ดับฝันพรรคส้ม #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

รู้แล้วจะอึ้ง!

เผื่อบางท่านยังไม่ได้อ่าน หรือผ่านตา รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร

รายงานฉบับนี้ เนื้อหารวมปก มีความหนา ๒๑๘ หน้า

ที่เถียงกันเรื่อง ต้องนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ด้วยหรือไม่นั้น หากพิจารณาจากรายงานฉบับนี้ จะพบความจริงที่แทบไม่ได้ซ่อนอยู่ในรายงานเลย

เพราะอะไรรู้มั้ยครับ?

เพราะเนื้อหาของรายงาน ๙๕% พูดถึง ม.๑๑๒

จนไม่อาจเรียกว่า “แนวทาง” ได้เลย

เหมือนเป็นการชงให้นิรโทษกรรม ม.๑๑๒ เสียมากกว่า

แม้ในรายงานจะระบุถึงความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ แต่น้ำหนักโดยรวม เสียงของกรรมาธิการฯ ฝั่งที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ นั้นดังกว่า

รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาหลักอยู่ ๒ ส่วน คือ

๑.ผลการพิจารณาศึกษา

ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม

ประเด็นคดีที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม (คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว)

รูปแบบ/กระบวนการในการนิรโทษกรรม (การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน)

ควรกำหนดนิยามของคำว่า “การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง”

ควรกำหนดขอบเขตของการนิรโทษกรรม

ข้อดีข้อเสียการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรม

ในคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว

ความเห็นของกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับคดีที่มีความอ่อนไหว

การอำนวยความยุติธรรมโดยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

บัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ

ทั้งหมดนี้ล้วนระบุถึงข้อดีข้อเสีย ความผิดตามมาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๒ แทบทั้งสิ้น

๒.ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงภาคผนวก ก็ระบุถึงการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ล้วนๆ

ฉะนั้นชื่อรายงานที่ถูกต้อง ไม่น่าจะใช่รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร

แต่ควรจะใช้ชื่อว่า รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ม.๑๑๒ สภาผู้แทนราษฎร เสียมากกว่า

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในรายงานฉบับนี้ และนับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือ ข้อ ๙ ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ที่อภิปรายในสภาโดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” วานนี้ (๒๔ ตุลาคม)

“….๙.๑ สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้งมานาน การนิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอันจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ และทำให้สังคมกลับคืนสู่สภาพปกติ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงมีข้อสังเกตว่า คณะรัฐมนตรีควรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว

พร้อมทั้งออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และแจ้งผลของการพิจารณาหรือการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มายังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผลดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสามสิบห้าคณะ เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาต่อไป…”

นี่คือสารตั้งต้น!

หากรัฐบาลหรือสภาเลือกแนวทางนิรโทษกรรมคดีที่มาจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่รวมคดีคอร์รัปชัน ฆ่าคนตาย และ ม.๑๑๒ ปัญหาจะไม่เกิด

แต่หากเลือกที่จะนิรโทษกรรมเหมาเข่ง การเมืองไทยจะย้อนกลับไปปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗

อีกข้อคือ

“…๙.๕ สภาผู้แทนราษฎรควรมีข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกลไกของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ดังต่อไปนี้

๑) กรณีคดีอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน เจ้าพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เร่งรัดกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน

โดยพิจารณาจำแนกถึงมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดว่า

(๑) เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

หรือ (๒) เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้

หรือ (๓) เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจใช้อำนาจในการทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเสนอต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๐ ถึงมาตรา ๑๔๗

๒) กรณีที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศหรือไม่ เพื่อเสนอต่ออัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้องตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๑ ที่บัญญัติว่า

“มาตรา ๒๑ พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม”

เฉพาะในกรณีความผิดที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น

ในกรณีที่มีฐานความผิดทางอาญาโดยเนื้อแท้ หรือเป็นความผิดที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ อาทิ การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ก่อการร้าย ยาเสพติดให้โทษ ลักทรัพย์ หรือการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ให้ดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และการจัดหาทนายให้แก่ผู้ต้องหา…”

ดูดีสำหรับคนที่ต้องคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ก็ซ่อนประโยชน์ให้กับบุคคลที่ทำผิดคดี ม.๑๑๒ อยู่ดี

แม้จะให้ดำเนินคดี ม.๑๑๒ ตามกระบวนการต่อไป แต่ต้องให้ประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว

ไปสั่งให้ศาลทำตามอย่างนั้นหรือ

แม้สภาลงมติคว่ำ! ไม่ส่งรายงานไปให้รัฐบาลดำเนินการต่อ ด้วยมติ ๒๗๐ ต่อ ๑๕๒ เสียง เพราะพรรคเพื่อไทยกลับลำ แต่รายงานฉบับนี้ยังมีชีวิตอยู่ครับ

ไม่ได้ตายจาก

Written By
More from pp
การบินไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินกรณีไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดในจีน
นายนนท์ กลินทะ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลจีนได้ออกประกาศยกเลิกการเดินทางเข้าออกในเมืองอู่ฮั่น ของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเมืองใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงนั้น
Read More
0 replies on “ดับฝันพรรคส้ม #ผักกาดหอม”