สันต์ สะตอแมน
“ขอเป็นกำลังใจให้ อ.ปิยบุตร ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ในฐานะกัลยาณมิตรคนหนึ่ง”
เปล่า..ไม่ใช่ผม แต่เป็นคุณเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.คนดังนู่นเป็นคนพูด (เขียน) ส่วนที่ให้กำลังใจกันนั้น
เหตุมาจากคุณปิยบุตร แสงกนกกุล ตัดพ้อน้อยใจ ว่าในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
ผู้คนในสังคมให้ความสนใจเฉพาะข่าว พรรคก้าวไกลถูกยุบแล้ว ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้สนใจในสาระทางกฎหมาย ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกลในเรื่องนี้เลย!
ซึ่งนอกจากขอเป็นกำลังใจให้แล้ว คุณเทพไทยังได้ช่วยอธิบายความเพื่อให้คุณปิยบุตรได้รู้-ได้เข้าใจสภาพสังคม-คนไทยปัจจุบันอยู่หลายหัวข้อ
ก่อนจะลงท้าย.. “การที่ อ.ปิยบุตร บอกว่าจะใช้เวลาที่เหลือจนถึงวันที่ 7 สิงหาคมนี้ อธิบายเรื่องข้อต่อสู้ทางกฎหมายของพรรคก้าวไกลให้สังคมได้รู้ต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่ดี
อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลที่สังคมไทยได้รับรู้ และสื่อมวลชนจะนำไปขยายผล เพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป”
ครับ..ก็ไม่รู้สังคมจะได้ประโยชน์ด้านไหนบ้าง แต่ที่อยากจะบอกให้คุณเทพไทรู้ คนไทยน่ะไม่ใช่ไม่สนใจในสาระทางกฏหมาย หรือข้อต่อสู้-วิธีการ
ทั้งไม่ได้จะเน้นเฉพาะผลลัพธ์ หรือผลสัมฤทธิ์ ในเรื่องนั้นๆอย่างที่ตอบคุณปิยบุตร แต่เป็นเพราะคนเขารู้-เขาเห็น ว่าปลายทางของเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
และที่พรรคก้าวไกลต่อสู้อยู่นี้ เขาก็มองเป็นแค่การยกแม่น้ำทั้งห้ามา(ตะแบง)สู้เพื่อสร้างกระแสก็เท่านั้น!
อีกอย่าง เวลานี้คนไทยเขากำลังเดือดร้อนทุกข์ใจกังวลกับเรื่องปากท้องตัวเองที่การทำมาหากินฝืดเคืองลำบากยากเข็ญ
มากกว่าที่จะไปสนใจหรือตามฟังสาระข้อต่อสู้ทางกฏหมายของพรรคก้าวไกล..“ยุบ-ไม่ยุบก็ช่างแมร่งมัน” ได้ยินคนเขาคุยกันอย่างนี้!
ผมเองพอจะเข้าใจความรู้สึกคุณเทพไท เพราะที่นครศรีธรรมราชคนเขาพูดกันหนาหู ว่าน้องชายจะลงสมัครการเมืองท้องถิ่นในสีเสื้อพรรคก้าวไกล
เท็จจริง ผมก็ฟังหู-ไว้หู แต่มาได้ยิน(อ่าน)คุณเทพไทประกาศเป็น “กัลยาณมิตร” กับคุณปิยบุตรเข้าอย่างงี้ ที่เชื่อครึ่ง-ไม่เชื่อครึ่ง..
ก็เลยทำให้น้ำหนักทางเชื่อเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง..อะอาอะอ่า!
เอ้า..แต่นั่นต้องบอกว่า “เหลือเชื่อ” เพราะเข้ามานั่งเป็นเจ้ากระทรวงแค่ไม่กี่เพลา คุณสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมต.กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้เผย..
“กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้จัดทำร่าง พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.ฉบับใหม่
ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. แนวความคิดการให้เสรีภาพแก่บุคคลเพื่อการแสดงออกเป็นพื้นฐานของการพัฒนาและเป็นบ่อเกิดนวัตกรรมในสังคม
ซึ่งมีทั้งหมด 7 หมวด 112 มาตรา ซึ่งจะนำมาใช้แทน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ขณะนี้ได้ดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ
จากนั้นจะส่งร่าง พ.ร.บ.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ มีระยะเวลารับฟังความคิดเห็น 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2567”
ฉับไวแท้ ว่าแต่คนวงการหนัง-ประชาชนทุกภาคส่วนได้อ่านร่างพ.ร.บ.ฯครบทุกบรรทัด-ทุกหน้ารึยังล่ะ..
ผมน่ะไม่อ่านหรอก..เอาไงก็ได้!