“อนุทิน” เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” รอบรองชนะเลิศ เน้นย้ำข้าราชการมหาดไทยน้อมนำพระดำริทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ ต่อยอดคุณค่าของผ้าไทย สร้างรายได้พี่น้องประชาชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

23 กันยายน 2567 เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1 – 4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานเปิดงานการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย น.ส.ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจตรี ไพศาล วงศ์วัชรมงคล นายคารม พลพรกลาง ร่วมในงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งมีความหมายแสดงออกอย่างชัดเจนว่า พระองค์ท่านและพสกนิกรไทยต่างมีความจงรักภักดี ที่จะถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทรงพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ให้เป็นต้นแบบแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ได้พัฒนาฝีมือการทอผ้าในทุกเทคนิค ให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย และประยุกต์รูปแบบลวดลายสีสันที่ร่วมสมัย โดยนำสิ่งรอบตัวจากธรรมชาติมาผสมผสาน แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

นอกจากนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการใช้สีธรรมชาติ การส่งเสริมเรื่องการตลาดในการเพิ่มเรื่องเล่า Story Telling การพัฒนารูปแบบ Packaging และการใช้วัสดุจากท้องถิ่น การใช้เส้นไหมเส้นฝ้ายที่มาจากธรรมชาติ ด้วยพระอัจฉริยภาพดังกล่าวกลายเกิดเป็น Sustainable Fashion หรือ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริของพระองค์ท่าน ภายใต้ motto “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อเชิดชูเกียรติและสืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม และมุ่งส่งเสริมให้คนไทยได้สัมผัส ชื่นชม และสวมใส่ผ้าไทย โดยจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567

“การที่พระองค์พระราชทานชื่อของผ้าลายนี้ว่า “สิริวชิราภรณ์” เป็นชื่อที่มีความเป็นมหามงคล เพราะทุกคนจะสังเกตว่า ในคำว่า “สิริวชิราภรณ์” จะมีพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในคำนี้ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และที่สำคัญที่สุด คือ พระนามของทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ จึงถือเป็นภาษา เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติได้อย่างงดงาม มีคุณค่า มีความหมายมีความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทุกคน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมที่จะน้อมนำแนวพระดำริของเจ้าฟ้าสิริวัฒณวรีฯ ในการส่งเสริมศิลปะ ภูมิปัญญา ของศิลปินไทยทุกคน ทำให้ผ้าไทยทุกชนิด ทุกการออกแบบ ได้เป็นที่นิยมและสามารถเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทยจะผลักดันและต่อยอดโครงการเพื่อเพิ่มคุณค่าของผ้าไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถือเป็นมงคลแห่งชีวิตที่ได้ถวายงานรับใช้องค์ทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ ผู้ซึ่งเป็นเจ้านายที่พระราชทานความเมตตาให้เราเสมอมา

ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนได้มากำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นทุกฝ่ายถวายงานด้วยความจงรักภักดี ทั้งทีมงานของพระองค์ท่าน ตลอดจนทีมงานของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ทีมงานของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ช่างทอผ้า ศิลปิน อาจารย์จากสถาบันต่างๆ ในส่วนตัวทุกครั้งที่เห็นทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ พระราชทานพระเมตตาด้วยการเสด็จทรงงานที่เกี่ยวกับผ้าไทยสิ่งที่ได้เห็น คือ ความสบายพระทัย และทรงพระเกษมสำราญเป็นอันมาก ยิ่งทำให้พวกเราทุกคนมีความปลื้มปีติที่ได้ทำให้เจ้านายผู้ทรงเป็นที่รักของเราได้ทรงมีพระเกษมสำราญ ซึ่งถือเป็นภารกิจของพวกเราเช่นกัน

“วันนี้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี ผมมั่นใจว่าท่านรัฐมนตรี ธีระรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ จะทุ่มเทให้กับงานของท่านได้เป็นอย่างดี ผมได้มอบนโยบายให้ท่านดูแลในส่วนของงานที่เกี่ยวข้องกับทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ อย่างเต็มที่ ไม่เหลียวหลัง เดินหน้าอย่างเดียวและขอให้พวกเราทุกคน ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำและสานต่อ ต่อยอด สิ่งที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้วางรากฐานเอาไว้ ขอให้เราได้ดำเนินการต่อไป เพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน เพื่อรายได้ของผู้ที่ใช้ภูมิปัญญา ได้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ออกมา และทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยได้แผ่กระจายไปทั่วโลก ขอให้พวกเราร่วมกันทำงานถวายการรับใช้ ถวายงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยความสุข ด้วยความอิ่มใจ เพื่อให้พระองค์ท่านทรงมีพระเกษมสำราญและทรงทุ่มเทให้กับประเทศของเราสืบไป” นายอนุทิน กล่าว

นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญา และพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึงวันที่ 21 กันยายน 2567 โดยมีผู้ประกอบการโอทอป ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ส่งผลงานเข้าประกวด รอบตัดสิน ระดับภาค (Quarter Final) จากทั่วประเทศ จำนวน 8,117 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 534 ชิ้นงาน คัดเลือกเหลือประเภทผ้า จำนวน 334 ผืน และประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 21 ชิ้น และรอบรองชนะเลิศ ระดับประเทศ (Semi Final) คัดเลือกเหลือประเภทผ้า จำนวน 175 ผืน และ ประเภทงานหัตถกรรม เหลือ 10 ชิ้น ดังนี้ 1. ภาคกลาง ประเภทผ้า จำนวน 17 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 6 ชิ้น 2. ภาคเหนือ ประเภทผ้า จำนวน 36 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 2 ชิ้น 3. ภาคใต้ ประเภทผ้า จำนวน 18 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 2 ชิ้น 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผ้า จำนวน 104 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 0 ชิ้น

โดยการประกวดในรอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดที่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่น และวงการผ้าไทย ที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ได้แก่ คุณธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) ประจำปี 2562 นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ประจำปี 2564 ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยเจ้าของแบรนด์ THEATRE ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ASAVA นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน อาจารย์ประจำหลักสูตรแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ นางสาวเจนสุดา ปานโต นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ JANESUDA

ทั้งนี้ ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในวันนี้ จะเข้าไปประกวดในรอบตัดสิน ระดับประเทศ (Final) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในการตัดสิน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

สำหรับการประกวดในครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมในงาน อาทิ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และคณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่าย ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

Written By
More from pp
ดีอีเอส เดือด! เตรียมร้องศาลปิด Facebook ในไทย หลังเมิน ปล่อยมิจฉาชีพยิง Ad. หลอกประชาชน
รมต.ชัยวุฒิ กร้าว พร้อมยื่นศาล ปิด Facebook สิ้นเดือนนี้ เร่งสกัดมิจฉาชีพหลอกลงทุน อ้างตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต. ระบาดบนสื่อออนไลน์ หวั่นเป็นภัยต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ
Read More
0 replies on ““อนุทิน” เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” รอบรองชนะเลิศ เน้นย้ำข้าราชการมหาดไทยน้อมนำพระดำริทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ ต่อยอดคุณค่าของผ้าไทย สร้างรายได้พี่น้องประชาชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น”