“ไฮโดรเจน” หนึ่งในพลังงานทางเลือกใหม่ ที่ถูกจับตามองในระดับโลก จากความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทุกประเทศตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเชื่อมั่นว่าไฮโดรเจนจะกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ความสนใจในไฮโดรเจนมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในประเทศไทยเองก็คงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป
ไฮโดรเจนถือว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในธรรมชาติที่รู้จักกันมานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยเกิดจากน้ำ (H2O) เป็นสารประกอบหลักและถือว่ามีมากที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกยกระดับให้เป็นแหล่งพลังงานแห่งอนาคต เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และเผาไหม้ได้สะอาด โดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เพียงไอน้ำเป็นผลลัพธ์ ซึ่งถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งไฮโดรเจนไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะแค่ภาคการผลิตพลังงานเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ
เช่น ภาคอุตสาหกรรม ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะ ปิโตรเคมี และเป็นเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูง, ภาคการผลิตไฟฟ้า ผสมกับก๊าซธรรมชาติหรือใช้โดยตรงในกังหันก๊าซและเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และ ภาคการขนส่ง ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือใช้เป็นพลังงานโดยตรงในรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) และเพื่อสะท้อนถึงความสะอาดและแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิต ไฮโดรเจนจึงถูกจัดจำแนกตามสี ได้แก่ สีน้ำตาล ผลิตจากถ่านหิน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
สีเทา ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รองลงมาจากสีน้ำตาล สีฟ้า ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกันกับไฮโดรเจนสีเทา แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต จะถูกดักจับและกักเก็บด้วยเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage สีชมพู ผลิตโดยใช้กระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ (Water Electrolysis) และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้มีต้นกำเนิดมาจากพลังงานนิวเคลียร์ และ สีเขียว เป็นที่สุดของความสะอาด ผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์หรือพลังลม
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการดำเนินงานเรื่องไฮโดรเจนยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ในประเทศไทย และยังมีความท้าทายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ ราคาไฮโดรเจนสีเขียวและไฮโดรเจนสีฟ้าสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ความยากในการจัดเก็บและขนส่ง และความปลอดภัยในการใช้งาน แต่แม้การใช้งานไฮโดรเจนในระดับพาณิชย์ในไทยจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาอย่างชัดเจนใน 3 ระยะ ได้แก่
1.ระยะสั้น (2025–2030) เตรียมความพร้อม เช่น โครงการนำร่องและแผนธุรกิจใหม่ 2. ระยะกลาง (2031–2040) พัฒนาไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ ผสมในระบบก๊าซ และส่งเสริมการลงทุน และ 3.ระยะยาว (2041–2050) ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions) อย่างเต็มรูปแบบ
ในประเทศไทยมีเอกชนหลายรายเริ่มเข้ามามีแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาไฮโดนเจนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่ม ปตท. ที่เดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การก่อตั้ง Hydrogen Thailand Club (ปัจจุบันเปลี่ยนสถานะเป็นสมาคมไฮโดรเจนประเทศไทย) ไปจนถึงความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ สร้างสถานีไฮโดรเจนนำร่องแห่งแรกในไทย รวมถึงการชนะประมูลโครงการไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศโอมานในปี 2566 นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ RINA ประเทศอิตาลี พัฒนาและทดสอบ การเผาไหม้ของก๊าซผสมไฮโดรเจน กับก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพัฒนา ห้องปฏิบัติการ สถาบันนวัตกรรม ปตทเพื่อรองรับการทดสอบไฮโดรเจนในระดับอุตสาหกรรม
พร้อมกันนี้ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการ ผสมไฮโดรเจนเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ของประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังเร่งพัฒนา ภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมหลักของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งล้วนแต่เป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด