ผักกาดหอม
ฆ่าไม่ตาย
ยักไหล่แล้วไปต่อ
รวมไปถึง พาดพิงศาลรัฐธรรมนูญว่า “เสนียด”
นั่นคือปฏิกิริยาหลัง พรรคประชาชน ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากด้อมส้ม
แต่…จะบอกว่ายังไม่จบครับ
ผลของนโยบายแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล ที่นำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗
และเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล
ยังเหลือกรณี ๔๔ สส.อดีตพรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
คำร้องการยื่นร่างกฎหมายแก้ ม.๑๑๒ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๒๓๕ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่อยู่ในมือ ป.ป.ช.แล้ว
ที่น่าหวาดเสียวสำหรับชาวด้อมส้มคือ มีชื่อของ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” และ “ศิริกัญญา ตันสกุล” อยู่ใน ๔๔ คนที่ว่าด้วย
เมื่อคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลคือสารตั้งต้นของการร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ๔๔ สส. ในขณะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โอกาสที่ ๔๔ สส.จะหลุดจากเก้าอี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
แม้มีความพยายามจะอธิบายจาก “มุนินทร์ พงศาปาน” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขวัญใจแม่ยกส้ม ว่าไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะการเสนอแก้กฎหมายเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติ
“ต้องไม่ลืมว่าการที่ศาลอ้างเหตุแห่งการสั่งยุบพรรค ไม่ได้วินิจฉัยโดยอ้างจากเหตุของการเสนอแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังอ้างถึงการกระทำของ สส.ในหลายการกระทำและในหลายวาระด้วยกัน
เพราะฉะนั้นแล้ว การเสนอแก้กฎหมายโดยลำพังตัวมันเอง เป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ
ต่อให้กฎหมายที่เสนอมันอาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม มันก็ยังไม่ใช่การกระทำผิดกระทำชั่วใดๆ เพราะการเสนอกฎหมาย เป็นเพียงการโยนคำถามให้ผู้แทนประชาชนร่วมกันถกเถียงและหาทางออก
ถ้าเราไปจำกัดว่าเรื่องใดเสนอได้หรือไม่ได้ ก็จะเป็นการไปจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกเช่นนี้”
ถูกต้องครับ!
การยุบพรรคก้าวไกลมาจากพฤติกรรมโดยรวมของ สส.พรรค ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แต่การนำการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ ม.๑๑๒ ไปเทียบกับกฎหมายอื่น ดูจะตื้นเขินไปหน่อยในแง่การวิจารณ์ร่างกฎหมาย
ยกตัวอย่างการเสนอกฎหมายทำแท้ง หรือกฎหมายกาสิโน ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการถกเถียงกันเรื่องความหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม
แต่…ประมวลจริยธรรม นั้นมันมีความหมายมากกว่าศีลธรรม การทำชั่ว
หรือการกระทำที่ผิดหลักศาสนา
ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๖๓ หมวด ๑ ว่าด้วยเรื่อง อุดมคติของการเป็นสมาชิกและกรรมาธิการ อธิบายความต่างเอาไว้ชัดเจน
ข้อ ๖ ระบุว่า สมาชิก (ส.ส.) และกรรมาธิการต้องจงรักภักดีและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ ๗ สมาชิก (ส.ส.) และกรรมาธิการต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเคร่งครัด
ฉะนั้น…จึงเห็นได้ว่า กรณี ๔๔ สส.อดีตพรรคก้าวไกล ยื่นแก้ ม.๑๑๒ ที่มีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาจเข้าข่าย ผิดประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้เช่นกัน
เมื่อกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคก้าวไกล มีส่วนที่พูดถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ ม.๑๑๒ อยู่หลายตอนเช่นกัน
“…ถือได้ว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ ๑ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ฉบับที่ พ.ศ. … แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ ๒๕ มี.ค. ๒๕๖๔ ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสอง ที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้น โดยใช้วิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา…”
“…การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ขอโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น…”
คำวินิจฉัยของศาล มิได้ใช้คำว่า “หรือ” แต่ใช้คำว่า “และ”
จึงไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่หมายถึงพฤติกรรมทั้งหมด
การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุดเช่นกัน
การสรุปว่า การยื่นแก้ ม.๑๑๒ ที่มีความหมายเท่ากับยกเลิก คือการยื่นผ่านกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา จึงไม่อาจฟังได้
แต่ “มุนินทร์ พงศาปาน” พูดเกินเลยหลักกฎหมาย ด้อยค่ากระบวนการเอาผิด ๔๔ สส.ไว้ล่วงหน้า
“…แต่ว่าบ้านเรามันก็ไม่แน่ เพราะอย่างที่หลายคนบอก คือหลายเรื่องอาจจะเป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ก็มีคนสงสัย ตั้งคำถามลักษณะแบบนี้มาตลอด
เพราะบางทีในทางกฎหมายมันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้าย มันก็เกิดผลบางอย่างทางกฎหมายขึ้นมา คนก็สงสัยว่า ทำไมหลักการตามกฎหมายมันเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันกลับเป็นไปได้
คนก็เลยบอกว่าเป็นเพราะเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเราก็บอกอะไรไม่ได้ แต่หากมองในเชิงกฎหมาย มันไม่มีทางที่จะเป็นเรื่องที่จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้เลย…”
ใช้ใจมากกว่าสมอง ผลมันก็ออกมาแบบนี้
คดีนี้หาก ป.ป.ช.ชี้มูลคดี ก็ต้องส่งศาลฎีกา
ศาลฎีกาจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น
แต่โดยหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ