ตายยกเข่ง #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วันก่อนโน้น….

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “คนตั้งคำถามกันมากว่า ทำไมคอร์รัปชันไม่ลดลง!!”

สาเหตุหนึ่งในนั้นรู้มั้ยครับว่าคืออะไร?

คือ…รัฐธรรมนูญปราบโกง กำลังถูกลดทอนคุณค่า และกำลังจะถูกแก้ไขในเร็ววัน

คนที่อยู่ในองค์กรต้านโกงออกปากมาอย่างนี้ ก็แสดงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ถูกค่อนแคะว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทรราชสืบทอดอำนาจนั้น สามารถปราบนักการเมืองขี้ฉ้อได้จริง

แต่…แปลกตรงที่ การเมืองที่อ้างตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย บางก็ว่าเป็นนักการเมืองพันธุ์ใหม่ กลับหลับหูหลับตาไม่สนเสียงค้าน

กระเหี้ยนกระหือรือจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้

วานนี้ (๑๒ กุมภาพันธ์) หัวหน้าแก๊ง สว.พันธุ์ใหม่ “นันทนา นันทวโรภาส” ค้านหัวชนฝากับการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนว่า การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ ซึ่งนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นต้องทำประชามติก่อนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้หรือไม่

“…การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวดมาตรา ๑๕/๑ ถูกบรรจุเข้าสู่วาระแล้ว กระบวนการต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอน ไม่ควรมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเท่ากับเป็นการยืดเยื้อเวลาโดยไม่จำเป็น…”

“…เป็นการทำซ้ำในสิ่งที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัยไม่รับพิจารณามาแล้ว การนำเรื่องนี้กลับไปให้ศาลตีความอีก เท่ากับเป็นการยื้อเวลาออกไป ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ใช้เวลามานานมากแล้ว…”

“…เรื่องนี้เป็นที่จับตาของมวลชน หากการพิจารณาในรัฐสภาถูกขัดขวาง ก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่บานปลายได้…”

นี่คือการขู่ใช่หรือไม่

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในระเบียบวาระการประชุมแล้วอย่าขวาง

เตรียมจะใช้มวลชนกดดันเพื่อให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างนั้นหรือ

เบื้องต้นพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง ๒ พรรคคือ พรรคส้ม กับพรรคเพื่อไทย เห็นพ้องว่า ปล่อยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไว้ไม่ได้

ต้องฉีกทิ้ง!

แต่วิธีต่างกันนิดหน่อย

ข้อเสนอพรรคส้มและพรรคเพื่อไทยระบุเหมือนกันคือให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง

แต่มีข้อแตกต่างที่วิธีการเลือกตั้ง

พรรคประชาชนใช้ระบบผสม แบ่ง ส.ส.ร. ๒๐๐ คน ออกเป็นสองประเภท

ประเภทแรกมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตตามจังหวัด ๑๐๐ คน

ประเภทที่สองมาจากแบบบัญชีรายชื่อใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ๑๐๐ คน

ส่วนพรรคเพื่อไทยให้ ส.ส.ร.ทั้ง ๒๐๐ คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น

อำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ร.ก็ยังคงมีความแตกต่างกัน

ร่างฉบับเพื่อไทยระบุ ส.ส.ร.มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ห้ามแก้ไขเนื้อหาในหมวด ๑ บททั่วไป และหมวด ๒ พระมหากษัตริย์

ส่วนร่างฉบับพรรคประชาชนปล่อยฟรี

ทั้ง ๒ ร่างเข้าไปอยู่ในระเบียบวาระของสภาแล้ว

คำถามคือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นขึ้นหรือยัง

ที่ต้องถามเพราะมีเงื่อนไขสำคัญที่ต้องคำนึงถึง นั่นคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ วินิจฉัยว่า

“…รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง…”

แล้วต้องถามประชาชนตอนไหนว่าอยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือเปล่า?

ก่อนที่ สส.จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา

หรือหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมที่จะพิจารณาวาระที่ ๑ แล้ว

พูดง่ายๆ คือ เข้าไปอยู่ในกระบวนการของสภาแล้ว

ลองใช้สามัญสำนึกพิจารณาเรื่องนี้ดูครับ

หากจะบอกว่า สส.ยัดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาไปก่อนแล้วค่อยถามประชาชนทีหลังว่าอยากได้หรือเปล่า ก็ไม่เห็นเป็นไร ซึ่งปัจจุบันมันอยู่ในสภาพนี้

นี่คือการลัดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

เป็นการทำความผิดสำเร็จแล้วใช่หรือไม่

ถ้าผิดแล้วใครผิดบ้าง

ก็บรรดา สส.ที่เข้าชื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของทั้ง ๒ พรรคการเมืองข้างต้นนี่แหละครับ

หากถูกเชือดยกก๊วน จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้นะครับ เพราะก่อนที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา ก็ยึกยักกันอยู่พักใหญ่

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่กล้าบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเพราะเกรงว่า อาจกระทบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจึง นัดประชุม และลงมติด้วยเสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๓๓ เสียง ไม่เห็นด้วย ๑๐๓ เสียง และงดออกเสียง ๑๗๐ เสียง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยอีกครั้ง

๑๗ เมษายน ๒๕๖๗ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

ด้วยมติเอกฉันท์ ๗ ต่อ ๐

ให้เหตุผลว่า การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา

กรณีนี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา

คำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔/๒๕๖๔ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว

ก็ไปตีความกันว่ายื่นเข้าสภาฯ ได้ แล้วค่อยถามประชาชนทีหลัง

ชี้โพรงไว้เลยครับ หากจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ต้องยื่นให้ชัดว่าจะถามเรื่องอะไร

ถามไปเลยครับ คำวินิจฉัยที่ว่า “ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” นั้น จะต้องถามก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาหรือไม่

แล้วทำไมศาลถึงใช้คำว่า “เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว คือร่างก่อนเข้าสภา หรือร่างที่ผ่านสภา ๓ วาระก่อนประกาศใช้กันแน่

ลองอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ละเอียดนะครับ

ทำไมสมัย “ประธานชวน” ไม่บรรจุร่างแก้ไขเข้าสภา

มาสมัย “วันนอร์” กลับบรรจุ

งานนี้ถ้าตาย คือตายยกเข่งนะครับ

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
รดน้ำขอพรวันปีใหม่ไทย
อนัคพล อิงคะกุล รองประธาน มิราเคิล กรุ๊ป นำคณะผู้บริหารและพนักงาน มิราเคิล กรุ๊ป เข้ารดน้ำขอพร ดร.อัศวิน อิงคะกุล ประธาน...
Read More
0 replies on “ตายยกเข่ง #ผักกาดหอม”