนอนกรนสามารถเกิดได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ความเหนื่อยล้าสะสม การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน น้ำหนักตัวเกิน ภาวะภูมิแพ้หรือคัดจมูก ทำให้หายใจลำบาก แม้อาการนอนกรนจะดูไม่รุนแรง แต่หากเกิดบ่อยและมีอาการร่วมอื่น ๆ อาจเป็นสัญญาณของ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น(Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งมักจะมีอาการหลับไม่สนิท ง่วงในเวลากลางวันทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อดนอน ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากอวัยวะทางเดินหายใจ เช่น จมูก ช่องคอ ลิ้นหรือผนังคอหอย เกิดความผิดปกติ จนส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ทำให้อากาศผ่านได้ลดลง หรือเกิดการอุดกั้น นำไปสู่การหยุดหายใจชั่วขณะ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก หากไม่รักษาอาจนำไปสู่การเป็นโรคทางหัวใจ และโรคอื่น ๆ ได้ โดยอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คือ

  • นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ
  • สะดุ้งตื่นกลางดึกเหมือนหายใจไม่ออก
  • ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกปากแห้ง เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน
  • สมาธิและประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อแยกว่าเป็นการนอนกรนประเภทใด และสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่า มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือไม่และตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ ว่าหลับได้สนิทแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอน คลื่นสมองผิดปกติเช่นลมชักขณะหลับ
การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่

การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ และหยุดหายใจหรือหายใจเบาหรือไม่

การตรวจวัดลมหายใจ ที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยแค่ไหน

ตรวจเสียงกรน เพื่อดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน

การตรวจท่านอน ในแต่ละท่านอนมีการกรน หรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร

การทำ Sleep Test หรือการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน (Standard PSG) ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) ควบคุมดูแลโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทาง เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่าง การตรวจชนิดนี้สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนเป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทหรือไม่ และมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้าพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อย อาจจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ(CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุด ที่ใช้รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็กผลซ้ำอีกครั้งด้วยจึงจะเชื่อถือได้

แนวทางการรักษาหลังเข้ารับการตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีความผิดปกติของภาวะนอนกรน แนะนำจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ เช่น ลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการนอน หลีกเลี่ยงการนอนหงายเพราะจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย หลีกเลี่ยงยาและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ เป็นต้น

ส่วนกรณีของภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีวิธีการรักษาได้หลายวิธีได้แก่

1.การใช้เครื่องช่วยหายใจCPAP ซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 90-99%
2. การรักษาทางเลือกด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย อาจช่วยแก้ไขการหยุดหายใจทำให้ไม่ต้องกลับไปใช้หรือลดการใช้เครื่อง CPAP ลงได้ ซึ่งการผ่าตัดปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโครงสร้างความผิดปกติของโครงหน้า จมูก และปากของแต่ละคน
3.การใส่อุปกรณ์ทันตกรรม (Oral appliance) ช่วยดึงลิ้นและกรามบางส่วนมาข้างหน้า เพื่อลดการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ

อย่างไรก็ตามการนอนกรนที่เกิดบ่อยและมีอาการร่วม อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงโดยไม่รู้ตัว หากสังเกตอาการตัวเองหรือคนรอบข้างว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม เพราะ การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อน และฟื้นฟูคุณภาพการนอนให้กลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง

Written By
More from pp
โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก “บางคนและบางองค์การของประเทศไทย หยุดด้อยค่าและใส่ร้ายวัคซีนจีนโดยไม่มีเหตุผล”
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ความว่า ปีนี้ ประเทศจีนได้ส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยในโอกาสแรก เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยได้พยายามเอาชนะกับความยากลำบากที่ความต้องการในการใช้วัคซีนภายในประเทศยังสูงอยู่ และจำนวนวัคซีนที่ผลิตยังไม่เพียงพอ ซึ่งวัคซีนจีนทุกโดสก็เป็นมิตรไมตรีจิตรอันจริงใจที่รัฐบาลและประชาชนจีนมีต่อรัฐบาลและประชาชนไทย
Read More
0 replies on “นอนกรนไม่ใช่แค่เสียงรบกวน แต่คือสัญญาณสุขภาพเสื่อม”