รัฐบาลเดินหน้านำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยสู่การเป็น Pride Friendly Destination ผลักดันสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ของบุคคลทุกเพศ ให้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพื่อต่อยอดให้ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride 2030
18 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายในงานเลี้ยงรับรองเพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม เนื่องในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ผ่านวุฒิสภา
โดยในงานฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ต้อนรับขบวนสมรสเท่าเทียมซึ่งเดินทางจากรัฐสภามาถึงทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งคณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้ก่อตั้งและคณะทำงานบางกอกไพรด์ ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงสังคม ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายพันธมิตรสีรุ้ง และสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างคับคั่ง
สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความสนุกสนาน รื่นเริง มีการจัดงานเป็นถนนสายรุ้งแห่งความเท่าเทียม และมีกิจกรรมมากมาย ทั้ง workshop ระบายสีแห่งความเท่าเทียม ตู้ Sticker และ Photo Booth จำลองใบสำคัญการสมรส ซุ้มดอกไม้ จุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม พร้อมของที่ระลึก (เข็มกลัดสมรสเท่าเทียม Love wins) สายสะพาย สะท้อนถึงชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ และความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ. นี้ อย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีพูดเสมอว่า ในฐานะประชาชนก็มีความเชื่อมั่นถึงความเท่าเทียมในสังคม และต้องการผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในประเทศและเป็นภาพลักษณ์ที่งดงามของไทยในเวทีโลก
นายกรัฐมนตรีตระหนักดีถึงความรักในทุกรูปแบบ และเข้าใจดีถึงการรอคอยของพี่น้อง LGBTQIAN+ การรวมพลังกันต่อสู้มาอย่างอดทน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นอีกวันที่คนไทยได้เฉลิมฉลองไปด้วยกัน และแสดงความยินดีให้กับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย และยืนยันที่จะเดินด้วยกันเพื่อผลักดันกฎหมายและข้อเรียกร้องอื่นๆ
ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า รัฐบาลจัดงานฉลองในวันนี้ ให้กับความสำเร็จที่กฎหมายเท่าเทียมผ่าน ฉลองให้กับความรักที่เท่าเทียม “ความหลากหลาย” ไม่ใช่ “ความแตกต่าง”
โดยในโอกาสนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กล่าวยินดีที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ขอขอบคุณวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม พี่น้องประชาชนทุกคน
จากนี้ไปพี่น้องชาวหลากหลายทางเพศจะสามารถสมรส เป็นครอบครัว มีสิทธิการจัดการทรัพย์สินสมรส การจัดการทางอาญา มรดก การยินยอมให้รักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐในฐานะคู่สมรสทั้งประกันสังคม การกู้ร่วมในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้
วันนี้ รัฐบาลยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนความเท่าเทียม ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และที่ 3 ในเอเชีย ที่สามารถแต่งงานภายใต้ความหลากหลายได้ พร้อมขอยืนยันว่าไทยเราเดินหน้าโดยไม่ทิ้งใคร ไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง ขอเชิญชวนทุกคนเดินทางมาประเทศไทย
ทั้งนี้ นายชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลขอให้คำมั่น จะเดินหน้านำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยสู่การเป็น Pride Friendly Destination ผลักดันสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ของบุคคลทุกเพศ ให้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม สนับสนุนทุกกิจกรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2030 ไทยจะขอรับการสนับสนุนเป็นเจ้าภาพงาน World Pride 2030 และรัฐบาลจะดำเนินการด้านที่เกี่ยวข้อง โดยยังมีกฎหมาย และกิจกรรมที่พร้อมจะผลักดัน เพื่อการที่จะสนับสนุนพี่น้องชาวLGBTQIAN+ ทุกคน